สะพานแห่งกาลเวลา : เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-CC/wikipedia)

สะพานแห่งกาลเวลา : เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) มอบรางวัล Champion of the Earth ให้กับ เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ นักเขียน, นักชีววิทยา, นักธรรมชาติวิทยา, นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และพิธีกรภาพยนตร์สารคดีชาวอังกฤษ วัย 95 ปี ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ ธรรมชาติ และโลกของเรา

ทุกครั้ง เซอร์ เดวิด ไม่เคยลืมที่จะบอกผู้ชมทุกคนว่า สัตว์เหล่านั้น โลกรวมกระทั่้งตัวเรา จะตกอยู่ในอันตรายอย่างไร หากธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมถูกทำลายไป

เซอร์ เดวิด เรียนจบสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะเข้าทำงานกับโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษมานับตั้งแต่ปี 1952 ร่วมกันผลิตสารคดีโด่งดังมามากมาย รวมทั้ง The Life Collection, The Green Planet และ A Plastic Ocean ที่สร้างความประทับใจและก่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลก

ภาพยนตร์ทรงคุณค่าของเซอร์ เดวิด กวาดรางวัลมากมายเป็นประจำ จนทำให้เซอร์ เดวิดกลายเป็นคนแรกและคนเดียวในแวดวงที่ได้รับรางวัล BAFTA อันทรงค่าของอังกฤษ ทั้งในยุคขาวดำ, สี, ไฮเดฟ และยุคที่เป็นภาพยนตร์ 3 มิติ

Advertisement

ทั้งข้ามน้ำข้ามทะเลไปคว้ารางวัล Primetime Emmy Awards สำหรับผู้ให้เสียงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกามาอีกด้วย

เซอร์ เดวิดกล่าวหลังรับรางวัลทรงเกียรติจากยูเอ็นอีพี ย้ำว่าโลกต้องลงมือทำในตอนนี้ เพื่อคุ้มครอง ปกปักรักษา ธรรมชาติ และโลกเอาไว้ และยืนยันว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาช่วยทำให้เรายังคงมีความหวังได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเป็นไปได้

“เมื่อ 50 ปีก่อน วาฬอยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่งในทุกที่ทั่วโลก แต่แล้วทุกคนก็ร่วมมือกัน และในเวลานี้ มีวาฬในทะเลให้เห็นมากกว่าเมื่อครั้งไหนๆ ที่มนุษย์เราเคยพบเห็นกันมา” เขาบอก

Advertisement

“เรารู้กันว่าปัญหาคืออะไร และเรารู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร สิ่งที่ขาดหายไปมีเพียงแค่การร่วมมือกันกระทำอย่างเต็มที่เท่านั้นเอง”

อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการบริหารยูเอ็นอีพี บอกว่า ยูเอ็นเลือกเซอร์ เดวิดให้ได้รับรางวัลนี้ เพราะเขาอุทิศตัวเองทั้งชีวิตให้กับการถ่ายทอดโลกและธรรมชาติออกมาให้คนได้รับรู้ ได้เข้าใจและหลงรัก

เธอบอกว่า หากเราอาจจะมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ และความเป็นพิษของระบบนิเวศอยู่ได้บ้าง ก็คงเป็นเพราะคนนับล้านทั่วโลกพากันหลงรักในโลกใบนี้ ที่ถ่ายทอดออกมาให้พวกเขาได้รับรู้ ผ่านงานเขียน ภาพยนตร์ และเสียงบรรยายของเซอร์ เดวิดนี่แหละ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่เขาสร้างเพื่อนำออกเผยแพร่เอง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและวิวัฒนาการ เคยเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ค้นพบ “ดีเอ็นเอ” ในเวลาต่อมา

และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมตัวน้อยที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน ก็ยืนยันกับตัวเซอร์ เดวิดเองว่า เขาคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ บีบีซีรายงานว่า เธอบอกเซอร์ เดวิดในการพูดคุยกันออนไลน์ว่า

“หนูหวังว่าคุณจะเข้าใจว่าคุณได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ขอบคุณที่อุทิศชีวิตให้กับสิ่งนี้”

ในขณะที่เซอร์ เดวิด บอกกับ ทุนเบิร์ก อย่างชื่นชมว่า เธอประสบความสำเร็จในการสร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้ได้อย่างที่ไม่เคยมีผู้ใหญ่คนไหนทำได้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

“ผมซาบซึ้งในสิ่งที่หนูทำลงไปมาก” เขาบอกเธอไว้อย่างนั้น

เซอร์ เดวิด เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับบีบีซีว่า

“จากตอนที่ผมทำรายการทีวีชิ้นแรก มีประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่าตอนนั้นสามเท่า เราไปรุกล้ำโลก และตอนนี้เราเริ่มตระหนักแล้วว่าเราได้สร้างความเสียหายอย่างไรต่อโลกบ้าง”

ก่อนที่จะย้ำเอาไว้ว่า

“ทุกลมหายใจ อาหารทุกคำที่เรากิน ท้ายที่สุดแล้วก็มาจากโลกธรรมชาติทั้งนั้น และหากเราทำลายมัน ก็เท่ากับเราทำลายตัวเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image