บทเรียนจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯ

ในฐานะที่เป็นคนกรุงเทพฯและทำเรื่องกรุงเทพฯอยู่มากหน่อย ในด้านหนึ่งผมก็เห็นใจเรื่องของการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ “จังหวัด” ทั่วประเทศ แต่การที่บอกว่าขณะที่กำลังมีการรณรงค์เลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ผมเองก็งงอยู่ว่าจะมาตัดพ้ออะไรตอนนี้

คือเรื่องของการกระจายอำนาจและการออกแบบสถาบันทางการปกครองในระดับท้องถิ่นนั้นก็มีการพูดกันมานานแล้ว เผอิญในตอนนี้คนกรุงเทพฯซึ่งชอบคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของประเทศและศูนย์กลางจักรวาลเขาก็ยุ่งๆ กันอยู่นั่นแหละครับ คนกรุงเทพฯกับสื่อกรุงเทพฯเขาเลยไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่

เอาเป็นว่าพวกพี่ๆ จะรณรงค์อะไรก็เป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องเห็นใจคนกรุงเทพฯบ้าง เพราะเขารอการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มาตั้งปีสองปี แถมยังเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นเดียวที่ผู้บริหารท้องถิ่นถูกปลดและแขวนกราวรูดตั้งแต่ ผู้ว่าฯกทม. สภา กทม. และเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หรือยุบแน่ๆ คือสภาเขต เพราะไม่มีในกฎหมายเลือกตั้งเลย อันนี้ถามว่าคนต่างจังหวัดมาช่วยผลักดันอะไรบ้างไหมครับ ขณะที่องค์กรปกครองท้องถิ่นในต่างจังหวัดถูกแขวนแป๊บเดียวก็ได้กลับมาทำงานในช่วงรัฐประหารแทบจะแปดปีเต็ม

ผมยังไม่เห็นพรรคการเมืองและขบวนการทางการเมืองมากนักที่เสนอการปรับปรุงระบบการปกครองท้องถิ่นทั้ง กทม. และต่างจังหวัดที่เป็นประเด็นจริงๆ จังๆ เลยทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร จะมีก็แต่เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งตอนนี้ก็เหมือนจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก เพราะย้อนกลับไปเล่นเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันไปเสียหมด

Advertisement

เอาเป็นว่าตอนนี้หลังจากเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ย้ำว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ผู้ว่าราชการ “จังหวัด” กรุงเทพมหานคร) จบลงแล้ว ก็น่าจะดีที่มาพูดเรื่องการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นไปอีกโดยสร้างแนวร่วมทั้งกรุงเทพมหานคร และพื้นที่นอกกรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพฯเองก็จะได้ไปร่วมกับพวกท่านได้ด้วย อย่างน้อยก็เรื่องง่ายๆ ว่าตกลงจะทำเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัด หรือระบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

เพราะถ้าจะทำเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดให้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะรื้อกฎหมาย พ.ร.บ.กทม.ปี 2528 ไปเสียด้วย ให้ กทม. กลับมาเป็นจังหวัด แล้วก็ยกเลิกสถานะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพราะตอนนี้ในทางบริหารราชการแผ่นดิน กทม.ไม่ได้มีสถานะทางการบริหารแบบราชการภูมิภาค หรือจะให้จังหวัดนอกจากพื้นที่ กทม. กลายสถานะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แล้วก็ยกเลิกสถานะจังหวัดไปซะ

หรือจะหาทางออกในเรื่องนี้ใหม่เลย ที่พ้นไปจากระบบที่เป็นอยู่ แล้วแสวงหาทางออกใหม่เลยทั้งใน กทม.และพื้นที่นอก กทม. ก็น่าสนใจไปอีกแบบ

Advertisement

ส่วนกระผมขอถอดบทเรียนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ในรอบนี้ (ที่ใช้ทั้งคำว่า กรุงเทพฯ และ กทม. สลับไปมาให้วุ่นวายก็เป็นเพราะว่า กทม.มันเป็นพื้นที่บริหาร ที่ติดกับหน่วยงานคือ กทม. แต่กรุงเทพฯมันเป็นชื่อเมืองมาก่อนสมัย กทม. คนกรุงเทพฯไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าคน กทม.สักเท่าไหร่) ผมอยากจะขอพูดในประเด็นเล็กๆ ในประเด็นเดียวก่อนว่า หากจะมีอะไรให้เราคิดเรื่องบทเรียนของการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ในรอบนี้ สิ่งที่น่าจะพูดถึงคือการบริหารจัดการ การปกครอง และการเมืองในพื้นที่เมืองของบ้านเรา

เรื่องนี้ถ้าเป็นสมัยก่อน เราก็คงคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯนั้นคงจะเป็นต้นแบบของทุกการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ในรอบนี้เราพบว่า ในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งในรอบนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หลายคนเองก็เอ่ยถึงตัวอย่างดีๆ ของการบริหารในระดับเทศบาล ซึ่งทำให้เราพบว่าเทศบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น ทั้งในระดับตำบล เมือง และนคร แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ แต่จนถึงวันนี้ก็สามารถสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาในเมืองของตัวเองจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงจากเมืองที่เคยเป็นต้นแบบที่ทุกคนอยากจะเป็น ไม่ว่าจะมีการพูดถึงระบบการจัดการน้ำ ระบบการศึกษา ระบบการจัดการผังเมือง และระบบการจัดการสุขภาพ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากการปกครองท้องถิ่นที่คนพูดถึงกันนั้นจะมีการพูดถึงมานาน และมีความพยายามจะปฏิรูปมันมาหลายครั้งหลายสมัย สิ่งที่ยังพูดกันน้อยก็คือเรื่องของการเติบโตขึ้นของพื้นที่เมืองและการจัดการเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมของพื้นที่เมือง ซึ่งก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของพื้นที่ในท้องถิ่น นั่นก็คือการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นเมือง ส่วนที่เป็นชนบท และส่วนที่เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันระหว่างเมืองกับชนบทในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชานเมือง (Suburban) กึ่งเมืองกึ่งชนบท หรือพื้นที่ระบบใหม่ที่มีระบบนิเวศของตัวเองที่คู่ขนานและอยู่รอดได้เอง (peri-urban) ซึ่งการบริหารจัดการ การปกครอง และการเมืองในพื้นที่เหล่านี้ก็อาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

แม้ว่ากรุงเทพฯจะเป็นเมืองที่โตเดี่ยว แต่กรุงเทพฯไม่ใช่เมืองเมืองเดียวในประเทศไทย ตัวอย่างหนึ่งที่มีความชัดเจนก็คือลำดับศักดิ์ของเมือง ซึ่งแม้ว่าจะวัดกันด้วยตัวชี้วัดหลายแบบ อาทิ รายได้ จำนวนธุรกิจ จำนวนร้านสะดวกซื้อในระดับชุมชน และห้างใหญ่ อุตสาหกรรม และลักษณะของกิจกรรมทางการเมือง สิ่งที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือการวัดด้วยสายตาจากการดูแผนที่สนามบินและจำนวนเที่ยวบินที่สร้างความคึกคักให้สนามบินนั้นๆ ขณะที่สมันก่อนก็คงจะวัดกันด้วยขนาดตลาด จำนวนวัด และการจอดของรถไฟว่าจอดบ่อย จอดนานแค่ไหน

ที่เขียนถึงเรื่องนี้ก็เพื่อจะชี้ว่าเมืองในประเทศไทยนั้นก็มีอยู่หลายแบบ เอาแค่ระบบการบริหารและปกครองเมืองก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสียแล้ว และจะต้องทำความเข้าใจกันอีกเยอะว่าที่มีอยู่นั้นรัฐบาลในระดับเมืองเพียงพอในการแก้ปัญหาและบริหารงานมากน้อยแค่ไหน

พูดอีกอย่างก็คือ กทม.เองก็หานโยบายชนบทได้ยากเต็มทีเช่นกัน แม้ว่า กทม.จะปรับรูปแบบมาจากเทศบาลเต็มพื้นที่ของสองฝั่งจังหวัดมาเป็นเทศบาลนครหลวง

การเลือกตั้ง กทม.ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ซึ่งควรจะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งระดับเทศบาลที่ผ่านมา ทั้งระดับตำบล เมือง และจังหวัด น่าจะทำให้เราเห็นอนาคตของการบริหารและร่วมบริหาร อนาคตของการปกครอง และอนาคตของการเมืองในพื้นที่เมืองได้ไม่น้อยดังเช่นจะลองคิดไล่เรียงอยู่หลายเรื่องดังต่อไปนี้

1.สิ่งที่ควรจะคิดร่วมกันก็คือ อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ในระดับภูมิภาค และอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างน้อยนับตั้งแต่ยุคโควิดเป็นต้นมานี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่เมือง ผู้คน ความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างไร ในรอบนี้อิทธิพลที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เกิดแบบที่เราเคยเข้าใจ คือเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก แต่หมายถึงความเชื่อมร้อยระหว่างอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับการดิ้นรนปรับตัวด้วยเหตุผลทาง
สุขภาวะที่ถูกกำกับโดยรัฐอย่างชัดเจน ในเรื่องของการห้ามนู่นห้ามนี่ ดังนั้น สิ่งที่ควรสังเกตให้ดีก็คือ เส้นเรื่องและข้อเสนอของการแข่งขันในการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนการต่อรองกับผู้ที่เสนอตัวเข้ามาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนนั้นค่อนข้างมีประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะในกรณีของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ

2.ประการต่อมา เราไม่ควรพิจารณาเรื่องของการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบนี้ด้วยคำอธิบายแค่ว่า ผู้สมัครนั้นลงอิสระหรือไม่ และการเมืองในกรุงเทพฯนั้นเป็นอะไรที่จะต้องแตกต่างในแง่การเป็นขั้วตรงข้ามจากรัฐบาลเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากเราต้องเข้าใจพลวัตทางอำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ ด้วย อาทิ เรากำลังเลือกตั้งในช่วงที่รัฐบาลเป็นที่นิยมของประชาชนในพื้นที่นั้นไหม รัฐบาลกลางอาจเป็นที่นิยม หรือหมดความนิยมลงไปแล้ว

3.อีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ ตัวแบบการเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องของการใช้เหตุผลของผู้เลือกตั้งในฐานะเป็นปัจเจกบุคคล แต่ยังหมายถึงพูดถึงการเลือกตั้งในบริบทของรอยแยกทางสังคมของผู้คนในพื้นที่นั้นด้วยว่าพวกเขานั้นเลือกในฐานะเขาเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหนกันแน่ เช่น คนรวย คนจน คนชั้นกลาง ไม่ใช่มีแต่เรื่องของช่วงวัย หรือจุดยืนทางอุดมการณ์เท่านั้น ในช่วงการรณรงค์การเลือกตั้งในรอบนี้เน้นไปที่ความสนใจของรุ่นวัยทางการเมืองมากเสียจนมองไม่เห็นปัญหาของกลุ่มคนที่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

4.การพูดถึงโพลว่าทำนายถูกหรือผิด ผมคิดว่าสังคมไทยยังสนใจแต่เรื่องความแม่นของโพล และพูดกันแต่เรื่องวาทกรรมไม่เลือกเราเขามาแน่ ทั้งที่สิ่งที่ควรจะสงสัยเพื่อให้ได้ความรู้ยังมีอีกมุมหนึ่งก็คือ การชวนและร่วมกันตรวจสอบกระบวนการทำโพลว่าความแม่นยำนั้นมันเกิดจากอะไร แล้วอะไรที่ผิดพลาดไป ทั้งนี้ เราไม่ควรบูชาโพลเหมือนคำทำนายในโลกเก่า แต่ควรมองโพลเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ยังไม่แน่นอน และเมื่อผลไม่ออกมาตามที่เราเข้าไปพยายามค้นหาและทำนาย เราก็ควรจะลองไล่ดูแต่ละจุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการเก็บข้อมูลของเรา และอธิบายได้ว่าด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ไหนที่ทำให้การทำนายมันแตกต่างไปจากสิ่งที่ออกมาจริง

5.การทำความเข้าใจพื้นที่เมืองนั้น เราอาจจะต้องเข้าใจอะไรที่ย้อนกลับเข้าสู่อดีตอยู่บ้าง เพื่อดูพัฒนาการของเมืองและพื้นที่เมืองนั้น อย่างน้อยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงประชากรที่เกิดขึ้น การพูดเรื่องการเมืองในเมืองนั้นถ้าพ้นไปจากการศึกษาและทำนายผลการเลือกตั้ง อาจจะต้องลองทำความเข้าใจเรื่องราวที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น เช่น ในภาพรวมของพัฒนาการของเมืองในประวัติศาสตร์สากลซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์ตะวันตกเสียเป็นส่วนมาก การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่เป็นกระฎุมพี คือ เป็นชนชั้นที่พยายามจะเป็นอิสระจากชนชั้นศักดินา และต่อมาก็เป็นชนชั้นที่มีความขัดแย้งและกินชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพในเมืองซึ่งก็อพยพมาจากพื้นที่ชนบทนั้นทำให้เราเห็นภาพของผู้คนที่หลากหลายและมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราเห็นพลวัตของการเมืองในเมืองได้อีกหลายมิติ และหากเราจะพูดว่ากรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ นั้นมีที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์อย่างไร การทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ความสัมพันธ์ และความขัดแย้งในเมืองนั้นก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญอีกมิติหนึ่งของการศึกษาเข้าใจการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงของการเมืองในเมืองนั้นๆ ไม่ใช่แต่เรื่องของผลกระทบของเศรษฐกิจและการเข้ามาของส่วนกลางเท่านั้น และอาจต้องเข้าใจเพิ่มไปว่าในกรณีของกรุงเทพฯและพื้นที่นอกกรุงเทพฯนั้นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของผู้คนและความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นเป็นอย่างไร

การทำความเข้าใจความเป็นอิสระของกระฎุมพีในเมืองนั้นพอจะทำให้เข้าใจโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมือง และโครงสร้างความสัมพันธ์ของเมืองและผู้คนในเมืองนั้นที่มีต่อรัฐชาติด้วย และยังจะต้องทำให้เราเข้าใจว่าในเมืองนั้นมีผู้คนที่หลากหลาย และอาจจะมีความใฝ่ฝันที่ไม่เหมือนกัน

การเข้าใจความซับซ้อนของสิ่งเหล่านี้ยังจะทำให้เราเข้าใจว่าการเมืองในเมืองนั้นจะเป็นเรื่องของการปะทะ พุ่งชน หรือจะเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่าย (coalition) หรือเป็นเรื่องของการครอบงำ และต่อต้านการครอบงำ-ครองความคิด ของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ทั้งในระนาบเดียวกัน หรือในลำดับชั้นของการมี หรือเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกัน

บางทีก็ไม่รู้ตัวว่ายิ่งพูดถึงคนอื่นที่ไม่ใช่เรา อาจจะยิ่งไปซ้ำเติมสิ่งที่เราหวังดี หรือคิดแทนเขาไปด้วยก็ได้

6.สถานการณ์ของเมืองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของในระดับโลกนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล และเมืองนั้นทำหน้าที่ทั้งการเป็นจักรกลและศูนย์กลางของการเติบโตและแพร่กระจายทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม แถมยังเป็นสถานีแห่งการถ่ายโอน/ครอบงำจากอำนาจรัฐส่วนกลางท่ามกลางการต่อสู้ต่อรองของท้องถิ่นมากบ้าง น้อยบ้าง ตามเงื่อนไขมากมาย ส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นท้าทายก็คือการเคลื่อนที่ และผสม/ไม่ผสมกลมกลืนกันของผู้คนในพื้นที่ ด้วยความต่างเป็นคนที่ต่างถิ่น หรือแม้แต่จะเกิดในเมืองใหญ่ แต่ส่วนมากก็มีรากเหง้ามาจากที่อื่น การก่อตัวของชุมชน และวัฒนธรรมของพื้นที่จึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย และบางครั้งก็ใช้ตัวแบบของการมีประวัติศาสตร์หนึ่งเดียวร่วมกันได้ยาก

เว้นแต่พูดถึงเหตุการณ์ใหญ่ร่วมกัน เช่น ภัยพิบัติ หรือในเชิงบวกก็คือเรื่องของการมีวัฒนธรรมใหม่ๆ ร่วมกันในเมืองนั้น ดังนั้น วัฒนธรรมใหม่ที่จะหลอมรวมผู้คนในเมืองอาจจะต้องมีทั้งในส่วนของเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น การกินอยู่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการเมือง การจัดการความขัดแย้ง และการร่วมกันตัดสินใจและเปลี่ยนเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ

ดังนั้น ประชาธิปไตยในเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ได้ตั้งต้น หรือจบลงที่การเลือกตั้งผู้บริหารเมือง แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของการสร้างสำนึกพลเมือง การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การเข้าใจความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและกินชีวิตกัน การเข้าใจแนวคิดเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่คนเท่ากัน ไปจนถึงการสร้างโอกาส การคำนึงถึงคนอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในวิถีอำนาจแบบโค่นล้ม ทำลายล้างไปเสียทุกเรื่อง

การกำหนดปัญหาและสร้างเครือข่ายในการแก้ปัญหาอาจใช้ได้ในหลายเรื่อง ขณะที่วิถีของการกำหนดปัญหาแต่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนบางกลุ่มในฐานะศัตรูอาจจะสร้างอารมณ์ร่วมและขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มากกว่าได้ความร่วมมือ การสร้างสมดุลของการเปลี่ยนแปลงและการสร้างฉันทามติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่มีก็ยาก มีก็ต้องทำให้เกิดผลเชิงรูปธรรม ด้วยว่าการสร้างฉันทามติร่วมเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

การพูดถึงสิทธิที่จะอยู่ในเมืองและกำหนดความเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city) ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง และสิ่งที่ต้องมีคู่ขนานกันคือความเข้าใจร่วมกันเรื่องของความเป็นธรรมในพื้นที่ (spatial justice) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องเกิดการปะทะประสาน การต่อสู้ต่อรองกันเรื่องความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมที่แต่ละกลุ่มฝ่ายมีความเข้าใจที่ไม่ค่อยจะตรงกัน

ในแง่นี้เมืองสร้างสรรค์ (creative city) จึงไม่ใช่แค่เรื่องของของเล่นหรือแฟนตาซีของชนชั้นสร้างสรรค์ (creative class) แต่ต้องมองว่าเมืองสร้างสรรค์หมายถึงการผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมร่วมในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในเมือง โดยมีเทคโนโลยีและศิลปะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นเพียงเครื่องมือในการใช้ชีวิตที่มีมากมายหลากหลายกว่านั้น และการทำความเข้าใจการดิ้นรน เอาตัวรอดของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายย่อมจะนำมาสู่เรื่องของความสร้างสรรค์ที่กินความลึกซึ้ง กว้างขวางกว่าเรื่องของการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี

เพราะเทคโนโลยีไม่ได้เท่ากับการเสริมอำนาจผู้คนและไม่เท่ากับการเข้าถึงของผู้คนไปเสียทุกเรื่อง

การสนใจแต่ความสะดวกสบาย และการทำให้ความสร้างสรรค์เป็นทรัพยากรของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือวิถีเศรษฐกิจเดียว เช่น การท่องเที่ยว หรือความบันเทิงอาจเบียดขับผู้คนจำนวนหนึ่งออกจากเมืองหรือออกจากย่านได้

ความเข้าใจเรื่องความสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเมืองอาจเป็นเรื่องเริ่มง่ายๆ จากการกำหนดวิถีการมีชีวิตร่วมกันของผู้คนที่หลากหลายและสัมพันธ์กันทั้งพึ่งพากันและเอาเปรียบกัน การแบ่งปันกันจึงเป็นมิติที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างสรรค์ และความอัจฉริยะของเมือง

7.ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าในการบริหารและปกครองเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องแต่การวางผังการใช้ที่ดินและสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองเท่านั้น การสร้างเมืองให้เป็นของทุกคน และให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยข้อตกลงที่เข้าใจร่วมกัน และแบ่งปันกัน และพยายามแก้ปัญหา
หาทางออกร่วมกันคือการกลับไปหาจิตวิญญาณของการเป็น “การเมือง” ในความหมายของการอยู่ร่วมกันเพื่อให้บรรลุศักยภาพของแต่ละคนในเมือง เมืองจึงเป็นกายะทางการเมืองที่มีรากฐานบนเรื่องของการเป็นพลเมือง (city as a political body based on citizenship – ดูประเด็นนี้จาก E.Corijn. 2009. Urbanity as a Political Project: Towards Post-national European Cities. In Lkong and O’Connor, J. eds. Creative Economies, Creative CitiesL Asian=European Perspectives. London: Springer.) ที่มีทั้งเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ และการยอมรับในการร่วมกันสร้างชุมชนนี้ร่วมกัน

ที่สำคัญการบริหาร การปกครอง และการเมืองในเมืองนั้นเป็นโครงการของโครงการ หมายถึงเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดท่ามกลางข้อเสนอโครงการและนโยบายต่างๆ ที่แต่ละคนเสนอ และใหญ่กว่าการออกแบบรูปแบบการปกครองใหม่

แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีของเมืองและสร้างความเป็นพลเมืองไปในเวลาเดียวกัน เราจึงไม่ได้พูดถึงรูปแบบแค่ว่าการมีระบบที่ดีที่สุดเพื่อทำให้คนในเมืองได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

แต่หมายถึงการสร้างทั้งเมืองและพลเมืองไปพร้อมๆ กัน

(หมายเหตุ – งานชิ้นนี้ส่งต้นฉบับในเช้าวันเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงยังไม่เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image