บทนำ : วิวาทะ‘รัฐประหาร’

บทนำ : วิวาทะ‘รัฐประหาร’

บทนำ : วิวาทะ‘รัฐประหาร’

มีวิวาทะย่อยๆ เกิดขึ้นระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เริ่มจากคำถามว่า ผู้ว่าฯกทม.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะวางตัวอย่างไรต่อการใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองของประชาชน หากเกิดการรัฐประหาร ผู้สมัครส่วนมากแสดงท่าทีไม่สนับสนุนการรัฐประหาร บางส่วนยืนยันจะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร จะร่วมกับประชาชนคัดค้านการรัฐประหาร สาเหตุที่เกิดคำถามนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุการณ์ในปี 2556-2557 เกิดการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ใน กทม. ซึ่งขณะนั้นมีผู้ว่าฯจากการเลือกตั้ง การชุมนุมลุกลามเป็นการขับไล่รัฐบาล เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เกิดการล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 และภายหลังรัฐประหาร มีการชุมนุมของประชาชน เยาวชน ในสถานที่ต่างๆ ใน กทม.ซึ่งไม่ได้รับความสะดวกจากภาครัฐในขณะนั้น

มีผู้แสดงความเห็นทำนองว่า การรัฐประหารอาจไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคัดค้านต่อต้านไปเสียทั้งหมด เพราะอาจมีการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลที่ไม่ดี และประชาชนอาจให้การสนับสนุนการรัฐประหารแบบนี้ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.จะต้องรับฟัง ถือเป็นข้อโต้แย้งให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารที่น่าสนใจ เพราะรัฐประหารทุกครั้ง จะพยายามหาข้ออ้างที่คิดว่ามีน้ำหนักในความเห็นประชาชน ข้ออ้างยอดนิยมของคณะทหารสมัยก่อนมักอ้างการสกัดการเติบโตของคอมมิวนิสต์ ระยะหลังมักใช้ข้ออ้างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง

จากอดีตถึงปัจจุบัน การรัฐประหารแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ไม่ได้ และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้ ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้ยิ่งลุกลามหนักยิ่งขึ้น การรัฐประหาร 2557 เพื่อปราบทุจริตและปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีประชาชนบางส่วนชื่นชม เฉลิมฉลอง แต่เวลาผ่านไป 8 ปี ไม่มีใครกล้ายืนยันผลสำเร็จของรัฐประหารดังกล่าว ผู้สนับสนุนหลายคนได้ออกมาขอโทษต่อสังคมต่อประชาชนที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การรัฐประหาร ข้อสรุปว่าการรัฐประหารไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ยิ่งเพิ่มความหนักแน่น นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรสนับสนุนให้ใช้กลไกและครรลองประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา อาจจะไม่ทันใจนัก แต่มีหลักประกันว่าอำนาจของประชาชนจะไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มผู้แสวงอำนาจ และเมื่อได้ไปแล้วก็ไม่เคยยอมคืนให้ง่ายๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image