ยกระดับ อสม. 3,000 คน เรียน‘ผู้ช่วยพยาบาล’ฟรี 1 ปี

สถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีวิทยาลัยในสังกัดรวมทั้งสิ้น 39 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาล จำนวน 30 แห่ง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จำนวน 7 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก จำนวน 1 แห่ง และวิทยาลัยการแพทย์อภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1 แห่ง โดยมีภารกิจด้านการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อผลิตกำลังคนด้านสุขภาพตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข และระบบบริการสุขภาพของประเทศ ประกอบกับระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ.2554 หมวด สิทธิประโยชน์ ข้อ 32 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและบุตรมีสิทธิได้รับโควต้าศึกษาในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

สถาบันพระบรมราชชนกเล็งเห็นถึงการเพิ่มศักยภาพและต่อยอดการพัฒนาบุคลากร และกระจายโอกาสทางการศึกษาให้บุคลากรทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาด้านสุขภาพซึ่งรวมถึง “อสม.” และบุตร อสม. โดยมอบสิทธิประโยชน์ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือบุตร อสม. ได้เข้าศึกษาหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันพระบรมราชชนกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดสรรที่นั่งเข้าศึกษาให้แก่ อสม.และบุตร อสม. เข้าศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จังหวัดละ จำนวน 2 คน และในปีการศึกษา 2565 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น สถาบันพระบรมราชชนก โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ จึงได้จัดสรรที่นั่งเข้าศึกษาให้แก่ อสม.และบุตร อสม. เข้าศึกษาในหลักสูตรอื่นๆ จังหวัดละจำนวน 2 คน เพื่อสร้างบุคลากรด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามปณิธานของ สบช. : “4 ส” ที่ว่า “สร้างบ้าน สร้างคน สร้างงาน สร้างสุข ให้ชุมชน”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็ง การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ การควบคุมแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่เป็นสิ่งที่สำคัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบนโยบายการที่จะต่อยอดองค์ความรู้ให้กับ อสม. ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญลำดับต้นในพื้นที่ที่จะช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน สถาบันพระบรมราชชนกจึงได้เล็งเห็นถึงการติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มพูนทักษะและความสามารถของ อสม.

ดังนั้น ในปีการศึกษา 2565 สถาบันพระบรมราชชนกจึงขยายและสร้างฐานความรู้ให้กับ อสม. โดยร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้จัดโครงการ “ความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 คน” เข้าศึกษาในคณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 3,000 คน โดยใช้ระยะเวลาการศึกษารวม 1 ปี หลักสูตรการศึกษามีทั้งภาคทฤษฎี และการฝึกภาคปฏิบัติ และนำสิ่งที่ได้รับจากการฝึกปฏิบัติจากชุมชนมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และถอดบทเรียนก่อนที่จะนำองค์ความรู้คืนสู่ชุมชน เป็นต้นแบบครู ก และครู ข โดยใช้ สบช. โมเดล 2022 : ทฤษฎีปิงปองจราจรชีวิต 7 สี สำหรับใช้ดูแลควบคุม ได้แก่ เบาหวาน ความดัน หัวใจขาดเลือด อัมพาต ไตวาย และประยุกต์ปิงปองจราจรชีวิต 6 สี เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งระบบการเฝ้าระวังดังกล่าวจะทำให้คนที่เป็นโรคไม่ติดต่อรายใหม่น้อยลง (สีเหลือง…สีแดงน้อยลง) คนไทยจะแข็งแรงขึ้น ส่วนโรคโควิด-19 ก็จะเกิดน้อยลงด้วยโดยเฉพาะที่จะเป็นสีเขียวเข้มและสีเหลือง และโรคนี้จะอยู่อีกราว 3-5 ปี

Advertisement

ทั้งนี้ คุณสมบัติในการเข้าศึกษาของ อสม.มีดังนี้
1) มีอายุระหว่าง 16-50 ปี นับถึงวันเปิดภาคการศึกษา
2) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
3) ปฏิบัติหน้าที่ อสม.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

สถาบันพระบรมราชชนกจะทำการคัดเลือก อสม.ที่สนใจ เข้าศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลในแต่ละจังหวัด

โดยมอบให้รองอธิการบดีที่กำกับดูแลวิทยาลัยพยาบาลที่เป็นสถานที่ศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แต่ละเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขและวิทยาลัย ดำเนินการคัดเลือกร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด คัดเลือก อสม.เข้าศึกษาตามสัดส่วนที่เหมาะของแต่ละจังหวัด

มุ่งเน้นการกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่กระจายตามสัดส่วนของ อสม.ในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทให้แต่ละจังหวัด

อนึ่ง การรับสมัครและการเรียนจะแบ่งเป็น 2 รุ่น ประมาณรุ่นละ 1,500 คน โดยรุ่นแรกรับสมัครประมาณเดือนเมษายน 2565 เริ่มเปิดเรียนเดือนมิถุนายน 2565 รุ่นที่สอง รับสมัครประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 เริ่มเปิดเรียนเดือนกันยายน 2565 การคัดเลือกโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะคัดเลือกตามโควต้าที่ได้รับร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลฯในพื้นที่แต่ละเขต โดยจะมีรองอธิการบดี สบช. เขต ร่วมกับผู้ตรวจฯเขตสุขภาพ จะเป็นผู้กำกับดูแลนักศึกษาที่เรียนจบแล้วก็จะกลับมาปฏิบัติในแต่ละ รพ.สต. ของตนเองอยู่ (นักศึกษา อสม.คืนถิ่น) และถ่ายทอดไปแก่ อสม.ในพื้นที่นั้น ฐานะเป็นครู ก ถ่ายทอดให้ อสม. เป็น ครู ข ช่วยกันทำงานเป็นทีมร่วมกับ ทีม “3 หมอ” ในแต่ละตำบล กระจายครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ

และถ้านักศึกษา อสม. คนใดถ้าหากเรียนดี คะแนนสูงเป็นคนดีคนเก่ง มีวินัยรับผิดชอบสูง เสียสละ กตเวที อาจจะได้รับการคัดเลือกเรียนต่อเป็น “พยาบาลวิชาชีพ” หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ถือว่าเป็น “นักศึกษา อสม.ก้าวหน้า” ไงเล่าครับ (ติดตามฉบับตอนที่ 2 ต่อไป)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image