สะพานแห่งกาลเวลา : โลกมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่กี่มากน้อย? โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เครดิตภาพ-Pixabay

พฤติกรรมที่ผ่านมาของ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำสูงสุดของรัสเซีย ตรงกันข้ามกับความคาดหมายของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง

เมื่อปี 2014 ไม่มีใครคาดคิดว่า ปูติน จะกล้าผนวกดินแดนไครเมียเป็นของรัสเซีย แต่ปูตินทำ

เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครคาดว่า รัสเซียจะก่อสงครามกลางเมืองขึ้นในภูมิภาคดอนบาส แต่ปูตินก็ทำ

ต้นปีนี้ ไม่มีใครคิดเช่นกันว่า รัสเซียจะกรีฑาทัพเต็มอัตราศึกบุกเข้ายูเครน เพื่อยึดครอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงตรงกันข้ามกับความคาดหมายโดยสิ้นเชิงอีกครั้ง

Advertisement

ดังนั้น ถ้าถามว่า ปูติน จะกล้าถึงขนาดกดปุ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นคนแรกได้หรือไม่? ถึงได้ไม่มีใครกล้าปฏิเสธแบบเต็มปากเต็มคำได้อีกแล้ว

คำถามสำคัญถัดมาจึงเป็นว่า เวลานี้ ทั้งโลกมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่กี่มากน้อยกัน? ใครบ้างครอบครองไว้เป็นจำนวนเท่าใด?

คำตอบเบื้องต้นก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ “ประมาณ” เอาไว้ว่าในเวลานี้โลกมี “หัวรบนิวเคลียร์” อยู่มากถึงราว 13,000 หัวรบ

อยู่ในความครอบครองของประเทศเพียง 9 ประเทศ ซึ่งเรียกกันว่า “นิวเคลียร์สเตทส์” ประกอบด้วย จีน, ฝรั่งเศส, อินเดีย, อิสราเอล, เกาหลีเหนือ, ปากีสถาน, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร แล้วก็ สหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนั้นเป็นประมาณการของผู้เชี่ยวชาญจาก สมาคมเพื่อการควบคุมอาวุธ (Arms Control Association-ACA) ซึ่งยอมรับว่าเป็นการประเมินเอาจากข้อมูลสาธารณะเท่าที่หาได้ ดังนั้น แม้ว่าจะรู้ว่าประเทศไหนครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่มีทางรู้ชัดเจนว่ามีกี่ลูก กี่หัวรบ

เช่นกรณีของอิสราเอล ที่ไม่เคยปฏิเสธแล้วก็ไม่เคยยอมรับว่ามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง เช่นเดียวกับ เกาหลีเหนือ หรือในกรณีของจีน ที่ไม่เคยเปิดเผยว่ามีหัวรบนิวเคลียร์อยู่เท่าใด

ทุกวันนี้ รัสเซีย แถลงว่ามีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง 6,257 ลูก สหรัฐอเมริกา ยอมรับว่ามีอยู่ 5,550 ลูก ตามข้อมูลของเอซีเอ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute -Sipri) ประเมินไว้เมื่อปี 2017 ว่า จีนมีอยู่ 270 ลูก, ฝรั่งเศส 300 ลูก, อินเดีย 130 ลูก, อิสราเอล 80, เกาหลีเหนือ 20, ปากีสถาน 140 และยูเค 215 ลูก

ในจำนวนทั้งหมดนี้ ว่ากันว่า มีอยู่ราว 9,000 ลูก ที่ถูกติดตั้ง “ประจำการทางทหาร” ทั้งที่อยู่บนบก ในน้ำ โดยเฉพาะในเรือดำน้ำ หรือประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศต่างๆ พร้อมสำหรับการปฏิบัติการโจมตีได้ในระยะเวลาอันสั้น

ที่พร้อมต่อการใช้โจมตีภายในไม่กี่นาที มีจำนวน 1,800 ลูก

หัวรบนิวเคลียร์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แยกเป็น 2 ประเภท หนึ่งคือ ระเบิดปรมาณู (อะตอมมิค บอมบ์) ที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน สร้างอานุภาพให้กับระเบิด อีกชนิดหนึ่งคือ ระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน สร้างพลานุภาพมหาศาลให้เกิดขึ้น

หากเทียบกันด้วยขนาดหัวรบเท่ากัน ระเบิดไฮโดรเจน หรือระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชัน สามารถก่อให้เกิดอำนาจทำลายล้างได้มากกว่าระเบิดปรมาณู หรืออะตอมมิคบอมบ์ ถึง 1,000 เท่า

สหรัฐอเมริกามีระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพสูงสุด ชื่อรหัส บี83 เป็นระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชันที่ให้อานุภาพสูงสุดถึง 1.2 เมกกะตัน หรือสูงกว่าอานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งใส่เมืองนางาซากิเมื่อปี 1945 ถึง 60 เท่า

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามี บี83 ประจำการอยู่ 650 หัวรบ!

แต่ บี83 เทียบแล้วเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพสูงสุดเท่าที่เคยมีการผลิตกันขึ้นมา นั่นคือ ระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชัน หรือไฮโดรเจนบอมบ์ของรัสเซีย ซึ่งคิดค้นขึ้นตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต มีชื่อเรียกว่า “ซาร์ บอมบา” (Tsar Bomba)

ซาร์ บอมบา ให้อำนาจทำลายล้างสูงสุดได้ถึง 50 เมกกะตัน หรือมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มนางาซากิถึง 2,500 เท่า

ระเบิดนิวเคลียร์ ยังจำแนกออกได้เป็น “ระเบิดนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์” (Strategic weapons) และ “ระเบิดนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่เชิงยุทธศาสตร์” (nonstrategic weapons)

นิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ มีอำนาจทำลายล้างสูงและมีพิสัยทำการไกล เช่น ยิงจากมอสโก ถึงวอชิงตันดี.ซี. ได้

ส่วนนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่เชิงยุทธศาสตร์ มีอำนาจทำลายล้างต่ำ และมีพิสัยทำการใกล้กว่า

กระนั้น อำนาจทำลายล้างต่ำๆ ก็ยังก่อให้เกิดการ “ทำลายล้าง” อยู่ดี

ตัวอย่างเช่น หัวรบนิวเคลียร์ ดับเบิลยู76-2 ยิงจากเรือดำน้ำของสหรัฐอเมริกาที่เป็นหัวรบใหม่ล่าสุด ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ ก็ยังให้อำนาจทำลายล้างถึง 5 กิโลตัน

หรือราว 1 ใน 4 ของ “แฟทแมน” ระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ถล่มนางาซากิ ซึ่งมีอำนาจทำลายล้าง 21 กิโลตัน

ระเบิดแฟทแมน คร่าชีวิตคนไปในทันทีราว 40,000 คน ที่เหลืออีกเป็นหมื่นเป็นแสน ต้องตายอย่างทรมานจากผลกระทบในระยะยาวของกัมมันตภาพรังสีจากระเบิด

แซมมวล ฮิคคีย์ นักวิจัยนิวเคลียร์ จาก ศูนย์เพื่อการควบคุมอาวุธและห้ามเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ (ซีเอซีเอ็นพี) ชี้ว่า นิวเคลียร์ เป็นระเบิดที่หลีกเลี่ยงการสูญเสียของพลเรือนไม่ได้

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นอาวุธที่ในทันทีที่ใช้ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขยายตัวของสงครามและการสูญเสียพลเรือนมากยิ่งขึ้นไปอีกได้ สุดท้ายก็ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ

ดังนั้น สงครามนิวเคลียร์จึงเป็นสงครามที่ไม่ควรก่อ

ส่วนปูตินจะเห็นพ้องหรือไม่ ก็แล้วแต่ท่านเถอะครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image