ที่เห็นและเป็นไป : ‘ยุบสภา’ด้วยสำนึกไหน

ที่เห็นและเป็นไป : ‘ยุบสภา’ด้วยสำนึกไหน

‘ยุบสภา’ด้วยสำนึกไหน

“ยุบสภา” เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ในวาระที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียกนักการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อยไปกินข้าวที่บ้านป่ารอยต่อฯ เพื่อจัดการวันนัดร่วมโต๊ะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นการคุยที่ราบรื่น ไม่เกิดคำถามที่สร้างความกินแหนงแคลงใจต่อกัน

วันนั้น “พล.อ.ประวิตร” ให้สัญญาณกับ ส.ส.กลุ่มนี้ทำนองว่า “จะมีการยุบสภาหลังจบการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ” คือราวปลายปี และน่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปีหน้า

นั่นเป็นสัญญาณเดียวกันที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ว่า ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเอาหน้าเอาตาในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพเอเปคที่จะมีผู้นำจากทั่วโลกมาร่วม

Advertisement

“พล.อ.ประยุทธ์” ปรารถนาภาพผู้นำประเทศเจ้าภาพซึ่งจะรายล้อมด้วยผู้นำจากประเทศต่างๆ ไปประดับเป็นเกียรติประวัติแห่งชีวิต

ไม่มีเหตุผลอะไรที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะละทิ้งโอกาสอันดีงามต่อประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูลเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะปรารถนาเพียงใดก็ตาม แต่หลายคนไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงสิ้นปี

Advertisement

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่สนใจว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ควรจะมีโอกาสบันทึกประวัติชีวิตในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกหรือไม่

เพราะเห็นว่าเกียรติประวัติของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่สำคัญไปกว่าการรักษาหลักการที่ถูกที่ควรของประเทศไว้

คนกลุ่มนี้เห็นว่า เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็คือ ป้องกันการสืบทอดอำนาจยาวนานจนเอื้อต่อการผูกขาดการเป็นผู้นำ และ 8 ปี สมควรแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในการพัฒนาประเทศ

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคมที่จะถึง ก็สมควรจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่ปล่อยให้ใครมาตะแบงบิดตีความกฎหมายให้เป็นอื่น

การรักษาหลักการของการบริหารจัดการประเทศไว้ ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวม สำคัญกว่าเกียรติประวัติของใครที่เป็นเรื่องส่วนตัว

นั่นเป็นความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นประโยชน์ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ต่อไปแล้วจะมีอะไรดีขึ้น

ในอีกพวกหนึ่ง เชื่อว่าแม้จะอยากบันทึกเกียรติประวัติตัวเองไว้มากมายแค่ไหน แต่สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่จะมีแรงกดดันเกินกว่าที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะฝืนอยู่ต่อได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางสารพัดเรื่องราวที่สะท้อนการบริหารจัดการประเทศที่มีปัญหามากมาย เช่น ซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์, การใช้กฎหมายเล่นงานผู้เปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทำให้ภาพของประเทศเสียหายไปทั่วโลก, เรื่องที่ยังไม่มีคำตอบที่ประชาชนควรรับรู้อีกมากมาย ที่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะทำงานเชิงรุกให้เห็นภาพการบริหารประเทศที่ยับเยิน

ชนิดที่หากปล่อยให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นความเน่าเฟะอันส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

และที่สำคัญคือ การคุมเสียงในสภาเพื่อให้โหวตสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นเรื่องยากเย็น เพราะนักการเมืองทุกคนย่อมต้องนึกถึงการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน

ในเชิงอุดมการณ์จะเอาอะไรไปตอบประชาชน

ในเชิงอุปถัมภ์ การโหวตครั้งนี้ย่อมมีราคามหาศาล ระดับที่เชื่อมั่นได้ว่า เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่

ท่ามกลางความเดือดร้อนสาหัสของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ซ้ำเติมไม่เลิกรา

เป็นไปได้ว่า “ยุบสภา” ท่ามกลางความยับเยินของศรัทธาประชาชน ไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องหากคิดถึงการกลับมามีอำนาจต่อไป

ระหว่าง “เกียรติประวัติส่วนตัว” กับ “โอกาสที่พอยังมีเหลือบ้างของพรรคซึ่งชะตากรรมของสมาชิก” หรือหลักการที่ถูกที่ควรของกติกาการอยู่ร่วมกัน

เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ผู้มีอำนาจ “ยุบสภา” จะเลือกอะไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image