เตาเผาขยะ

เตาเผาขยะ

เตาเผาขยะ

ตอนที่แล้วเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะและได้เปรียบเทียบกับเตาเผาขยะ สองระบบที่ดูเหมือนคล้ายกันแต่มีวัตถุประสงค์และขอบเขตของงานแตกต่างกัน รวมทั้งได้ให้ความเห็นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงการที่จะเลือกเอาระบบใดไปสนับสนุนการจัดการขยะของท้องถิ่นก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อให้การลงทุนไม่ว่าจะโดยงบประมาณของรัฐ/ท้องถิ่นหรือโดยเอกชนคุ้มค่า และได้ระบบที่มีประสิทธิภาพครบถ้วนสอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่น

ตอนที่แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะพอสมควร บทความตอนนี้จึงขอเป็นการขยายความและนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเตาเผาขยะ

เตาเผาขยะ มีหลายประเภทแยกตามลักษณะของการเผา ได้แก่ เตาเผาประเภทแรก ใช้อากาศหรือออกซิเจนช่วยในการเผา กับประเภทที่สอง เป็นการเผาที่ใช้อากาศหรือออกซิเจนน้อยหรือไม่ใช้เลย ประเภทแรกนี้มีความสามารถในการเผาขยะปริมาณมากๆ บ้างก็เรียกเตาเผาประเภทนี้ว่า Mass burn ซึ่งยังแยกย่อยออกไปอีกหลายแบบขึ้นกับกลไกเครื่องจักร หรือระบบการทำงานโดยเฉพาะระบบลำเลียงขยะเข้าเตาเผา เช่น แบบตะกรับหรือ stoker ทำงานคล้ายๆ สายพานลำเลียง แบบอุโมงค์เอียงหรือ Rotary Kiln เป็นถังกลมยาวมีความเอียงเมื่อหมุน ขยะจะเคลื่อนไปสู่จุดเผาไหม้แบบฟลูอิดไดซ์ หรือ Fluidized bed ที่ใช้ทรายหรือตัวกลางที่ร้อนไปสัมผัสขยะจนเกิดการลุกไหม้ ส่วนประเภทที่สองที่ใช้อากาศในการเผาไหม้น้อยหรือไม่ใช้เลย เป็นการเผาเพื่อให้เกิดก๊าซเชื้อเพลิง แล้วนำไปใช้ในการผลิตพลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้า

Advertisement

เมื่อวัตถุประสงค์หรือความต้องการของท้องถิ่นกำหนดไว้ที่ประสิทธิภาพในการกำจัดขยะเป็นสำคัญ และสภาพของขยะก็คือขยะที่ปนเปไม่ได้ถูกแยกจากต้นทาง มีทั้งเศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ ถุงพลาสติก ขวดแก้ว อิฐหิน เป็นต้น จะพบว่ามีผลการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการกำจัดขยะด้วยหลากหลายวิธีรวมทั้งการเผาหรือเทคโนโลยีในการเผาหลากหลายประเภท แต่สุดท้ายเตาเผาประเภทตะกรับหรือ Stoker จะเป็นตัวเลือกที่อยู่ในลำดับต้นๆ เสมอ ด้วยเหตุผลของความคงทน รองรับขยะที่มีความหลากหลายรวมทั้งขยะที่มีความชื้นสูง ต้นทุนการเดินระบบไม่สูงจนเกินไป ด้วยเหตุนี้เตาเผาประเภทนี้จึงเป็นที่แพร่หลายใช้ในการกำจัดขยะมากที่สุดทั่วโลก

แล้วเตาเผาขยะดีกว่าฝังกลบอย่างไร? คำตอบสำหรับคำถามนี้เหมือนเป็นการเล่าพัฒนาการในการกำจัดขยะเลย แรกเริ่มเดิมทีการกำจัดขยะของเมืองก็คือการขนขยะไปทิ้งนอกเมือง หาที่โล่งๆ ห่างไกลชุมชนเป็นที่เทกอง ชาวบ้านเรียกว่า “หัวกองขยะ” กรุงเทพฯในอดีตก็มีหัวกองอยู่ที่แยกดินแดง อ่อนนุช และที่สวนจตุจักรในปัจจุบัน ต่อมาก็พัฒนาให้ถูกสุขอนามัยมากขึ้น จากเทกองปรับเป็นการขุดหลุมแล้วกลบเพื่อไม่ให้เกิดแมลงวัน ป้องกันกลิ่น เป็นที่มาของระบบฝังกลบที่ต้องการป้องกันผลกระทบ ซึ่งต่อมาเราเรียกว่าการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) แต่การฝังกลบแบบนี้ต้องใช้พื้นที่มาก เมื่อเมืองขยาย ขยะมากก็ต้องใช้ที่ดินมาก การจัดการขยะจึงมีพัฒนาการ เกิดการจัดการต้นทางเพื่อลดปริมาณขยะและนำขยะบางส่วนไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ย ต่อมาจึงเกิดการเผาเพื่อให้ปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบเหลือน้อยลงพร้อมกับการพัฒนาระบบป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ดังนั้น โดยหลักการแล้ว การเผาก็คือการลดปริมาณขยะเพื่อให้เหลือน้อยที่สุดก่อนจะนำไปฝังกลบ เพราะเผาแล้วจะเหลือแต่เถ้ากับวัสดุที่ไม่เผาไหม้ และเพื่อไม่ให้ความร้อนจากการเผาสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ เตาเผาขยะได้รับการพัฒนาต่อเนื่องด้วยการนำเอาความร้อนจากการเผามาใช้ประโยชน์ เริ่มจากการใช้ความร้อนโดยตรงจากการเผาไปทำความร้อนหรือความอบอุ่นให้กับบ้านเรือนในฤดูหนาว และการแปรความร้อนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) การใช้ประโยชน์จากความร้อนเช่นนี้ก็คือ Waste to Energy นั่นเอง

สำหรับคำตอบของคำถามที่เปรียบเทียบการฝังกลบกับเตาเผาขยะก็คือ “เตาเผาขยะเป็นพัฒนาการการกำจัดขยะ เป็นการลดปริมาณขยะก่อนจะถูกกำจัดในขั้นตอนสุดท้ายด้วยการฝังกลบ และเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ฝังกลบ และลดผลกระทบจากการฝังกลบ”

เมื่อเตาเผาขยะได้รับการพัฒนาจนสามารถแปรความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เรียกว่า Waste to Energy จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่หลายประเทศให้การสนับสนุน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเลือกใช้นโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะผ่านการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ด้วยอัตราพิเศษที่สูงกว่าพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ โดยในปี 2551 ได้กำหนดอัตราการรับซื้อพิเศษในช่วง 7 ปีแรกของการเดินระบบเพื่อให้การลงทุนมีจุดคุ้มทุน นโยบายดังกล่าวเรียกว่า Adders จนปัจจุบัน นโยบาย Adders ได้รับการปรับอัตรารับซื้อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นและใช้อัตราดังกล่าวรับซื้อตลอดอายุโครงการประมาณ 20 ปี ที่เรียกว่า Feed in Tariff

ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมด้วยอัตรารับซื้อในรูปแบบใด สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเตาเผาขยะหรือ Waste to Energy ก็คือการส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ท้องถิ่นให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดขยะ เป็นวัตถุประสงค์ที่รัฐกำหนดนโยบายส่งเสริม

ปริมาณพลังงานไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะ เป็นพลังงานที่ปรากฏในแผนพัฒนากำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า (Power Development Plan) จึงไม่ควรถูกแปลความเป็นปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกำหนดหรือ Quota ที่จะรับซื้อจนการพัฒนาโครงการต้องหยุดจนรัฐจะเปิดรับซื้อ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ปริมาณพลังงานไฟฟ้าจากกระบวนการกำจัดขยะในรูปแบบต่างๆ มีสัดส่วนเพียง 1-2% ของกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานไฟฟ้าของประเทศเท่านั้น ไม่มีนัยสำคัญต่อแผนการพัฒนากำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศแต่อย่างใด

การพัฒนาโครงการเตาเผาขยะของท้องถิ่นต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมายแทบทุกโครงการ ตั้งแต่การจัดหาพื้นที่ตั้งโครงการ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ การยอมรับของชุมชน การจัดหางบประมาณ การคัดเลือกเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม การเตรียมความพร้อมของท้องถิ่นที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการเทคโนโลยี หรือกระทั่งความพร้อมที่จะต้องกำกับดูแลการดำเนินงานของเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม

ดังนั้น เมื่อโครงการได้รับการพัฒนามีความพร้อมที่จะจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รัฐควรกำหนดให้รับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโครงการนั้นทันที และไม่ควรปล่อยให้ขั้นตอนการรับซื้อพลังงานไฟฟ้ากลายเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการพัฒนาโครงการการจัดการขยะของท้องถิ่น

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image