การเมืองสั้น การศึกษายาว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจากเดิม พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ว่ายืนยันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรดังกล่าว แต่อาจปรับปรุงบางจุดได้

“เหตุผลที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเพราะจะกระทบการจัดพิมพ์ตำราและเป็นภาระแก่ผู้ปกครองในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่การจะเตรียมการเพื่ออนาคตสามารถทำได้”

“สิ่งที่มีการพูดคุยกันในปัจจุบันคือการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน โดยนำวิธีการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีส่วนร่วมและเป็นผู้กระทำมากกว่า และเพิ่มนวัตกรรมการศึกษาที่ครูและนักเรียนช่วยกันผลิตขึ้นมา”

คำสัมภาษณ์ข้างต้นเป็นของผู้บังคับบัญชา ผู้กำกับการปฏิบัติของฝ่ายกำหนดนโยบาย คือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ประกาศนโยบายและจุดเน้นการบริหารประจำปี 2566 ไปแล้วว่า ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน

Advertisement

เมื่อสองคน สองมุมมอง ผู้คนทั้งในและนอกวงการศึกษาก็งุนงงเป็นไก่ตาแตกละสิครับ ว่าตกลงจะเอาอย่างไรแน่

ปฏิรูปการศึกษาว่าด้วยการปฏิรูปหลักสูตรจะทำหรือไม่ ทำแค่ไหน ระหว่างปรับปรุงแบบยกเครื่องใหญ่ กับแค่ปะผุ เล็กๆ น้อยๆ และทดลองใช้กับโรงเรียนในพื้นที่จำกัดแค่ 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ปัจจัยที่ควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าไปทางไหนดี ต้องย้อนกลับไปดูคำแถลงนโยบายรัฐบาลที่ให้ไว้ต่อรัฐสภาวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 นั่นประการแรก

Advertisement

ข้อ 8.2.1 ปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพของคนทุกช่วงวัยสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

หลักสูตรปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ปรับปรุงเล็กน้อยปี 2560 ล้าสมัยหรือไม่ คำตอบดูได้จากคุณภาพการศึกษาในภาพรวมเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะวัดด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือพฤติกรรม ความคิด ทักษะและสมรรถนะต่างๆ ของนักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็ตาม

การปรับปรุงเพียงแค่ปะผุ กับปรับโครงสร้างดังที่เขียนไว้ในนโยบาย ประการหลังน่าจะเป็นความหวังสำหรับการปฏิรูปการศึกษาไทยมากกว่า

แต่เมื่อผู้บริหารระดับสูงเห็นว่าหลักสูตรยังไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติจึงต้องจำนน และทำตามอย่างเหงาๆ หงอยๆ ต่อไป ผลจะเป็นอย่างไรก็สุดแท้แต่เด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองและสังคมโดยรวมรับไป

สิ่งที่ยกขึ้นย้ำว่า แนวทางดำเนินงานที่ควรจะเป็นก็คือ ให้เน้นเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นสำคัญ

ทำให้เกิดคำถามในเชิงวิชาการว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนกับการปรับโครงสร้างหลักสูตร ควรจะไปด้วยกันอย่างกลมกลืนหรือไม่

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนภายใต้โครงสร้างหลักสูตรเดิมที่มุ่งเน้นเนื้อหาสาระวิชาจนนักเรียนและครูอยู่แต่ในห้องเรียน ไม่มีเวลาสร้างนวัตกรรม ทำกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ เพียงพอ ไม่เกิดทักษะและสมรรถนะด้านอื่นๆ นอกจากท่องจำ ผลลัพธ์จะต่างไปจากที่ผ่านมาตรงไหน

เหตุผลประการต่อมา คือ จะกระทบการจัดพิมพ์ตำราและเป็นภาระแก่ผู้ปกครอง

ครับ รับฟังได้ แต่มีน้ำหนักมากพอให้เห็นคล้อยตามหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ผลที่เกิดกับเด็กเป็นสำคัญ ต้นทุนตำราเดิมที่เสียหายจากการเปลี่ยนหลักสูตร เมื่อเทียบกับโอกาสของเด็ก วันเวลาที่ผ่านไปเป็นต้นทุนที่สูงกว่า เสียหายมากกว่า

ขณะที่ประเด็นภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าด้วยการเรียนฟรีตามสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องหามาตรการช่วยเหลือเยียวยา การยื้อ โยกโย้การปรับโครงสร้างหลักสูตรให้ทันสมัย ผลเสียในระยะยาวมีมหาศาล

ทางออกนอกจากที่ผมเสนอให้พบกันครึ่งทางเมื่อพฤหัสฯที่แล้ว เพื่อให้ความเห็นต่างเรื่องนี้ได้ข้อยุติและเดินหน้าต่อไป

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา น่าจะปิดห้องคุยกันให้หมดเปลือก

ตั้งรับวิกฤตการเมืองเพื่อต่ออายุรัฐบาลเป็นวาระร้อนก็จริง เร่งแก้วิกฤตการศึกษาเพื่อความอยู่รอดของสังคมไทย ได้ผลระยะยาวและเกิดประโยชน์กว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image