บทบาทรายใหญ่เพื่อรายย่อยในวงการหมู

ต้องยอมรับว่าโรค ASF เป็นโรคระบาดที่ผู้คนในแวดวงหมูทั่วโลกหวาดกลัว เลือดที่ปนเปื้อนเชื้อเพียงหยดเดียวสามารถทำลายล้างหมูได้ทั้งฟาร์มเพราะยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดภาวะการแพร่ระบาดของ ASF ในประเทศจีนเมื่อปี 2561 และเริ่มแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงส่งผลให้ภาคเอกชนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมหมูทุกราย รวมถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างตระหนักและกังวลถึงความรุนแรงของโรคดังกล่าว จึงมีความพยายามอย่างที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาสู่ประเทศไทย

คำว่าโรคระบาดก็คือการแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น การที่แต่ละบริษัทจะเร่งวางระบบป้องกันโรคในฟาร์มของตนและเกษตรกรของตนแล้วย่อมไม่เพียงพอ เพราะอุตสาหกรรมหมูยังมีเกษตรกรรายย่อยที่มีระบบป้องกันโรคไม่ดีนักกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกบริษัทและทุกๆ สมาคมจึงจับมือร่วมใจกันดำเนินการทุกทางเพื่อยับยั้งป้องกันในระดับภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่จะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศ เพราะทุกคนรู้ดีว่าหากปล่อยให้เชื้อย่างกรายเข้าสู่ไทยไม่ว่าทางใดก็ตาม มันก็คือหายนะของอุตสาหกรรมหมูทั้งสิ้น

ความร่วมมือของรายใหญ่ในระดับประเทศจึงเกิดขึ้นที่แถบชายแดน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่เชื้อโรคจากประเทศเพื่อนบ้านอาจเล็ดลอดเข้ามาได้ กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจึงได้ลงขันสร้างด่านทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อ 5 ด่านหลัก ยกระดับการป้องกัน ASF ใน 5 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ด่านหนองคาย ด่านมุกดาหาร ด่านสระแก้ว ด่านนครพนม และด่านเชียงราย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่เชื้ออาจติดมากับรถบรรทุกปศุสัตว์ ด่านทั้งหมดนำทีมลงขันโดยบริษัทใหญ่ อาทิ ซีพี เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ รวมถึงรายกลาง รายเล็ก ต่างก็ได้รวมเงินกันสร้างด่านในนามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติด้วย จากนั้นก็ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแล

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการลงขันตั้ง “กองทุนชดเชยและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF” มูลค่าราว 200 ล้าน ที่ นสพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อธิบายว่า เกิดขึ้นภายใต้หลักคิดคือ เมื่อเกิดการระบาดของโรครอบประเทศไทย ทำให้หมูของชาวบ้านที่อยู่ชายแดนใกล้เขตการระบาดของเพื่อนบ้านจะมีความเสี่ยงมาก หากปล่อยให้หมูชาวบ้านติดเชื้อ จะทำให้รายย่อยล่มสลายและฟื้นกลับมาใหม่ได้ยาก ดังนั้น การเข้าไปซื้อหมูชาวบ้านที่ยังไม่เป็นโรคในเขตเสี่ยง เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินสดเก็บไว้ หรือใช้ หนี้สินจะมีประโยชน์กว่า หากรอจนระบาดแล้วเชื้อจะอยู่ในพื้นที่อาจอยู่นานถึง 3-5 ปี ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาเช่น ในจีน และเวียดนาม เกษตรกรรายย่อยจะหมดไป
การป้องกันชาวบ้าน เท่ากับป้องกันประเทศด้วย

Advertisement

นอกจากความร่วมมือที่จะป้องกันเชื้อในระดับประเทศ ดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่เช่น ซีพีเอฟ ยังร่วมกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้ค้าเวชภัณฑ์ ฯลฯ ดำเนิน “โครงการถ่ายทอดความรู้ด้านการป้องกันโรคให้แก่เกษตรกรรายย่อย 50 จังหวัดทั่วประเทศ” โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมถึง 4,865 ราย ขณะเดียวกันก็ลงพื้นที่ถึงบ้านของเกษตรกรในรัศมี 5 กม. จากฟาร์มให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคในแต่ละพื้นที่ พร้อมแจกน้ำยาฆ่าเชื้อและอุปกรณ์ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตระหนักถึงความสำคัญและตื่นตัวกับโรคนี้ เป็นผลดีทั้งในด้านการให้ความรู้เพื่อช่วยกันป้องกันโรค ASF และสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่

กล่าวได้ว่า ความพยายามในการปกป้องเกษตรกรรายย่อยของภาคเอกชนรายใหญ่และรายเล็กที่รวมตัวกันในนามสมาคมต่างๆ มันคือความเสียสละและทุ่มเทอย่างหนักเพื่อช่วยรายย่อยเต็มกำลัง โดยไม่ได้รบกวนงบประมาณของรัฐ ซึ่งผลของมันก็ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้สามารถเลี้ยงหมูให้รอดพ้นจากภาวะโรค ส่งผลให้มีผลผลิตหมูป้อนสู่ตลาดในช่วงนี้ และพอมีรายได้ชดเชยจากที่เคยประสบภาวะขาดทุนมาตลอด 3 ปี

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าคนในวงการหมูไม่ได้ทิ้งกัน ไม่ได้ฉวยโอกาสกัน แต่กลับช่วยเหลือเกื้อกูลกันบนความเสี่ยงที่ทุกคนเผชิญร่วมกัน หลังจากนี้จะได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นวิกฤตของทุกคนอีกครั้ง เพื่อนำอาชีพคืนสู่รายย่อยที่หายไป เพื่อผลผลิตหมูที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เป็นความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศต่อไป

Advertisement

สมคิด เรืองณรงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image