กทม. …เลือกอย่างไรให้คุ้มค่า

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาจะได้รับสิทธิเลือกตั้งตัวแทนมาบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยตัวเองกลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากสิทธิอันชอบธรรมนี้ถูกยึดไปตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 8 ปีเต็ม

การกำหนดวันเลือกตั้งบังเอิญตรงกับวันรัฐประหารพอดิบพอดี กรรมการการเลือกตั้งคงไม่ได้ตั้งใจสะท้อนนัยสำคัญอะไร เพียงแต่ต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะไม่อาจต้านทานเสียงรบเร้าทวงคืนสิทธิ ซึ่งดังติดต่อกันมานาน
ต่อไปได้

8 ปีที่ถูกยึดสิทธิไปจากผลของการยึดอำนาจ เกิดคำถามย้อนกลับมาว่า รัฐประหารล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภา ทำไมต้องล้มรัฐบาลท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ในเมื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหัวใจและคำตอบของการพัฒนาสังคมในทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

แต่เพราะความหวาดกลัวการต่อต้านจนสั่นคลอนอำนาจและเสถียรภาพของคณะรัฐประหารและรัฐบาล จึงจำเป็นต้องกำราบลงไปให้ลึกที่สุดถึงระดับท้องถิ่น ย้อนยุคการบริหารจัดการโดยตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นแต่งตั้งจากคณะผู้มีอำนาจแทน

Advertisement

8 ปี การบริหารท้องถิ่นภายใต้อำนาจย้อนยุค ทำให้อดคิดเชิงเปรียบเทียบไม่ได้ว่า หากไม่ล้มการเลือกตั้ง กทม.และพัทยาไปด้วย แต่ให้การเมืองท้องถิ่นดำเนินไปปกติตามวาระ กรุงเทพมหานครและพัทยาจะพัฒนาไปกว่านี้มากหรือน้อยแค่ไหน

จริงอยู่สิทธิอำนาจกำหนดชะตากรรมของท้องถิ่นเองที่ได้กลับคืนมา ใช่ว่าจะเป็นไปโดยอิสระ 100% เต็ม เพราะถึงอย่างไรภายใต้โครงสร้างอำนาจตามกฎหมาย ระหว่างการเมืองระดับชาติ ราชการส่วนกลาง กับการเมืองท้องถิ่น ราชการท้องถิ่น กทม.และพัทยายังอยู่ใต้การกำกับ ควบคุมของราชการส่วนกลาง คือกระทรวงมหาดไทยอยู่ต่อไปอีกเช่นเคย

อำนาจ หน้าที่ของท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ที่บทบาทเชิงกายภาพ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีการศึกษา สิ่งแวดล้อมดี วัฒนธรรมดี นอกเหนือจากนี้อยู่ภายใต้อำนาจราชการส่วนกลาง โดยรัฐบาลกลางทั้งสิ้น

การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นไปภายใต้คำถามเดิม ท้องถิ่นจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจริงสักแค่ไหน

เส้นแบ่งอำนาจ หน้าที่ความรับผิดชอบ ความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นภายใต้หลักกฎหมายเก่าแก่ ควรปรับปรุงพัฒนาให้ก้าวหน้าไปกว่าเดิม ท้องถิ่นควรมีอิสระและความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น

นอกเหนือจากหลักกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว หลักการกระจายอำนาจ หลักความเป็นประชาธิปไตย หลักการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน ควรถึงเวลาที่จะได้รับการทบทวน พิจารณาอย่างจริงจัง

คุณค่าของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงอยู่ที่สิทธิอันชอบธรรมที่ได้กลับคืนมา ซึ่งมีความหมายมากกว่าการหย่อนบัตร เลือกแล้วก็แล้วกัน เลือกใครไม่สำคัญ เท่าสิทธิที่ได้เลือก เลือกให้คุ้มค่ากับวันเวลาและสิทธิที่เสียไป

จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิอย่างไรให้คุ้มค่าและเวลาที่เสียไป

ปัญหากรุงเทพฯในทางกายภาพไม่ต่างจากเมืองหลวงขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีพลเมืองมากกว่า 10 ล้านคน แต่ที่แตกต่างและหนักยิ่งกว่าคือ ปัญหาโครงสร้างอำนาจกดทับจากส่วนบน ยังเหนียวแน่น มั่นคง คลายยาก

ประเด็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น ควรถูกนำมาพิจารณาในการตัดสินใจเลือกอย่างยิ่ง

ใคร กลุ่มไหน สามารถทำให้ท้องถิ่นมีอิสระ และรับผิดชอบมากขึ้น ทำให้ส่วนกลางผ่อนคลาย ละลดอำนาจลง

จุดขายในการเลือกตั้งจึงไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่กรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ เมืองท่องเที่ยว เมืองอาหาร เมืองบริการ เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เพื่อรายได้จากนักท่องเที่ยวเท่านั้น

สิทธิทางการเมืองที่เคยมีจากการเลือกผู้แทนในระดับรากหญ้า สภาเขตที่ถูกยุบไปควรฟื้นกลับคืนมา ปรับบทบาทกันใหม่อีกครั้งหนึ่งหรือไม่

กทม.ใหญ่โตเกินไป ควรแบ่งซอย แยกย่อยให้การแก้ปัญหาเกิดประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ฯลฯ

ตัดสินใจเลือกใคร เลือกคน เลือกพรรค เลือกกลุ่ม เลือกนโยบาย สไตล์การบริหารจัดการ เลือกฝ่ายเดียวกับรัฐบาลกลางหรือคนละฝ่าย ก็แล้วแต่

คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯและพัทยาทุกด้านต้องดีขึ้นกว่าเดิม นรกบนดิน นรกมีจริงที่กรุงเทพฯ ต้องลดลงต่างหาก เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหาคำตอบจากผู้สมัครให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image