โคทม อารียา : สงคราม (ในยูเครนหรือที่อื่น) ไม่ใช่คำตอบ

สงครามในยูเครนได้ดำเนินมาร่วมสัปดาห์แล้ว และได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ของผู้คนโดยเฉพาะในยูเครน แต่ก็มีผู้คนในรัสเซียที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น ทหารที่เสียชีวิต เงินตราที่ลดมูลค่าการแลกเปลี่ยน ฯลฯ

มีเรื่องหนึ่งที่อาจไม่เหมาะสมนักในการเปรียบเทียบ แต่ก็อดคิดถึงไม่ได้ เวลาที่ลูก ๆ ทะเลาะลงไม้ลงมือกัน พ่อแม่มักเรียกมาไต่สวนว่า “ใครเริ่มก่อน” ลูกทั้งสองที่ทะเลาะกันจะอ้างเรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้และวันก่อน ๆ พ่อแม่มักไม่ใส่ใจเรื่องในวันก่อน ๆ จะมุ่งลงโทษลูกคนที่เริ่มก่อนในวันนี้ แล้วลูกคนที่ถูกลงโทษจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะอีกฝ่ายเริ่มก่อนเมื่อวันก่อนไงล่ะ การหาความถูกผิดกับลูกในวันนี้ อาจปลูกฝังเชื้อความขุ่นเคืองไว้ เผื่อเอาคืนในวันหลัง จึงไม่ใช่คำตอบเสียทีเดียว

ขณะที่เขียนบทความนี้ สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติกำลังประชุมกันเพื่อหา “คำตอบ” ต่อสงครามในยูเครน ถ้าคำตอบมาจากคำถามว่า “ใครเริ่มก่อน” ในวันนี้ สมัชชาใหญ่ฯอาจประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งย่อมใช่อยู่แล้วว่ารัสเซียเป็นฝ่ายรุกรานและควรยุติการรุกรานเสีย แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ยูเครนและรัสเซียจะยอมร่วมมือกันเพื่อยุติความขัดแย้งได้หรือไม่ อันที่จริง ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความรุนแรงซิ สงครามซิ ต้องหลีกเลี่ยงให้ได้ เพราะมันไม่ใช่คำตอบ ไม่ได้แก้ปัญหาถึงรากเหง้าแห่งความขัดแย้ง

ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกถ้อยแถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นสูงสุด ใช้การหารือผ่านทุกช่องทางรวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทยแสดงท่าทีว่า ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ สำหรับสถานการณ์ในวันนี้ การไม่เลือกข้างเป็นเรื่องดีที่สุด และสนับสนุนการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลยูเครนและรัสเซียที่ชายแดนประเทศเบลารุซ โดยหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นของการยุติสงคราม ไทยต้องการให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว เพราะสงครามเริ่มส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน การค้าและการลงทุน ฯลฯ และส่งผลกระทบต่อทุกประเทศที่กำลังพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดี ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

Advertisement

ขณะที่เรื่องกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ทูตของมิตรประเทศจำนวน 25 ประเทศได้เข้าพบปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ไทยสนับสนุนญัตติที่ประณามรัสเซียว่าละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติโดยการรุกรานยูเครน ดังนั้น ไทยควรแสดงออกอย่างชัดเจน เพื่อธำรงไว้ซึ่งกฎระเบียบระหว่างประเทศ

ในความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งมักแสดงจุดยืนหรือข้อเรียกร้องของฝ่ายตน ผมมีความสับสนว่าจุดยืนของพวกเขาคืออะไรกันแน่ เพราะในระหว่างสงครามย่อมมีสงครามข่าวสารที่สร้างความสับสนจนไม่รู้จะเชื่อใคร อย่างไรก็ดี ขออ้างข่าวที่ฟังจากโทรทัศน์ฝรั่งเศสที่วิเคราะห์เชิงสรุปว่า รัสเซียต้องการให้นานาประเทศยอมรับว่า แคว้นไครเมียที่รัสเซียเข้ายึดครองเมื่อปี ค.ศ. 2014 นั้น เป็นดินแดนของรัสเซีย (เพราะเป็นเช่นนั้นในทางประวัติศาสตร์และทางชาติพันธุ์ของประชากรส่วนใหญ่) รัสเซียต้องการคำมั่นว่ายูเครนจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ เพื่อลดความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะมาติดตั้งอาวุธสงครามร้ายแรงประชิดชายแดนจนยากแก่การป้องกัน อีกทั้งถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรง นาโต้อาจยกสนธิสัญญามาอ้างว่า ถ้ามีการ “รุกราน” ประเทศสมาชิก จะถือเป็นการรุกรานประเทศนาโต้โดยรวม ที่สงวนสิทธิการตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้ประกาศรับรองเอกราชของแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่อยู่ติดกับรัสเซีย มีประชากรเชื้อสายรัสเซียอยู่หนาแน่น และมีกองกำลังติดอาวุธที่สู้รบกับทหารยูเครนมา 8 ปีแล้ว (กองกำลังดังกล่าวควบคุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของทั้งสองแคว้น แต่การรับรองเอกราชของรัสเซียครอบคลุมพื้นที่สองในสามที่เหลือด้วย)

แน่นอนว่าจุดยืนของยูเครนเป็นในทางตรงกันข้าม คือยึดถือบูรณภาพของดินแดน ไม่ยอมรับการแยกแคว้นไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ไม่ว่าจะไปผนวกกับรัสเซียหรือเป็นเอกราช ถือว่าแต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยที่จะเข้าร่วมในสนธิสัญญาใดหรือไม่ก็ได้ และถ้าจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ก็เพื่อความมั่นคงของตนเป็นสำคัญ ประธานาธิบดีแซแลนสกียของยูเครน ถือโอกาสที่ประเทศของสหภาพยุโรปแสดงความเห็นอกเห็นใจยูเครน เพื่อลงนามในคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

Advertisement

ที่กล่าวมาเป็นความขัดแย้งหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แล้วอดีตเล่า ในที่นี้จะไม่ขอย้อนอดีตไปไกลนัก เพราะเรื่องมันยาว ในอดีต ยูเครนกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด เพราะพลเมืองอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์สลาฟเหมือนกัน ภาษาใกล้เคียงกัน ชาวยูเครนที่อยู่ต่างแคว้นกันมักใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสารกัน (เพราะเข้าใจได้ง่ายกว่าภาษาถิ่น แม้จะเป็นภาษาในสกุลสลาฟเหมือนกัน) ในยูเครนมีชาวรัสเซียอาศัยอยู่ประมาณ 17% จุดเปลี่ยนสำคัญในความสัมพันธ์ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นในปี 2557 (ค.ศ. 2014) เมื่อประธานาธิบดียูเครน วิคตอร์ ยายูโควิช ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยอ้างว่าเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ Eurasia Economic Union อยู่แล้ว การปฏิเสธดังกล่าวยังผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวยูเครน จึงออกมาขับไล่ ยายูโควิช ออกจากอำนาจ รัสเซียไม่พอใจการขับไล่ประธานาธิบดีที่นิยมรัสเซีย และมองว่าตะวันตกเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของยูเครน ประกอบกับเหตุปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งการที่มีข่าวว่า ชาวรัสเซียหรือผู้นิยมรัสเซียในยูเครนถูกเลือกปฏิบัติ ความขัดแย้งจึงถูกยกระดับด้วยการผนวกแคว้นไครเมียมาเป็นของตน

ในปี 2558 รัสเซีย, ยูเครน, และประเทศสมาชิกในองค์กรที่ชื่อว่า ความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ได้ประชุมกันที่เมือง มินสก์ เมืองหลวงของเบลารุซ และมีข้อตกลงหยุดยิงและให้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยูเครนยังอยากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่อีก รัสเซียจึงระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับยูเครนในสมัยอดีตประธานาธิบดี เปโตร โปโรเช็งโก ต่อมาในปี 2559 ยูเครนระงับการส่งสินค้าไปยังรัสเซียผ่านไครเมียและดินแดนตะวันออกในความควบคุมของกองกำลังนิยมรัสเซีย ผลการสำรวจประชามติพบว่าชาวยูเครนกว่า 50% เห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรนาโต้ ในปี 2564 ยูเครนในสมัยประธานาธิบดีปัจจุบันได้เรียกร้องให้นาโต้มอบแผนปฏิบัติการการเข้าเป็นสมาชิก (Membership Action Plan) ให้แก่ยูเครน เรื่องนี้สร้างความลำบากใจให้แก่รัสเซียเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีปูตินถึงกับกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัสเซียพร้อมจะประนีประนอมในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องความมั่นคงที่เป็นผลประโยชน์ของชาติที่ยอมโอนอ่อนไม่ได้

เท่าที่เล่าเรื่องราวมานี้ หวังว่าพอจะให้ภูมิหลังของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ซับซ้อน และมีจุดยืนที่ยอมกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากเห็นการขยายวงความขัดแย้ง เช่น การขยายไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นานา ที่มีผลให้หลายคนเดือนร้อน ทั้งพลเรือนชาวรัสเซีย ชาวยูเครน ชาวยุโรป ฯลฯ หรือการคว่ำบาตรทางสังคม เช่น ในวงการกีฬา การดนตรี การภาพยนตร์ และมหกรรมทางศิลปะ ฯลฯ ผมไม่อยากเห็นการเลือกข้างหรือการแยกขั้วในลักษณะที่ชวนให้คิดถึงคำประกาศของอดีตประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ประกาศว่า การไม่อยู่กับเราหมายถึงการอยู่กับฝ่ายก่อการร้าย ผมจึงมีความเห็นเหมือนกับรัฐบาลไทยว่า ขอให้กำลังใจและฝากความหวังไว้กับการพูดคุยกันที่เริ่มต้นที่ชายแดนของเบลารุซ

ถ้าใครไม่อยากนิ่งดูดาย ก็ควรศึกษาความขัดแย้งให้ละเอียดเพิ่มเติม โดยไม่ด่วนตัดสินว่าใครคือฝ่ายเทพ หรือฝ่ายมาร เพราะในตัวเรา อาจมีทั้งฝ่ายเทพและฝ่ายมารที่แผลงฤทธิ์สลับกันเป็นครั้งคราว อันที่จริง พระเยซูเจ้าได้สอนให้เราแยกบาป (ที่ต้องต่อต้านเต็มที่) ออกจากผู้ทำบาป (ที่สามารถแปลงเปลี่ยนและได้รับความกรุณา) เมื่อศึกษาจนเห็นความทุกข์ร้อนแล้ว ก็รับความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นกับพวกเขามาเป็นของเราบ้าง พร้อมส่งความปรารถนาดีไปให้ด้วย ขณะนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กำลังประกาศขอรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทุกฝ่ายจากสงครามครั้งนี้ ถ้าช่วยได้น่าจะดี

ก่อนจบบทความ ขอนำเรื่องเล่าการแก้ไขความขัดแย้งสไตล์ชาวฮาวายที่เรียกกันว่า ho’o ponopono ซึ่งปรมาจารย์สันติวิธีชื่อ โยฮัน กัลตุง เล่าไว้ในบทความของเขา มาเล่าต่อในที่นี้

ชายผู้หนึ่งนอนหลับอยู่ดี ๆ ที่ในบ้าน เขาได้ยินเสียงผิดปกติ จึงลุกขึ้นมาและจับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังหนีไปพร้อมกับเงินสิบดอลลาร์ได้ เขาเรียกตำรวจ ซึ่งบอกว่ารู้จักเด็กหนุ่มคนนี้ เพราะเป็นคนมีประวัติ ถ้าเขาทำผิดครั้งที่สามก็ต้องติดคุกยาวนาน เหตุเกิดที่ฮาวาย ที่ซึ่งมีประเพณีเรียกว่า ho’o ponopono (แปลว่า ทำให้ถูกต้อง) ที่มีลักษณะเป็นการผสมผสานการสร้างเรื่องเล่าขึ้นใหม่ การคืนดี และการแก้ไขปัญหา เจ้าของบ้านมองเด็กหนุ่มและคิดว่า ถ้าปล่อยให้ตำรวจพาตัวไป อาจถูกจำคุกยี่สิบปีเพราะทำผิดครั้งที่สาม เขาหันไปบอกตำรวจว่า “เอ้อ เรื่องนี้ขอให้ผมจัดการเองนะครับ” เรื่องได้ปรากฏต่อมาว่า น้องสาวของเขาป่วย ทุกดอลลาร์จึงมีค่านัก เจ้าของบ้านจึงคิดที่จะจัดการเรื่องนี้ตามประเพณี ho’o ponopono

เขาเชิญครอบครัวของตน เพื่อนบ้าน เด็กหนุ่มและครอบครัวมานั่งล้อมวงรอบโต๊ะ ผู้ดำเนินการประชุมเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” จากนอกชุมชน ซึ่งขอให้แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวด้วยใจจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร และคำตอบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร แม้ว่าเหตุแห่งการลักขโมยจะยอมรับได้ แต่วิธีการไม่ถูกต้อง เด็กหนุ่มกล่าวคำขอโทษ และขอร้องให้ให้อภัย เจ้าของบ้านให้อภัย แต่เด็กหนุ่มต้องมาช่วยทำสวนสักระยะหนึ่ง คนรวยในชุมชนรับที่จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลครอบครัวของเด็กหนุ่ม ในตอนท้าย เรื่องราวการลักขโมยถูกเขียนลงในกระดาษ ในแบบที่ทุกคนยอมรับได้ กระดาษแผ่นนั้นถูกเผา เพื่อเป็นการปิดฉากเหตุลักขโมย แต่เรื่องยังไม่จบทีเดียว ปราชญ์ชาวบ้านรับเป็นคนติดตามผล ซึ่งมีความซับซ้อนและยืดยาว เป็นธรรมดา

ประเพณี ho’o ponopono คงใช้ไม่ได้ทั้งหมดกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ถ้าลองเชิญกัลตุงหรือผู้มีจิตกุศลและมีทักษะที่จำเป็น ไปช่วยให้คำปรึกษาในกรณีนี้ อาจมีการเล่าเรื่องราวความขัดแย้งกันใหม่ ซึ่งเปิดทางไปสู่การคืนดี ระหว่างคนที่เคยมีไมตรีต่อกันมาก่อน ผมกำลังฝันไปนะเนี่ย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image