วันนี้ยูเครน พรุ่งนี้ไต้หวัน

พลันที่เกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐและสังคมตะวันตกได้โฟกัสไปที่ประเทศจีน เพื่อกดดันให้จีนร่วมขบวนการ “ประณาม” และ “คว่ำบาตร” รัสเซีย

การกดดันจีน อาจเกิดจากเป้าหมาย 2 ประการ คือ

1 ทำลายความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย อีก 1 คือให้จีนเป็น “แกนหลักแห่งการคว่ำบาตร”

อย่างไรก็ตาม ควรต้องพินิจถึงความสัมพันธ์แห่งความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-รัสเซีย แม้สหรัฐและตะวันตกจะกดดันอย่างไร การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลจีน เพราะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศเป็นหลัก

Advertisement

สำหรับปัญหายูเครน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีปูติน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยแสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ประเทศจีนเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละประเทศ ตลอดจนปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติโดยเคร่งครัด”

การสนทนาระหว่างสี จิ้นผิงกับปูตินครั้งนี้ สี จิ้นผิง

ได้แนะว่าควรต้องละทิ้งความคิดแห่งสงครามเย็น เน้นย้ำทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงความปลอดภัยของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ โดยผ่านการเจรจาให้เกิดดุลยภาพเกี่ยวกับความปลอดภัยของยุโรป จีนยินดีสนับสนุนรัสเซียและยูเครนทำการเจรจาเพื่อแก้ไขวิกฤต จีนประสงค์ที่จะร่วมกับสังคมโลกเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรังสรรค์ให้โลกนี้มีสันติภาพ

นอกจากนี้ จีนยืนหยัดไว้ซึ่งอารยธรรมโลกอันมีสหประชาชาติเป็นแกนหลัก อีกทั้งปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อธำรงไว้ซึ่งวินัยสากลอย่างเป็นนิรันดร์

หากพินิจให้ดี ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียนับวันกระชับมากขึ้น อันเนื่องจากสหรัฐและพันธมิตรร่วมกันกดดันและปิดล้อม เสมือนเป็นการบันดาลให้สองประเทศมีความร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์ภูมิภาคโดยปริยาย

ประเทศจีนมีจุดยืนที่แน่วแน่มั่นคงเกี่ยวกับการคัดค้านการใช้อาวุธบุกรุกโดยผ่านมติของสหประชาชาติ

เพราะเป็นพฤติกรรมที่ทำลายประเทศอธิปไตย อาทิ กาลอดีต สหรัฐร่วมกับนาโตทำการถล่มโจมตีเซอร์เบีย อิรัก เป็นต้น

ฉะนั้น คงเป็นการยากที่จีนจะสนับสนุนพฤติการณ์ที่รัสเซียปฏิบัติต่อยูเครน

นอกจากนี้ ปัญหายูเครนยังมีความสับสนทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นว่าหากสหรัฐ “คว่ำบาตร” รัสเซีย ปัญหาคงยังยากจะยุติได้ และยังไม่น่าจะมีหลักประกันมากขึ้นอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของยุโรป

รัฐบาลไต้หวันฉวยโอกาสสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อแสวงหาโอกาสโดยประกาศว่า คนไต้หวันประจักษ์ในชะตากรรมของยูเครน เสมือนประสบด้วยตนเอง

นักวิชาการต่างประเทศก็ได้มีการวิพากษ์ว่า แผ่นดินใหญ่อาจใช้ “โมเดลยูเครน” บุกยึดไต้หวัน กระทั่งมีคำกล่าวว่า “วันนี้ยูเครน พรุ่งนี้ไต้หวัน”

กระทรวงต่างประเทศจีนชี้แจงว่า “ไต้หวันมิใช่ยูเครน”

ความจริงสถานภาพไต้หวันและยูเครนแตกต่างกัน เปรียบเทียบมิได้ กล่าวคือ ยูเครนเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 180 ประเทศ ส่วนไต้วันมีเพียง 14 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม คนไต้หวันสนใจปัญหายูเครนมิใช่เรื่องแปลก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่สหรัฐ มิใช่แผ่นดินใหญ่ เพราะสหรัฐเป็นผู้ให้คำมั่นไต้หวันในเรื่องความปลอดภัย

หากสหรัฐปฏิบัติต่อไต้หวันเช่นเดียวกับยูเครนคือ “บริการริมฝีปาก”

คือความน่ากังวลของคนไต้หวันอย่างแท้จริง

ทว่า มีชาวเน็ตในแผ่นดินใหญ่ส่วนหนึ่งมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของการเมืองแห่งภูมิภาค พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และมีความเบิกบานสำราญใจ

แม้ความแตกแยกระหว่างรัสเซีย สหรัฐ ยุโรปเข้าขั้นรุนแรง และเป็นการสร้างโอกาสเชิงกลยุทธ์ให้แก่จีนก็ตาม แต่น่าเชื่อว่าสถานการณ์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะเป้าหมายยุทธศาสตร์เบอร์ต้นก็ยังเป็นจีน

ส่วนแถลงการณ์อันเกี่ยวกับ “ร่วมเป็นพันธมิตรรัสเซียและต่อต้านจีน” นั้น ดูประหนึ่งว่าในระยะสั้นยังคงไม่ได้รับความสนใจจากตะวันตก แต่ที่ประจักษ์คือ ปัญหายูเครน สหรัฐเพียงเพื่อตัดกำลังอันสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรป กดดันสกุลเงินยูโร และถือเป็นเครื่องมือในการยกระดับการควบคุมพันธมิตรยุโรปและนาโต

ส่วนไต้หวันคือสายโซ่แห่งดินแดนวงล้อมขั้นแรกที่สำคัญของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่ 9 ของสหรัฐ ในขณะที่ยูเครนอยู่ลำดับ 17 ห่วงโซ่อุปทานของไต้หวันยังอยู่ลำดับแนวหน้าของโลก

จึงเชื่อว่าทัศนคติที่สหรัฐมีต่อไต้หวัน ย่อมแตกต่างไปจากที่ปฏิบัติต่ออัฟกานิสถานและยูเครน

ปักกิ่งก็รับรู้ถึงความจริงดังกล่าว จึงไม่แปลกที่สำนักประสานงานความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันได้แถลงว่า “การรวมสองฝั่งช่องแคบคือแนวโน้มทั่วไปที่มิอาจหลีกเลี่ยง เป็นความประสงค์และความหวังของคนจีนแผ่นดินใหญ่และคนจีนไต้หวันส่วนใหญ่ คือเป็นเอกภาพ หนึ่งประเทศสองระบบ เป็นหลักการขั้นพื้นฐาน”

หากกระหายประเด็น “ไต้หวันเอกราช” อย่างไม่รู้ละ สร้างความแตกแยกต่อเนื่อง หรือเกินเลยเส้นแดงแผ่นดินใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้ “มาตรการเด็ดขาด” และยืนยันว่าประเทศจีนมิอาจสละงานชิ้นใหญ่คือ “รวมไต้หวันอย่างสันติ” แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จีนย่อมไม่เสียดายต้นทุน ณ วันนี้ จีนจะใช้กำลังหรือไม่เพื่อธุรกรรมรวมไต้หวัน มิใช่ปัญหาความสามารถ หากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเท่านั้น

ถ้าเกิดสงครามการรวมไต้หวันก็จะเป็นคนละเรื่องกันกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะลักษณะต่างกัน

พลันที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับสหรัฐกดดันประเด็นที่จีนอ้างว่าเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนตอบอย่างมีนัยและลุ่มลึกว่า “จีนเป็นประเทศที่เป็นกรรมาธิการสามัญสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ยังมิได้เป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์ ฉะนั้น ประเด็นที่จะเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนนั้น สหรัฐไม่น่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมาบอกประเทศจีนว่าควรปฏิบัติอย่างไร”

ต้องยอมรับว่า เป็นถ้อยแถลงที่ลึกซึ้งตรึงใจ มีนัยสำคัญเสมือนบอกว่า

เมื่อดื่มน้ำย่อมต้องทราบดีว่าน้ำเย็น หรือน้ำร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image