ที่เห็นและเป็นไป : ‘เชื่อมั่น’ด้วยอะไร

ที่เห็นและเป็นไป : ‘เชื่อมั่น’ด้วยอะไร

ที่เห็นและเป็นไป : ‘เชื่อมั่น’ด้วยอะไร

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่กำลังหาเสียงกันเข้นข้มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการเมืองในภาพใหญ่ที่พรรคการเมืองต่างๆ โหมโรงเตรียมเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่เกินปีหน้า มีปรากฏการณ์หนึ่งที่กระตุ้นให้ต้องเหลียวมองอย่างใส่ใจ

เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อน “ความมั่นใจ” ของพรรคการเมืองแต่ละฝ่าย

จนถึงวันนี้การเมืองไทยยังแบ่งเป็น 2 ขั้ว 3 ฝ่ายโดยคร่าวๆ

Advertisement

ขั้วแรกเป็นฝ่ายที่ “อาศัยได้แค่อำนาจประชาชน” หนุนส่งให้มีบทบาทในอำนาจรัฐ

อีกขั้ว เป็น “ฝ่ายอาศัยกติกาและกลไกที่ออกแบบไว้สืบทอดอำนาจ โดยไม่ต้องให้ความสำคัญกับการยึดโยงอำนาจประชาชน”

ฝ่ายที่ 1 ต้องมั่นคงในหลักการประชาธิปไตย มีภารกิจหลักคือสร้างผลงาน หรือนำเสนอแนวคิดที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความศรัทธา เพื่อแปรศรัทธานั้นมาเป็นคะแนนนิยมซึ่งจะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองในฝ่ายนี้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาทางเข้าให้ถึงใจประชาชน

Advertisement

ฝ่ายที่ 2 ภารกิจหลักคือ “รักษากติกาและกลไก” ที่ประกาศว่า “ออกแบบเพื่อพวกเรา” นั้นไว้ให้ได้ แต่ยังต้องสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นกับประชาชน แต่นั่นดูจะเป็นภารกิจรอง และไม่จำเป็นที่ไม่จำเป็นต้องเดินไปในทางสร้างศรัทธา ด้วยที่ทำอยู่แทบจะชัดเจนว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อแสดงพลัง “อุปถัมภ์” แจกจ่ายช่วยเหลือเพื่อแลกการทดแทนบุญคุณ

สำหรับฝ่ายที่ 3 ไม่ได้คิดอะไรมาก เป็นพรรคการเมืองจำพวกไม่คิดอะไรมาก หาทางให้ได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่งที่พอจะต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้บ้าง ด้วยวิธีไหนก็ได้ ส่วนใหญ่หวังผลให้ได้ผู้สมัครที่รับประกันได้ว่าพอมีคะแนนเสียง อาจจะเป็น ส.ส.เขตพื้นที่ หรือคะแนนเพื่อสะสมปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้ เป็นการลงทุนแบบไม่ได้หวังผลอะไรมากกว่านั้น

ความน่าสนใจอยู่ที่ต่างขั้ว ต่างฝ่าย ต่างมีที่มาของ “ความมั่นใจ” ต่างกันแทบทุกเรื่อง

และ “ความเชื่อมั่นในที่มาของอำนาจ” ที่ต่างกันนี่เอง ให้ความคิดต่อความเป็นไปต่างๆ ดูจะสวนทางกันไปหมด

อย่างเช่น เมื่อขั้วหนึ่งเสนอ “ความรู้ความสามารถของผู้นำ” อาทิ ทักษิณ ชินวัตร หรือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาเป็นจุดขาย พร้อมขายถึง “แนวอุดมการณ์ และนโยบาย” ที่ชัดเจนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแรงๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศ โดยเชื่อว่า “จะเรียกศรัทธากับประชาชน”

อีกฝ่ายหนึ่งกลับกระหยิ่มยิ้มย่อง และโจมตีว่านั่นเป็น “จุดตาย” ของพรรคการเมืองนั้น ถึงขนาดมีความเชื่อจะทำให้พรรคการเมืองนั้นถูกทำลายย่อยยับ

หรือขั้วหนึ่งเห็นว่า การบริหารประเทศอย่างไร้วิชั่น และไม่มีความสามารถในการควบคุมระบบเศรษฐกิจให้ประเทศพัฒนาไปได้โดยประชาชนส่วนใหญ่มีความหวังในอนาคตที่ดีได้ คือแนวทางที่ผิดพลาด และเรียกร้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ อีกขั้วหนึ่งกลับมองว่า “การแจกเงินให้ประชาชนแบบตรงๆ” ในนามของ “การกระตุ้นกำลังซื้อ” เป็นการสร้างคะแนนนิยมที่ได้ผลกว่า ให้ “ความมั่นใจ” ในคะแนนเสียงมากกว่า

ขณะขั้วหนึ่งเห็นว่า “สิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชน” เป็นเรื่องสำคัญจะต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น อีกขั้วหนึ่งกลับมองเห็น “การสร้างเครือข่ายอภิสิทธิ์ชน สร้างผู้มีบารมีในท้องถิ่นให้กว้างขวางขึ้น” เพื่ออาศัยอำนาจและบารมีนั้นไปดูแลเลี้ยงดู เพิ่มมวลชนที่เกิดความสำนึกในบุญคุณอันต้องกตัญญูมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นฐานเสียงที่มั่นคงกว่า

การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้วยังดำเนินอยู่ต่อไปด้วยความเชื่อมั่นที่ต่างกันนี้

คำถามที่น่าสนใจต้องหาคำตอบให้ชัดคือ

ผู้คนในบ้านเมืองเรา ให้ “ความเชื่อมั่น” หรือเลือกจะใช้ “ความเชื่อมั่น” แบบไหนมาจัดการบริหารประเทศ

เหล่า “นายทุนที่แสวงการผูกขาดผลประโยชน์ของประเทศ” คิดว่า “ความเชื่อมั่นแบบไหน” จะให้ความได้เปรียบต่อพวกเขามากกว่า

เหล่า “ผู้แสวงอำนาจเพื่อเป็นโอกาสในการหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง” เชื่อว่า “ความเชื่อมั่น” แบบไหนที่จัดการให้เกิดขึ้นง่ายกว่า

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “ประชาชนส่วนใหญ่” ของประเทศ อยู่กับ “ความเชื่อมั่นแบบไหน”

ระหว่างเชื่อใน “สิทธิและโอกาสที่เท่าเทียม” จะนำอนาคตที่ดีกว่ามาให้ หรือเชื่อว่า “การอยู่ในความคุ้มครองดูแลของผู้มีพระคุณ” เป็น “หลักประกันของชีวิตจากความเดือดร้อนประจำวันที่จะเกิดขึ้น”

เชื่อมั่นกันแบบไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image