การผลิต‘หมอครอบครัว’ในทศวรรษหน้า

สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตแพทย์ไปให้บริการระดับปฐมภูมิ เพื่อตอบสนองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุขบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 และนโยบายรัฐบาล พ.ศ.2564 จึงจัดสัมมนาวิชาการผลิตบัณฑิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี

การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติปาฐกถาพิเศษโดย ท่านศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เรื่อง ทิศทางการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในทศวรรษหน้าของประเทศไทย และการอภิปรายเรื่อง ทิศทางแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในระบบสุขภาพปฐมภูมิจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคำบรรยายของ ท่านศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ จึงถอดหัวใจสำคัญมาแบ่งปันเพื่อนผู้อ่าน

สถาบันพระบรมราชชนกมีฐานที่ดีในการจัดการศึกษา คือมีวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข วิทยาลัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนั้น การออกแบบด้านโครงสร้างทางวิชาการและการศึกษาตามรัฐธรรมนูญจึงสามารถกระทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ วิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบันมี 3 ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนจะเกี่ยวเนื่องต่อกัน แบ่งได้เป็น 4 ช่วงคือ ช่วงแรกเป็นการแพทย์สมัยโบราณ (Primitive medicine) เชื่อว่ารูปแบบที่เป็นไปของชีวิตและเกิดจากการดลบันดาลจากสิ่งที่ไม่รู้ ระยะต่อมาเป็นการแพทย์จากการถ่ายทอดประสบการณ์ (Traditional medicine) เป็นการแพทย์ที่เกิดจากประสบการณ์ลองผิดลองถูก ระยะที่ 3 การแพทย์ยุควิทยาศาสตร์ (Science-based medicine) ซึ่งถือเป็น Modern medicine โดยเริ่มในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างโรงเรียนผลิตแพทย์แห่งแรก รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เน้นศาสตร์การแพทย์ตะวันตก และการแพทย์ยุคปัจจุบัน คือการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยี (Technology-based medicine) เป็นการแพทย์ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก

ดังนั้น การดูแลผู้ป่วย แพทย์จะต้องรู้ใน 3 เรื่องคือ Know-how, Spiritual-how และ Financial-how

Advertisement

สำหรับหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะต้องรู้ทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ 1) ประวัติศาสตร์ 2) วัฒนธรรม 3) วิถีชีวิตของผู้คน เพื่อเข้าใจถึงรากเหง้าและวัฒนธรรมของสังคม จึงจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีที่สุด โดยพบว่าลักษณะร่วมของคนไทย ได้แก่ 1) สังคมชาวบ้านที่มีความเป็นชุมชนสูง 2) สถาบันหมู่บ้าน มีความแข็งแกร่งมาก 3) จิตใจอันดีงามของผู้คน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจ ความรักในสันติและความรื่นเริง กระตือรือร้น 4) ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง พึ่งตนเองในครอบครัวและชุมชน ในสังคมชนบท เพื่อนบ้าน/ชุมชนจะดูแลกัน ซึ่งคนไทยดั้งเดิมจะดูแลกัน

จึงขอฝากว่าคนไทยต้องยึดมั่นความรักในครอบครัว ชุมชนต้องมีน้ำใจต่อกัน/อาณาจักรต้องมีความสามัคคี โดยนำความเป็นไทยมาถ่ายทอด และสอนให้ลูกศิษย์มีน้ำใจ มีเมตตา รัก/ห่วงใยกัน

โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

Advertisement

1.“เมืองบน” ตั้งแต่อำเภอเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นวิถีชีวิตคนเมือง

2.“เมืองลุ่ม” ตั้งแต่หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภออื่นๆ นอกอำเภอเมือง เป็นวิถีชีวิตคนชนบท โดยรู้สึกชื่นใจที่ สบช.จะสร้างคนไปอยู่เมืองลุ่ม ซึ่งต้องปลูกฝังให้มีศรัทธาและทำงานอย่างมีความสุขกับชุมชนได้

ในปี ค.ศ.2020 ทั้งโลกเกิดโรคระบาด (COVID-19 Pandemic) เป็นเรื่องระดับ Population Health ทำให้ต้องมีการออกแบบการดูแลรักษาใหม่ และศาสตร์ด้านระบาดวิทยาเป็นที่สนใจมากขึ้น โดย COVID-19 Pandemic ส่งผลทั้งในด้านบวกและลบ ดังนี้

1) Negative sides : The Great Lockdown, Slow-down, Lock-down, Disruption

2) Positive sides : Adjustment, Innovation, New normal

รวมถึงในช่วง Lock-down มีผลให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางลบมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายลดลง ดื่มสุรามากขึ้น กินอาหารมากขึ้น เครียด/ซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ผิดนัดหมอเพิ่มขึ้น เป็นต้น

นอกจาก COVID-19 Pandemic แล้ว ในปี ค.ศ.2020 ยังมีโรคระบาดซ้อนคือ Info-demic (โรคข่าวสารบิดเบือน) ซึ่งมี 2 ลักษณะ ได้แก่ Mis-information (บิดเบือนข่าวสาร) และ Dis-information (สร้างความเข้าใจผิด) ซึ่งเราต้องหาวิธีการเพื่อต่อต้านการบิดเบือนและโกหก โดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชน อาจารย์และนักศึกษา

The Great Reset ในปี ค.ศ.2021 แสดงตามวงจร ดังนี้

การจัดการศึกษาแพทย์ปฐมภูมิต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน หลากวิชา/หลายปัญญาและหลายรุ่น/หลายชั่วคน ทั้งนี้ สถาบันพระบรมราชชนกจึงต้องเริ่มจากการตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะสร้างคุณค่าอะไร (Values) แล้วระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้อง (Ideas) ก่อนการสร้างกิจกรรม (Actions) ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความมั่นคง (Precision) ที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ความมั่นคง/ปลอดภัยด้านอาหาร และความมั่นคงด้านสุขภาพ/การรักษาพยาบาล ตามสิ่งสำคัญในการรักษาของแพทย์ โดย Hippocrates กล่าวไว้ว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกในการประกอบวิชาชีพก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไข้หายดี และหากมีวิธีทำให้เขาหายดีหลายวิธี ขอให้เลือกวิธีที่ทำให้คนไข้เดือดร้อนน้อยที่สุด”

ประเด็นที่น่าสนใจคือ นโยบายด้านสุขภาพของจีน ปี ค.ศ.2030 (Healthy China 2030) ที่มีความเชื่อว่าถ้าคนสุขภาพดี ประเทศก็พัฒนา ประกอบด้วย

1.Health in all policies ทุกนโยบายของชาติต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ

2.My health under my control สุขภาพเกิดจากการควบคุมตนเอง จึงต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน

3.Health as growth motor of economy สุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จรรยาบรรณของแพทย์ทุกชาติ (โดยแพทย์จีน จรัส ตั้งอร่ามวงศ์) ได้แก่ 1) มีจิตใจเมตตากรุณาช่วยเหลือชาวโลก 2) บริสุทธิ์ใจ ไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน 3) มีความตั้งใจจริง รับผิดชอบ ค้นคว้าศึกษาอยู่เสมอ 4) อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพในเพื่อนร่วมวิชาชีพ

ใ นปัจจุบันงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Health Care) มีความสำคัญมาก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องเรียนรู้ทั้งเรื่องครอบครัวและสังคมไทย และมีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางานต่อไป โดยสถาบันพระบรมราชชนกสามารถมีส่วนช่วยในเรื่องการวิจัย ทางเลือก/ช่องทางในการผลิตแพทย์และทีมสุขภาพ ซึ่งถ้าเรารู้บริบทจะทำให้ผลิตแพทย์และทีมสุขภาพได้ดีขึ้น โดยครอบคลุมทั้งระบบการดูแลสุขภาพครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และวัด

นักศึกษาในยุคปัจจุบันเป็นคนใน Generation Z (เกิดหลังปี ค.ศ.2020) ซึ่งมีความเป็นตัวตนสูง เก่งเทคโนโลยี ห่างไกลญาติมิตร ไร้ศาสนา ไม่เข้าใจประเพณี มีความเป็นสากลสูง แยกตัว มีปัญหาการเข้าสังคม ไม่สู้งานหนัก เพราะฉะนั้น สบช.ต้องหาวิธีจัดการศึกษาและเข้าถึงเด็กรุ่นนี้ต่อไป

สถาบันพระบรมราชชนกจะต้องสู้ มีความเชื่อมั่นต่อการผกผันในยุคปัจจุบัน และมุ่งมั่นที่จะสร้างหมอให้กับชาวบ้าน ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ ใช้เวลาสร้างคนเพื่อตอบโจทย์ให้แผ่นดินต่อไป

ปาฐกถาพิเศษครั้งนี้นับว่า “ทรงคุณค่า” อย่างมากต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยในเรื่อง “หมอครอบครัว” ที่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม เพื่อให้ผลิตหมอที่เข้าถึงเข้าใจคนใน “สังคมไทย” โดยเฉพาะ สบช.ผู้ผลิตและสร้างบุคลากรที่จะมาช่วยดูแลคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image