ดราม่าข่าวแตงโม-กม.สื่อช่วยได้? (2)

ตราบใดที่ผลสอบสวนคดีดาราสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เสียชีวิตยังไม่สรุป การพิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น ดราม่าข่าวแตงโมในสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลคงดำเนินต่อไป เป็นเรื่องปกติของสังคมซุบซิบนินทา

ประเด็นที่ผมออกแขกตอนแรกเมื่อพฤหัสที่แล้ว ว่า สื่อและสังคมจะมีเครื่องมือ หรือกลไกช่วยคิดให้สติกับการเสนอข่าวสารและความคิดเห็น กับเรื่องทำนองนี้อย่างไร

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ช่วยได้หรือไม่ แค่ไหน

ในเมื่อมีคำถาม หรือข้อกังวลจาก นักวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เกิดขึ้น รวม 4 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งจะว่ากันทีละข้อไป

Advertisement

1.การจำกัดเสรีภาพของประชาชน : มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือการแสดงความเห็น “ตามจริยธรรมสื่อมวลชน” แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ข้อกังวลแรกอันเนื่องมาจากการเขียนข้อยกเว้นไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่เพิ่งมีเป็นฉบับแรก แต่เกิดขึ้นมาตลอดกับร่างกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ และเป็นข้อถกเถียงอภิปรายกันเรื่อยมาทั้งนอกและในที่ประชุมรัฐสภา

วัตถุประสงค์ต้องการให้การใช้สิทธิเสรีภาพเป็นไปบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ แต่การตีความของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปอย่างกว้างขวาง อะไรๆ ก็ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อยู่เรื่อย จึงทำให้เกิดปัญหา

Advertisement

เพราะตอบไม่ได้ว่า ขอบเขตของการเสนอข่าวและความคิดเห็นที่ว่าขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น มีแค่ไหน อยู่ตรงไหน รูปธรรมเป็นอย่างไร

กระบวนการบัญญัติกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านมา ฝ่ายเสนอจากภาครัฐ ราชการ รัฐบาลจะชนะเกือบทุกครั้ง ฝ่ายค้านไม่สามารถตัดข้อความที่เป็นข้อยกเว้นได้สำเร็จ จึงปรากฏอยู่ในตัวร่าง จนกลายเป็นธรรมเนียมของการเขียนกฎหมายไปแล้ว

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ก็เช่นเดียวกัน จึงต้องรอการเปิดวงพูดคุย อภิปราย ทั้งสังคมและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ช่วยกันติดตามว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร

หรือร่างกฎหมายจะค้างเติ่งอยู่ต่อไปเพราะรัฐสภาปิดสมัยประชุมไปเสียก่อน หรือรัฐบาลตัดสินใจยุบสภา หลังเปิดสภาวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

กฎหมายนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่กำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใหม่ จะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร เมื่อได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นก็ตาม

สำหรับผู้เห็นต่างที่ยืนยันว่า ถ้าไม่ตัดข้อยกเว้นออกก็ไม่สมควรตรากฎหมายฉบับนี้เสียเลยดีกว่า คงต้องฝากให้คิดถึงข้อดีที่มีอีกไม่น้อย จะพลอยสูญเปล่าไปด้วย

2.ผลประโยชน์ทับซ้อน : มาตราที่ 8 และ 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่ามาจาก 7 ช่องทาง รวมถึงจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและเงินที่ได้รับจัดสรรโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะการันตีความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง

ข้อกังวลประการที่ 2 เกี่ยวกับแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจากภาครัฐ กับความเป็นอิสระจากภาครัฐ นี่แหละ เป็นประเด็นที่น่าถกแถลงวิวาทะกันอย่างมากทีเดียว

ทั้งสื่อมวลชนอาชีพและสื่อโซเชียล จะมีมุมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้รอบด้าน อย่างไร

คำถามที่ต้องตอบตัวเองและสังคม มีมากมาย ตั้งแต่ข้อแรก สื่อมวลชนของรัฐ กับ สื่อมวลชนของเอกชน จะแยกบทบาท สิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่เพื่อสาธารณะอย่างไร สื่อมวลชนของรัฐบาล ถือว่าเป็นสื่อมวลชนหรือไม่

ถ้านับว่าเป็นสื่อมวลชน ในเมื่อมีรายได้มาจากรัฐโดยตรง มีฐานะเป็นข้าราชการและส่วนราชการ เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพตามร่างกฎหมายใหม่นี้ด้วยหรือไม่

สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกจำกัดด้วยความเป็นรัฐและคนของรัฐ แม้มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญคุ้มครอง รับรอง แต่ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ที่สำคัญต้องใช้งบประมาณจากรัฐโดยตรง

ครับ ยังมีข้อชวนคิดในประเด็นนี้อีกไม่น้อย แต่พื้นที่จำกัด เลยต้องขอยกไปสื่อสารสาธารณะกันต่อพฤหัสหน้า เข้าสู่โหมดสื่อมวลชนเอกชนกับสื่อโซเซียล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image