จุดต่าง ความคิด กรณี คน ‘เดือนตุลาคม’ การเมือง ปัจจุบัน

คอลัมน์หน้า 3 : จุดต่าง ความคิด กรณี คน ‘เดือนตุลาคม’ การเมือง ปัจจุบัน

คอลัมน์หน้า 3 : จุดต่าง ความคิด กรณี คน ‘เดือนตุลาคม’ การเมือง ปัจจุบัน

ช่องว่างระหว่าง “วัย” อันเป็นปมร้อนในทาง “ความคิด” ที่มีการยกขึ้นมาเป็นประเด็นตั้งแต่ยุคของ ดร.วิบูลย์ ธรรมวิทย์ กับยุคของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

มีอัตรา “เร่ง” ในความ “ต่าง” เป็นอย่างสูง

ใครที่รับรู้วิวาทะจากถ้อยปรารภของ “เด็กวัย 14” ที่เสนอหารือเรื่องสถานที่เรียนในต่างประเทศผ่านช่องทางของ “พันทิป”

ย่อมประจักษ์ในความร้อนแรง

Advertisement

เป็นความร้อนแรงจาก “ผู้ใหญ่” คนหนึ่ง ซึ่งยิ่งโพสต์ “ข้อความ” ยิ่งประจานในความคับแคบและตกยุคของตน

นั่นแหละ คือ “ช่องว่าง” นั่นแหละคือ “ความต่าง”

ตัวอย่างของ “ช่องว่าง” อย่าคิดว่าจะเป็นเรื่องในระหว่าง “วัย” หากแม้กระทั่งคนในวัยใกล้เคียงกัน แต่เมื่อมองคนละ “มุม” ก็ประจักษ์ในความเห็น “ต่าง”

ดูแต่คนในยุค “เดือนตุลาคม” นั่นปะไร

หากมองเข้าไปใน “รายละเอียด” ของการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนตุลาคม 2516 อย่างสัมผัสกับความเป็นจริงที่จริงแท้โดยครบถ้วน

ก็จะรับรู้ต่อ “จุดต่าง” ตลอด 2 รายทาง

เป็นรายทางตั้งแต่การเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กระทั่งไปถึงการไปอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

คิดหรือว่ามีคนเห็นด้วยกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อย่างเป็นเอกภาพ

อย่างน้อยกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (จำนวนหนึ่ง) ที่ไปตั้งเวทีอยู่ในสวนสัตว์ดุสิต

ก็จวกแหลกออกมาจาก “เขาดิน”

อย่าได้แปลกใจหากเมื่อจบสิ้นสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 จึงได้เกิดสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทยขึ้น

แยกตัวออกมาจาก “ศนท.”

ถามว่าเบื้องหน้าสถานการณ์การเมืองนับแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 กระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 บทสรุปทางการเมืองเป็นอย่างไร

“ธีรยุทธ“ กับ “เสรสรรค์” เป็น “เอกภาพ” กันหรือไม่

ภายในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มี “คนเดือนตุลา” ภายในมวลมหาประชาชน กปปส.ก็มี “คนเดือนตุลา”

ภายใน “นปช.” ก็มี “คนเดือนตุลา” ไม่ต่างกัน

ลักษณะของ “แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” ในทางความคิด ในทางการเมือง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่รับรู้ได้

โยงยาวไปแม้กระทั่งใน “คณะราษฎร”

กระบวนการเกิดขึ้นและจัดแถวของพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จึงเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาแห่ง “ความคิด” ธรรมดาแห่ง “การเมือง”

หากไม่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พรรคไทยรักไทยก็คงไม่เกิดขึ้น หากไม่มีรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 พรรคอนาคตใหม่ก็คงไม่เกิดขึ้น

นี่คือภารกิจในทาง “ประวัติศาสตร์”

เช่นเดียวกับเมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทยก็เกิดพรรคพลังประชาชน เมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนก็เกิดพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกับเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เกิดพรรคก้าวไกล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image