ปฏิรูปหลักสูตร… ต้องฟัง 2 ครูของครู (3)

ตอนที่แล้วผมเสนอว่าความสำเร็จของการเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเน้นสาระความรู้เป็นหลัก มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะซึ่งเน้นสร้างทักษะและเจตคติจะเป็นจริงได้ นอกจากตัวหลักสูตรแล้วยังขึ้นอยู่กับอีกสองปัจจัย ต้องดำเนินการอย่างจริงจังควบคู่กันไป

นั่นคือ การพัฒนาครู ทั้งครูเดิมและครูใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพครู ต้องปรับตัว ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน กับการขับเคลื่อนผลักดันการเปลี่ยนหลักสูตรแบบมีส่วนร่วม

การมีส่วนร่วมไม่เฉพาะแค่ครู ผู้บริหาร ศึกษา
นิเทศก์และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ทุกกลุ่มเท่านั้น แต่รวมไปถึงนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง พี่น้อง ประชาชน ผู้คนทั้งสังคม จะต้องมีส่วนร่วมอย่างน้อยสุดร่วมรับรู้ เข้าใจตรงกันและตระหนักว่าสังคมการศึกษาไทยกำลังปรับตัวอีกครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้ผมได้ฟังมุมมองของนักการศึกษาผู้มีความรู้และประสบการณ์ 2 ท่าน จะเรียกว่าเป็นครูของครูก็ได้ ให้ความเห็นต่อการปรับหลักสูตรการศึกษาอย่างน่าสนใจ

Advertisement

ท่านแรก รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สะท้อนความคิดในการประชุมเห็นชอบกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ว่า “ปัจจุบันความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมหาศาล มีเครื่องมือสมัยใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น หลักสูตรใหม่จะต้องทำให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเองโดยครูไม่ต้องเป็นผู้ถ่ายทอดเช่นเดียวกับในอดีต”

“นอกจากนั้นเด็กจะต้องมองสังคมอย่างรอบด้าน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจะต้องมีความฉลาดทางด้านดิจิทัล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วย การเป็นพลเมืองดิจิทัลจะต้องมีความฉลาดทางด้านดิจิทัลที่จะทำให้ตระหนักรับรู้เรื่องของสังคม”

“ดังนั้น จะต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนมากกว่าตัวหลักสูตรที่มีเนื้อหาเป็นจำนวนมาก จะต้องให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองในสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก จึงไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดที่เน้นตัวสาระ หรือเน้นคุณลักษณะต่างๆ โดยไม่แก้ที่กระบวนการต่างๆ เช่น การวัดประเมินผลการเรียนการสอน เป็นต้น”

Advertisement

ครูยืนตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนของครูโดยตรงทีเดียว

ครูของครูอีกท่านหนึ่ง รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ผู้คนในวงการศึกษารู้จักกันในนาม ครูเพาะพันธุ์ปัญญา

ครูเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการพัฒนาร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ สะท้อนความคิดถึงผ่านแอพพ์ไลน์มาอย่างคุ้นเคย ผมเลยได้จังหวะ ขออนุญาตเผยแพร่ต่อ

ครูบอกว่า “ตอนนี้เห็นแต่เร่งทำหลักสูตร แต่ไม่เห็นการพัฒนาครูเลย ผมว่านอกจากมีหลักสูตรเพื่อให้ไปถึงการสอนและการประเมินแล้ว เราต้องคิดถึงการพัฒนาครูด้วย”

“เอกสารหลักสูตรดีมาทุกยุค แต่การศึกษาล้มเหลวที่การพัฒนาครูและการประเมิน ฉะนั้น อยู่ที่กระบวนการของครูมากกว่าเนื้อหลักสูตร เหมือนมีตำรากับข้าวชาววัง แต่ไม่มีแม่ครัวฝีมือดี ก็ไม่ได้กินของอร่อย” ครูเปรียบเทียบ และว่า “สมรรถนะเกิดจากการปฏิบัติ เขียนหลักสูตรให้มีปฏิบัติ แต่ไม่ฝึกครูมันก็ไม่สำเร็จครับ”

“ถ้าการเมืองเปลี่ยนอีกไม่นานหลักสูตรก็อาจจะไม่แน่ สงสัยว่ารัฐบาลเปลี่ยนก่อนหลักสูตรเสร็จและประกาศใช้ แต่ถ้าเราเอาใจใส่พัฒนาครูตามที่ผมเสนอ ทำให้สอนแล้วเกิดสมรรถนะได้ง่ายกว่า”

ก่ อนเชิญชวนให้ทุกท่านเปิดดูคลิป EP 1 ถึง 9 “ถ้าอยากรู้ทางลัด วิธีการสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะ”
Session 1 https://youtu.be/utrCWkiRbt4 – หลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นปฏิบัติ

Session 2 https://youtu.be/Xk_dDapGRZ4 – สมรรถนะเกิดได้อย่างไร?

Session 3 https://youtu.be/0EfICM-YWng – เข้าใจ เกิดได้อย่างไร? ทางลัด คือ ปฏิรูปวิชาโครงงาน

Session 4 https://youtu.be/qHAbrwq_6T4 – Mindset ของการเรียนปฏิบัติ ชี้ปัญหาการสอนโครงงาน

Session 5 https://youtu.be/mUu7uc3HImE – โครงงานในระบบคิด “ผลเกิดจากเหตุ” : RBL

Session 6 https://youtu.be/FZgFwBhqN_M – Transformative Learning : การศึกษาที่เปลี่ยนโลกภายใน

Session 7 https://youtu.be/n5TKuOPfEAs – Reflective coaching for TL : หน้าที่สำคัญของครู

Session 8 https://youtu.be/Wd7bzRgxRvs – บทบาทหน้าที่ครูในการสอนปฏิบัติให้ได้สมรรถนะ

Session 9 https://youtu.be/8X1FxEbVeSI – ข้อเสนอแนะจากการค้นพบของเพาะพันธุ์ปัญญา

“ถ้ารัฐบาลมีปัญหา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่ผ่าน เราต้องหันมาเน้นการใช้ ม.24 ของ พ.ร.บ.การศึกษา 2542 แทน สำเร็จได้เมื่อเราพัฒนาครูและการประเมินโครงงานโดยดูที่สมรรถนะเด็ก”

มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้อง (1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา

“ทำตามนี้ได้ก็เกิดสมรรถนะแน่ จึงต้องปฏิรูปวิชาโครงงานและเร่งพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้ช่วยครู”

ข้อเสนอของครูสุธีระจะเป็นจริงหรือไม่ แค่ไหน คำถามมีว่า กระทรวงศึกษาธิการและกรรมการยกร่างหลักสูตรใหม่ ทำอะไร อย่างไร กับการพัฒนาครูและการทำให้หลักสูตรฐานสมรรถนะเกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

คำตอบต้องว่ากันต่อพฤหัสฯหน้าอีกแล้วละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image