สถานีคิดเลขที่ 12 : ปราบเซียน! โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ปราบเซียน! ว่าที่ผู้สมัคร ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. เปิดตัวคึกคัก

ว่าที่ผู้สมัคร ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. เปิดตัวคึกคัก

หลายต่อหลายคน แถลงนโยบายที่จะใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เผยโฉมทีมงานขับเคลื่อน โชว์ความพร้อมในการบริหารเต็มที่

ในระยะเริ่มต้น ก่อนวันเปิดรับสมัคร 31 มีนาฯ-4 เมษายนนี้

แต่ละคน ระมัดระวังท่าที การแสดงออก โดยไม่ว่าสื่อรุก ยิงคำถามใด ต่างก็ไม่พูดถึง พาดพิง วิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดเห็นต่อนโยบายที่คู่แข่งนำเสนอ

Advertisement

ตรงกันข้ามกลับเห็นว่า เป็นเรื่องดี ที่มีผู้สมัครเสนอตัวจำนวนมาก และจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีนโยบายแก้ปัญหา พัฒนา กทม.ทั้งที่เหมือน และแตกต่างกัน

ชาวกรุงเทพมหานครจะได้นำมาเปรียบเทียบ มีทางเลือกมากขึ้น

สนามเลือกตั้งเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ หรือเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

Advertisement

ว่ากันว่า เป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเสรีและเป็นธรรม

ได้รับการยอมรับว่า ผลเป็นประชาธิปไตย สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

แม้ไม่อาจกล่าวได้ 100% ก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งสนามอื่น

การเลือกตั้ง กทม.ถือได้ว่ามีมาตรฐานกว่า

เรื่องการใช้เงินทอง ซื้อ ขายเสียงอยู่ในระดับต่ำ และมิได้เป็นปัจจัยหลัก ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือก และผลของการเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ ตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยตนเอง

ที่เป็นอย่างนี้ เชื่อกันว่า เนื่องจาก คนกรุงมีการศึกษา เป็นตัวของตัวเองสูง คิดเป็นตัดสินใจเป็น ว่าจะเลือกใคร

แม้แต่รายที่รับอามิส สินจ้าง ก็ใช่ว่าจะลงคะแนนให้

แต่แน่นอน มีอยู่จำนวนหนึ่ง เหมือนกัน เจาะเข้า คาดหวังผลได้ แต่ก็เป็นคะแนนจัดตั้ง จำนวนน้อย แทบไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง ยิ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง อย่างครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 4.3 ล้านคน

คะแนนซื้อหรือจัดตั้ง ไม่มีความหมาย

การที่โหวตเตอร์มีการศึกษา การใช้เงิน ซื้อเสียง ไม่ได้ผล หรือได้ผลต่ำ

ฝ่ายการเมืองเชื่อว่า เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแต่สุ่มเสี่ยงถูกจับได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่ยังเสี่ยงเสียของสูญเปล่า

กลายเป็นผู้ร้าย ชาวกรุงปฏิเสธ

หมดลุ้นเก้าอี้

เรื่องวิพากษ์ วิจารณ์ โจมตีคู่แข่ง ผู้สมัคร ก็ทำนองเดียวกัน ปากมาก อาจเป็นพิษภัยต่อตัวเอง

คนกรุงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา มั่นใจตัวเองสูง ผู้สมัคร-นโยบาย ใครดี ใครว้าว ตัดสินได้ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชี้นำ วิพากษ์ดี แย่

ผู้สมัครแต่ละคน จึงสงบเสงี่ยม ไม่ก้าวล่วง พาดพิงใครต่อใคร

เนื่องจาก ต้องบริหารอารมณ์ จริตคนกรุงด้วย

ที่ต้องบริหาร จัดการอารมณ์ ความชอบชั้นสูง ก็เพราะ ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่า ใช้เรื่องใดเป็นหลักประกอบการพิจารณาตัดสินใจ กาบัตรเลือกตั้ง

สนาม กทม.ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองปราบเซียน

เลือกตั้งแต่ละครั้ง คาดเดาผลลำบาก เลือกแบบคานอำนาจรัฐบาลกลาง เลือกตัวบุคคล เลือกนโยบาย เลือกด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมๆ กัน ปรากฏให้เห็นมาแล้ว

23 พฤษภาคม 2565 วันที่ห่างหาย ร้างลาเลือกตั้งมา 9 ปี

ยิ่งคาดเดาลำบาก คนเมืองหลวงตัดสินใจ จากเรื่องใดเป็นหลัก

แต่สำหรับผู้สมัครแล้ว แน่นอนว่า จำเป็นที่ต้องนำเสนอ ‘นโยบาย’ แก้ปัญหา พัฒนาเมืองสิ่งอันเป็นพื้นฐาน ที่ผู้คนทั่วไป และโดยเฉพาะผู้มีการศึกษา ปัญญาชนใช้เป็นหลักในการตัดสินใจ

ไม่มีอะไรดีกว่านี้

ส่วนจะเข้าตา และได้รับเลือกนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯหรือไม่นั้น คงเป็นอีกเรื่อง

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ การเลือกตั้งเสรี และเป็นธรรม 8-9 ปีหลังรัฐประหาร

จุดยืน คุณภาพ การลงคะแนนเลือกตั้งของคนเมืองหลวง จะเปลี่ยนแปลง ฉีกจากกรอบเดิมอย่างสิ้นเชิง หรือยิ่งลงเสาเข็มตอกลึก อนุรักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image