สะพานแห่งกาลเวลา : คน(ที่มี)หัวใจหมู โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-University of Maryland School of Medicine)

สะพานแห่งกาลเวลา : คน(ที่มี)หัวใจหมู โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ใครที่เคยติดตามพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นประจำ คงจำกันได้ว่า เมื่อราวเดือนตุลาคมปีที่แล้วมีการทดลองสำคัญเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยทีมแพทย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (เอ็นวายยู) สหรัฐอเมริกา ทดลองปลูกถ่ายไต “หมู” ให้กับผู้ป่วยสตรีที่อยู่ในภาวะ “สมองตาย” รายหนึ่ง

ทีมแพทย์สามารถเฝ้าดูพัฒนาการของอวัยวะปลูกถ่ายครั้งนั้นเพียง 54 ชั่วโมง แต่ผลที่ได้ถือว่าเป็นไปในทางบวก เนื่องจากไม่มีสัญญาณแสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธไตหมูจากผู้ป่วยรายนั้นเลย

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา สำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ก็ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการผ่าตัดปลูกถ่าย “หัวใจหมู” ให้กับมนุษย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “มนุษย์(ที่มี)หัวใจหมู” อยู่ในตัวเป็นคนแรกของโลกนี้ ชื่อ เดวิด เบนเนตต์ อายุ 57 ปี ป่วยหนักด้วยโรคหัวใจถึงขนาดไม่สามารถประคองชีวิตเพื่อรออวัยวะบริจาคได้อีกแล้ว

Advertisement

เบนเนตต์ยอมรับความเสี่ยงครั้งนี้ เพราะไม่เสี่ยงก็เชื่อว่าไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกได้นาน

เขาเสี่ยงและนับเนื่องจนถึงตอนนี้ก็ยังถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ความสำเร็จที่ว่านี้เชื่อมโยงกับการปลูกถ่ายไตหมูให้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกเมื่อหลายเดือนก่อนในหลายๆ ทาง

Advertisement

แรกสุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะทั้งสองครั้ง เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “การปลูกถ่ายซีโน”(xenotransplantation) เหมือนกัน

อวัยวะที่ใช้เป็นอวัยวะของหมูเหมือนกัน และที่สำคัญก็คือ เป็นหมูที่ผ่านการเพาะเลี้ยงและดัดแปลงพันธุกรรม มาจากบริษัทเดียวกันนั่นคือบริษัท รีไววิคอร์ อันเป็นกิจการเทคโนโลยีชีวภาพในเครือบริษัท ยูไนเต็ด เธราพิวติคส์ คอร์ป. ของสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน

หัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จในครั้งนี้ อยู่ที่หัวใจหมูที่นำมาปลูกถ่าย เป็นหัวใจของหมูที่รีไววิคอร์จัดการปรับแต่งยีนส์เสียใหม่ถึง 10 ตัว

ยีนส์ 4 ตัวของหมูที่เพาะเลี้ยงเป็นพิเศษตัวนี้ ถูกปรับแต่งให้ “ไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้”

ตัวอย่างเช่นยีนส์ตัวหนึ่งซึ่งหากทำหน้าที่ตามปกติแล้ว ก็จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ให้ต่อต้านอย่างรุนแรง ก็ถูกใช้เทคนิคทาง
พันธุวิศวกรรมระงับการทำหน้าที่ไป

อีกตัวหนึ่งซึ่งหากปล่อยไปตามธรรมชาติของหมูแล้ว หัวใจหมูที่ปลูกถ่ายไว้ในคนจะโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ถูกระงับการทำหน้าที่ไปเช่นกัน

ไม่เพียงต้องปรับแต่งยีนส์หมูถึง 10 ตัว ทีมวิจัยของรีไววิคอร์ยังต้องสอดใส่ยีนส์ของมนุษย์ให้กับพันธุกรรมของหมูพิเศษตัวนี้อีก 6 ยีนส์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ร่างกายมนุษย์ยอมรับอวัยวะใหม่นี้ให้ได้มากขึ้น

ส่วนตัวเบนเนตต์เอง ก็ต้องเข้ารับการรักษาเพื่อกดภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับต่ำ

การผ่าตัดทำกันในวันที่ 7 มกราคม 4 วันให้หลังมีการแถลงถึงความสำเร็จในครั้งนี้ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่พบว่าจะมีการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายครั้งนี้แต่อย่างใด

รายงานของนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า เบนเนตต์รับมือกับหัวใจดวงใหม่ได้ดี แต่ยังไม่มีการถอดอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดออกจากตัวของผู้ป่วยรายนี้

แต่ทีมแพทย์ของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ระบุว่า หัวใจของหมูที่ปลูกถ่ายเข้าไปทำหน้าที่ส่วนใหญ่แทนเครื่องจักรแล้ว และตัวหัวใจเองยังคงดู “ปกติ” ดีอยู่

นักวิชาการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทีมแพทย์ที่ผ่าตัดให้เบนเนตต์ รวมทั้ง โจอาคิม เดนเนอร์ จากมหาวิทยาลัยฟรีแห่งเบอร์ลิน ชี้ว่า วันแรกๆ ของการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ มีนัยสำคัญมากต่อการปฏิเสธหรือยอมรับอวัยวะนั้นๆ ของร่างกายใครคนใดคนหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมีการปฏิเสธโดยระบบภูมิคุ้มกันซึ่งอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือไม่ก็นานกว่านั้น กว่าจะแสดงออกมาให้เห็นได้

ความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับเบนเนตต์ จึงต้องรอดูกันไปอีกไม่น้อยถึงจะเรียกได้ว่าสำเร็จโดยสมบูรณ์

แอนโธนี วอร์เรน จากมหาวิทยาลัยควีนแมรี ในกรุงลอนดอน เห็นด้วย และชี้ว่า ถึงแม้ครั้งนี้จะได้ผล แต่กว่าวิธีการนี้จะผ่านการทดสอบจนสามารถใช้กับคนทั่วไปได้ก็คงต้องรออีกหลายปีไม่น้อย

แต่ไม่ใช่ว่า ความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจหมูให้เบนเนตต์ ไม่ได้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ตรงกันข้าม เดนเนอร์บอกว่า ถือเป็นการก้าวรุดหน้าก้าวใหญ่ในแวดวงการปลูกถ่ายอวัยวะ

เปรียบได้เหมือนกับก้าวแรกของมนุษย์ที่เหยียบลงไปบนดวงจันทร์ ยังไงยังงั้นเลยทีเดียวครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image