ครูเก่าเล่าตำนาน ศึกษาธิการจังหวัด

มติคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ของรัฐสภา เสนอยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ยุบตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค ทำให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงนักการศึกษาอีกครั้ง

ผลการตัดสินของที่ประชุมรัฐสภาภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป จะออกมาอย่างไรต้องรอติดตาม

ครูนอกราชการ แฟนคลับการศึกษาตัวจริงเสียงจริง สนใจร่วมวงสนทนา ส่งจดหมายสะท้อนความเห็นมาถึงผม ย้อนความเป็นมาของ 2 ตำแหน่งที่ว่า น่าสนใจ

“ในสมัยก่อนประมาณ 50 กว่าปีล่วงมาแล้ว ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ใหญ่โตมาก ครูอาจารย์อย่าหืออย่าอือ เดี๋ยวโดนย้ายแถมเงินเดือนไม่ขึ้น มีครั้งหนึ่งมีงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน มีการแสดงบนเวทีของครูและนักเรียน ครูใหญ่ท่านหนึ่งเป็นศิลปินพื้นบ้านเก่งร้องลำตัด ท่านแสดงบนเวทีร้องลำตัดวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีศึกษาธิการจังหวัดในทางเสียหาย ต่อมาปรากฏว่าครูใหญ่ท่านนี้ถูกย้ายจากโรงเรียนในเมืองไปอยู่โรงเรียนบ้านห่างทางหลวง คือโรงเรียนในถิ่นกันดารห่างไกล แถมเงินเดือนไม่ขึ้นในปีนั้น นี่คืออิทธิฤทธิ์ของศึกษาธิการจังหวัดเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ปัจจุบันศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และครูใหญ่ทั้งสองท่านนี้ ท่านได้ลาโลกนี้ไปเป็นศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และครูใหญ่อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าแล้ว”

Advertisement

“ในระยะต่อมาการพัฒนาโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ มีสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ดูแลการประถมศึกษาโดยเฉพาะ ส่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด (ผอ.ปจ.) มาดูแลการศึกษาระดับประถมศึกษาในต่างจังหวัด ส่วนกรมสามัญศึกษาก็ตั้งผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด (ผอ.สศจ.) มาดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดต่างๆ ช่วงนี้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ท่านจึงหมดหน้าที่ดูแลการศึกษาไปโดยปริยาย”

“ทุกสิ่งคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงการบริหารการศึกษาเป็นระบบเขตพื้นที่การศึกษาบริหารงานในรูปองค์คณะบุคคลเอาประถมและมัธยมรวมกันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในต่างจังหวัดก็มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประถมและมัธยม (ผอ.เขตพื้นที่) มากำกับดูแลบริหารงานตามติความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (คณะ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่) ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ต้องยกเลิกไปด้วยเหตุผลดังกล่าว”

“วันดีคืนดีอยู่ๆ คณะ คสช.ก็ออกคำสั่งมาตรา 44 ปลุกฟื้นคืนชีพตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมา ยุบอำนาจการบริหารบุคคลของ ผอ.เขตพื้นที่และคณะ อ.ก.ค.ศ.ไปให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) อ้างว่าบุคคลในคณะ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ทุจริต ซึ่งอันที่จริงทุกองค์กรก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ใครทำผิดก็ต้องสอบสวนเอาคนผิดมาลงโทษ ไม่ใช่ใครทำผิด เช่น ตำรวจทำผิดต้องโอนอำนาจของผู้กำกับไปให้นายอำเภอ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

Advertisement

“ที่คณะกรรมาธิการการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งเผด็จการของ คสช.ฉบับนี้เป็นการถูกต้องแล้ว เกิดเป็นครูต้องไม่เอาด้วยกับคำสั่งเผด็จการ คสช. ต้องสนับสนุนประชาธิปไตย”

“ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ส่วนใหญ่ท่านมาจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ (ผอ.สพท.) ก็ให้ท่านกลับไปตำแหน่งเดิมของท่านที่ว่าง ถ้าไม่ว่างก็ให้ท่านทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการเขตพื้นที่การศึกษาไปพลางก่อนจนกว่าตำแหน่ง ผอ.เขตพื้นที่จะว่างค่อยแต่งตั้ง สำหรับบุคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ก็โอนกลับไปเป็นของสำนักงานเขตพื้นที่ทุกคน ไม่มีใครตกงานครับ แล้วทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่ปกติเรียบร้อยทุกประการ”

มุมมองของครูเก่า นอกราชการที่ร่ายมา เป็นอย่างไร อ่านได้ไม่ยาก

ที่น่าคิดคือ ตรงกับข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ที่ชี้มาก่อนหน้านี้ว่า ผลการดำเนินงานของหน่วยงานตามโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการรูปแบบใหม่พบว่าไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การปฏิบัติจริงได้

ทั้งนี้ เกิดจากการกำหนดบทบาท หน้าที่ โครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการไม่มีความชัดเจน ซ้ำซ้อน จนนำมาสู่ความเห็นต่าง ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีกระบวนการและขั้นตอนที่ยืดยาว ไม่สอดคล้องกับยุคปฏิรูปที่สังคมต้องการความรวดเร็ว กระชับ ฉับไวและทันการณ์

การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในระบบไม่เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนด ทำให้บุคลากรในระบบได้รับผลกระทบ และเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก

ครับ จุดยืนของครูเก่า กับบทสรุปของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา สะท้อนชัดว่า ปฏิรูปการศึกษาโดยวางน้ำหนักไปที่ปรับโครงสร้างเป็นหลัก ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายให้ผลตกแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image