น้ำใจใหญ่กว่าเงิน โครงการดนตรีบาทเดียว

น้ำใจใหญ่กว่าเงิน โครงการดนตรีบาทเดียว เมื่อปี พ.ศ.2531 ได้ตั้งวง

เมื่อปี พ.ศ.2531 ได้ตั้งวง บางกอกแซกโซโฟนควอเตต (Bangkok Saxophone Quartet) เล่นข้างถนนที่ลานแม่พระธรณีบีบมวยผม หัวมุมสนามหลวง ที่สวนลุมพินี เล่นดนตรีข้างถนนมา 10 กว่าปี หาทุนทำเพลงบันทึกเสียง (ซีดี) จ่ายค่าตัวนักดนตรี จ่ายค่าจัดการ โดยหาทุนจากองค์กรผู้ที่สนับสนุน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทใหญ่ กองทุนหลักทรัพย์ ขอทุนจากเพื่อนผู้มีกิน ขอทุนจากองค์กรของรัฐ เป็นต้น เมื่อหันมาสร้างสถาบันดนตรี ได้สร้างวงดนตรีขนาดใหญ่ (80 ชีวิต) ก็ยังใช้วิธีหาทุนแบบเดิม ได้ทุนแล้วเอาเงินไปทำกิจกรรมดนตรี

เวลาผ่านไป 30 กว่าปี วิธีทำงานดนตรีโดยหาทุนแบบเดิมนั้นหมดสมัยแล้ว นักดนตรีรอคอยงานจากทุน คนหาทุนใช้วิธีจอมโจรโรบินฮู้ด (Robin Hood) คือหาทุนจากคนรวยเพื่อไปช่วยศิลปิน เป็นอาชีพเดียวกับโต้โผที่เลี้ยงลูกน้อง ศิลปินเดี่ยวบางคนเป็นขวัญใจแม่ยกก็เพื่อหาทุนสนับสนุน ส่วนวิธีของบริษัทเอเยนซี่นั้น เป็นธุรกิจรับจ้างทำงาน ศิลปินมีชีวิตที่ต้องสมยอม อาชีพดนตรีไม่มีทุนต้องอาศัยอำนาจเงินจากแหล่งทุน

วันนี้สังคมเปลี่ยนไป การหาทุนแบบเดิมมาทำงานดนตรี ทำได้ยากและเหนื่อยมาก คนรวยส่วนใหญ่ก็เป็นคนหน้าเดิม คนจนก็จะมีคนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น แหล่งทุนและองค์กรที่ให้การสนับสนุนทุนดนตรีก็หดหาย เวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน การหาทุนทำกิจกรรมดนตรีก็ต้องเปลี่ยน

ทำไมต้องหาทุนทำงานดนตรี เพราะสังคมไทยไม่มีอาชีพดนตรี ดนตรีมีแต่ “ผู้รักสมัครเล่น” นักดนตรีเป็นพนักงานรัฐ มีเงินเดือนประจำ มีหน้าที่ประโคมดนตรีในพิธีกรรม ทำงานตามหน้าที่ขององค์กร ไม่มีงานดนตรีสร้างสรรค์ มีงานดนตรีตามคำสั่ง ไม่มีนักดนตรีอาชีพ แต่มีดนตรีรับจ้างซึ่งทำงานตามวัตถุประสงค์ของนายจ้าง “เสียงดังตังค์มา” ธุรกิจดนตรีเป็นการทำงานเพื่อขาย ไม่ได้ทำงานดนตรีเพื่อการฟัง คนทำงานดนตรีต้องทำสินค้าเพื่อเอาใจผู้ซื้อและเอาใจเจ้าของธุรกิจ

Advertisement

พ.ศ.2563-2564 วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ได้ทำงานดนตรีสร้างสรรค์ไปแสดงในท้องถิ่นต่างจังหวัด พบว่าคนต่างจังหวัดมีความกระหายดนตรีมากกว่าคนที่อยู่ในเมือง คนในชนบทมีโอกาสน้อย ส่วนคนที่อยู่เมืองนั้น “อิ่มดนตรี” เพราะว่ามีโอกาสมากกว่าและได้ฟังดนตรีที่หลากหลายกว่าด้วย

พ.ศ.2565 วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา แสดงที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วันที่ 24 มีนาคม ร่วมฉลอง 30 ปีมรดกโลก วันที่ 27 เมษายน แสดงที่วัดป่าสัก เชียงแสน วันที่ 26 พฤษภาคม แสดงที่โบสถ์คาทอลิก ท่าแร่ สกลนคร วันที่ 30 มิถุนายน แสดงที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี วันที่ 28 กรกฎาคม แสดงที่วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช และแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2565 ทุกรายการเป็นงานดนตรีสร้างสรรค์และยังใช้วิธีหาทุนมาทำงานแบบเดิม

ได้พบน้ำใจคนรักงานดนตรีที่เชียงแสน พบน้ำใจของชุมชนที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี ได้รับความอบอุ่นจากคนท้องถิ่นที่เมืองลำปาง ทำให้รู้สึกดี กระตุ้นให้คิดวิธีใหม่ในการหาทุน มีเพื่อนผู้รักและเข้าใจในการทำงาน ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ที่ปรึกษาผู้บริหารมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ให้ความเห็นว่า การสร้างสรรค์ดนตรีน่าจะเปลี่ยนวิธีในการหาทุนแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวิธีเก่า

Advertisement

ปีนี้มีรายการพิเศษการประลองวงสะล้อซอซึงและซอพื้นบ้าน จัดที่อาศรมศิลปิน ไร่ผดุงธรรม ลำปาง ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน พ.ศ.2565 ชิงถ้วยพระราชทาน ใช้ทุนในการจัดการสูง มีเงินรางวัลรวม 410,000 บาท ยังมีงานกิจกรรมของวงปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องของผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ซึ่งได้ขยายโครงการออกไปสู่พื้นที่ในภูมิภาคเพิ่มเป็น 5 จังหวัด คือ ที่ราชบุรี ยะลา ลำปาง เชียงใหม่ และอุดรธานี ซึ่งกิจกรรมดนตรีเหล่านี้ดำเนินการโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เข้าไปเกี่ยวข้องทำงาน

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2546 ย่างเข้าปีที่ 20แล้วโดยมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เห็นว่ามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยควรมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมในมิติการศึกษา พัฒนาสังคม สนับสนุนกีฬา ศิลปะและดนตรี ควรช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสและผู้ยากไร้ จึงได้คัดเลือกบุคคลที่สังคมให้การยอมรับในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นใหม่ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนผ่านมูลนิธิที่ได้จัดตั้งขึ้น แล้วจึงนำทุนไปทำกิจกรรมของแต่ละมูลนิธิ

มูลนิธิได้สร้างสรรค์กิจกรรมดนตรี สร้างอาชีพโดยสร้างงานให้นักดนตรี ได้สร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นดนตรี สร้างพื้นที่แสดงดนตรี เปิดโลกทัศน์การทำกิจกรรมดนตรีแบบใหม่ สร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่สังคมและชุมชน สร้างความอบอุ่นและรอยยิ้ม สร้างความหวังให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อให้เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจ ได้พัฒนาช่วยชีวิตคนแก่ให้มีความสุขกับเสียงดนตรี

เมื่อวิธีการขอทุนมาทำงานแบบเก่าหมดยุค หมดคนทำงานวิธีนี้เพราะหาทุนได้ยาก จึงต้องคิดหาวิธีใหม่เพื่อจะหาทุนมาทำงานดนตรีสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ วิธีใหม่จะทำอย่างไร

เมื่อโอกาสเป็นของทุกคนที่สามารถจะเข้าถึงดนตรีได้ การเปิด โครงการดนตรีบาทเดียว เพื่อให้คนที่รักและชอบดนตรีได้เข้าถึงกิจกรรมดนตรี ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ดนตรีไม่มีชนชั้น ดนตรีเป็นสมบัติของทุกคน การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีจึงเป็นเรื่องของทุกคนด้วย “ดนตรีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันทำ”

ดนตรีทำประโยชน์ให้สังคมได้ในมิติต่างๆ อาทิ ดนตรีของผู้ด้อยโอกาส ดนตรีสำหรับเด็ก ดนตรีในสวน ดนตรีเพื่อคนแก่หรือคนพิการ ดนตรีเพื่อการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย การพัฒนาดนตรีของท้องถิ่น เป็นต้น เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมดนตรี ซึ่งเป็นหัวใจของ โครงการดนตรีบาทเดียว

โครงการดนตรีบาทเดียว ทำขึ้นเพื่อจะบอกกับพรรคพวกและแฟนๆ ที่ชื่นชอบว่า สามารถร่วมกิจกรรมดนตรีได้บาทเดียวเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน ช่วยให้ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของสังคม และสังคมมีส่วนร่วมสร้างมูลนิธิ หากจะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กิจกรรมดนตรีก็ทำได้ยากขึ้น

โครงการดนตรีบาทเดียว เป็นการเริ่มต้นและทดลองหาทุนแบบใหม่เพื่อให้สังคมและมิตรรักแฟนเพลงได้มีส่วนร่วม แต่ก็ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องให้เวลากับทุกฝ่าย ทั้งมูลนิธิที่เป็นเจ้าของโครงการ นักดนตรีผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสังคมและมิตรรักแฟนเพลงด้วย

โครงการดนตรีบาทเดียว ด้วยวิธีการขอสนับสนุนคนละบาท เพื่อร่วมกิจกรรมดนตรีของมูลนิธิ หากมีคนช่วย 1,000-10,000 คน ก็คงทำกิจกรรมได้ตามกำลังเงิน แต่ถ้ามีคนชื่นชอบช่วยมาเป็นล้านคน ก็สามารถขยายกิจกรรมดนตรี อาทิ วงปล่อยแก่ได้อีก 2 พื้นที่ ทำงานต่อไปได้อีกปีก็เป็นการทดสอบกิจกรรมดนตรีของมูลนิธิ ว่า “การหาทุนวิธีนี้เป็นผลบวกหรือว่าเป็นผลลบ”

วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ได้แสดงดนตรีในท้องถิ่นต่างๆ มาแล้วหลายพื้นที่ อาทิ ลพบุรี, อยุธยา, กระบี่, พนมรุ้ง บุรีรัมย์, ลำปาง, วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่, วัดป่าสัก เชียงแสน, โบสถ์ท่าแร่ สกลนคร, เพชรบุรี และที่วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช การเสนอดนตรีของท้องถิ่นมาร่วมแสดงเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงซิมโฟนีออเคสตรา การไปแสดงในท้องถิ่นให้ชาวบ้านฟัง ไม่มีบัตรผ่านประตู เป็นดนตรีให้เปล่ากับทุกคน เป็นบทเพลงของท้องถิ่น ผู้ฟังไม่ต้องแต่งตัว นั่งฟังหรือยืนฟังก็ไม่มีใครถือสา ทุกคนสามารถเข้าถึงดนตรีได้

ในปี พ.ศ.2566-2567 หากมิตรรักแฟนเพลงที่มีน้ำใจได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีโครงการดนตรีบาทเดียวมากพอ ก็จะนำวงไทยซิมโฟนีออเคสตราข้ามเขตแดนไปเล่นเพลงของ “ชาวไต” เมืองเชียงตุง(ไทยใหญ่) เล่นที่เมืองเชียงรุ่งในเขตสิบสองปันนา ซึ่งเป็นเครือญาติของคนไทย เล่นที่สิบสองจุไท (ไทยดำ) เวียดนาม เล่นที่หลวงพระบาง พวกไทยน้อย นำวงไทยซิมโฟนีออเคสตราไปเล่นที่เมืองพระนคร (นครวัดนครธม) ต้นตอของวัฒนธรรมเขมรและรากเหง้าวัฒนธรรมไทย แล้วนำวงไทยซิมโฟนีออเคสตราไปเล่นที่เมืองไทรบุรี ที่มาเลเซีย เพื่อรำลึกถึงดินแดนของชาวสยามดั้งเดิม

ดนตรีเป็นกลิ่นของพวกเดียวกัน ช่วยเชื่อมโยงเครือญาติ บอกสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ ดนตรีสร้างความผูกพันเมื่อได้ยินเสียง ได้สัมผัสความรักความอบอุ่นและความสามัคคี เรียนรู้ดินแดนแต่ก่อนที่มีเครือญาติอาศัยอยู่ การได้เล่นเพลงของชาว “ผู้ไต” ทั้งหลาย คงปลื้มและรู้สึกตื้นตันใจไม่น้อย ยังได้โอกาสเปิดโฉมหน้าของเครือญาติที่มีเพลงและวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน เพื่อเป็นสื่อและเชื่อมสัมพันธ์ต่อกัน

ดนตรีเป็นพลังจากเสียงเรียกร้องของหัวใจ พลังที่สร้างมิตร พลังที่อ่อนโยน เป็นพลังของน้ำใจ สามารถกระตุ้นพลังในการสร้างสรรค์งานและจินตนาการ ดนตรีที่มีคุณภาพจึงเป็นเครื่องหมายความเจริญ

โครงการดนตรีบาทเดียวจึงเป็นเรื่องของน้ำใจที่ใหญ่กว่าเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image