100 วันทวิวิกฤตโลก! สุรชาติ บำรุงสุข

แทบไม่เชื่อเลยว่า สงครามยูเครนที่เกิดขึ้นจากการการบุกของกองทัพรัสเซียจะดำเนินมาถึง 100 วันในวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา … สงครามยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ จนเป็นดัง “ทวิวิกฤตโลก” ของปัญหาใหญ่ 2 ชุดทับซ้อนกันอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

หากย้อนกลับไปก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสงครามนั้น แทบจะไม่มีใครเชื่อการประเมินสถานการณ์ของทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลยูเครนมาก่อนถึงการเตรียมการทางทหารของรัสเซีย ที่มีแนวโน้มว่าอาจนำไปสู่การเปิดการโจมตียูเครน แต่ดูเหมือนคำเตือนดังกล่าวจะไม่ได้รับการใส่ใจเท่าใดนัก เพราะผู้นำของยูเครนเชื่อว่า หากสถานการณ์การโจมตีเกิดขึ้น ก็น่าจะไม่ใช่การปฎิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ และอาจจะยังมีพื้นที่ของการเจรจาต่อรองเหลืออยู่ … สงครามใหญ่ไม่น่าจะเกิดขึ้น!

รัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปเอง ก็ไม่ได้เห็นคล้อยไปกับทิศทางการประเมินของสหรัฐ และมองด้วยความเชื่อว่า การเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียน่าจะเป็น “การขู่” มากกว่าจะเกิดการใช้กำลังขนาดใหญ่ เพราะรัสเซียอาจจะเป็นมหาอำนาจทางทหาร แต่พลังอำนาจด้านอื่นๆ ของรัสเซีย ไม่ได้มีความเข้มแข็งแต่อย่างใด การตัดสินใจเปิดการรบใหญ่จะเป็นหายนะต่อรัสเซียเอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลยูเครนเอง และรัฐบาลยุโรปอาจจะไม่ได้เตรียมตัวรับสงครามใหญ่เท่าที่ควร โดยเฉพาะรัฐบาลยูเครนแทบจะไม่ได้เตรียมการอพยพประชาชนขนาดใหญ่ หรือไม่ได้เตรียมที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้เป็นแนวป้องกันทางทหารแต่อย่างใด

Advertisement

แล้วในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ สงครามก็เกิดขึ้นจริง … กองทัพรัสเซียเปิดการรุกทางทหารขนาดใหญ่ จนเกิดข้อสรุปที่ตรงกันของหลายฝ่ายว่า สงครามยูเครนคงจะปิดฉากลงในเวลาไม่นานนัก และเคียฟที่เป็นเมืองหลวงน่าจะถูกกองทัพรัสเซียเข้าควบคุม การประเมินเช่นนี้เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบอำนาจกำลังรบของคู่สงคราม ซึ่งโดยการวิเคราะห์พลังอำนาจทางทหารแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่กองทัพและกองกำลังป้องกันดินแดนของยูเครนจะรับมือการเข้าตีของกองทัพรัสเซียที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก

แต่นับจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ปัจจัยของ “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ของยูเครนกลับแสดงบทบาทในการสงครามอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากผู้นำอย่างประธานาธิบดีซีเลนสกี้ ขวัญกำลังใจของประชาชนทุกกลุ่มทุกอายุที่ต้องการเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อป้องกันอธิปไตยของประเทศ ตลอดรวมถึงความมุ่งมั่นของประชาชนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ต้องการกลับเข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียอีกครั้ง และที่สำคัญพวกเขาแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นประเทศยูเครน … ประชาชนยูเครน … เอกราชยูเครน ไม่ใช่ยูเครนที่เป็นของรัสเซียในแบบที่ผู้นำรัสเซียพยายามสร้างวาทกรรมขึ้นเพื่อใช้เป็นข้ออ้างของการทำสงคราม

แน่นอนว่า การยืนหยัดอย่างเข้มแข็งในการต้านทานการรุกทางทหารของรัสเซียได้อย่างยาวนานจนไม่น่าเชื่อนั้น ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของรัสเซีย และเป็นการยืนยันถึงความล้มเหลวของรัสเซียทั้งในทางการเมืองและการทหาร กล่าวคือ เป็น 100 วันที่กองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าควบคุมยูเครนทั้งประเทศ และไม่สามารถเข้ายึดครองเคียฟได้ จนทำให้เกิดการปรับยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่รัสเซียจำเป็นต้องลดระดับความคาดหวังลง ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อรัสเซียไม่สามารถยึดยูเครนได้ทั้งหมด ประธานาธิบดีปูติน จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยการเข้าตีอย่างหนักหน่วงต่อพื้นที่ด้านดอนบาส ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน โดยขยายพื้นที่จากการยึดครองแต่เดิมของรัสเซียจากปี 2014 ออกไปเพิ่ม และหวังว่าหากกองทัพรัสเซียสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ด้านนี้ได้ ก็จะทำให้เกิดรูปธรรมของความสำเร็จที่จะเสนอต่อสาธารณชนชาวรัสเซียว่า ประธานาธิบดีปูตินคือผู้ที่นำชัยชนะมาให้แก่ “มาตุภูมิรัสเซีย” ได้อย่างแท้จริง ดังเช่นที่ประธานาธิบดีสตาลินเคยเป็นผู้นำที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การต้านทานการบุกของรัสเซียอย่างเข้มแข็งของรัฐบาลยูเครนส่งผลให้ชาติตะวันตก รวมทั้งสหรัฐและแคนาดา ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธเป็นจำนวนมหาศาลแก่รัฐบาลยูเครน และอาวุธสมรรถนะสูงของชาติตะวันตกหลายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมากในการยันและผลักดันกองทัพรัสเซียให้เป็นฝ่ายถอยในหลายพื้นที่ แม้ในปัจจุบัน รัสเซียพยายามอย่างมากที่จะยึดพื้นที่บางส่วนกลับคืนมาให้ได้ ด้วยเหตุผลด้านหนึ่งคือ เพื่อสร้าง “สะพานทางบก” เชื่อมต่อจากไครเมียเข้ากับพื้นที่ด้านในของรัสเซีย หรือขยายพื้นที่การยึดครองทางด้านตะวันออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะการได้พื้นที่เช่นนี้จะทำให้ประธานาธิบดีปูตินมี “ชัยชนะที่เป็นรูปธรรม” ที่จะนำเสนอให้แก่สังคมรัสเซียที่ต้องลงทุนอย่างมหาศาลกับสงครามครั้งนี้ โดยเฉพาะการลงทุนด้วยชีวิตของทหารรัสเซียจำนวนมาก อีกทั้งผลของสงครามได้สร้างความเสียหายทางการเมืองต่อภาพลักษณ์ของผู้นำรัสเซียที่วันนี้กลายเป็น “อาชญากรสงคราม” ขณะเดียวกัน ทหารรัสเซียในสงครามยูเครนวันนี้กลายเป็น “นักปล้น-นักฆ่า-นักข่มขืน” ไม่ใช่ “นักรบ” แต่อย่างใด

สถานการณ์ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า สงครามในภาคตะวันออกของยูเครนทวีความรุนแรงอย่างมาก และเปิดโอกาสให้รัสเซียใช้ความเหนือกว่าทางทหารในการเปิดการรุกได้มากขึ้น จนกลายเป็นภาพชัยชนะของรัสเซียในพื้นที่ดังกล่าว แต่หลายฝ่ายก็ประเมินว่า อาจเป็นเพียงชัยชนะทางยุทธวิธี ไม่ต่างชัยชนะเหนือการต้านทานที่โรงงานเหล็กครั้งก่อนในมาริอูโปล

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 100 วันแห่งสงคราม คือ รัสเซียสามารถยึดพื้นที่ของยูเครนได้ประมาณ 1ใน 5 ของประเทศ แต่ก็ประสบความสูญเสียทางทหารอย่างหนัก จนอาจกล่าวได้ว่า เป็น 100 วันของการทำลายอำนาจกำลังรบตามแบบของกองทัพรัสเซียลงอย่างคาดไม่ถึง เพราะรัสเซียเสียทหารและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากในสงครามครั้งนี้ ผลจากสงครามยูเครนทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลงอย่างมาก

ในอีกด้านหนึ่ง เป็น 100 วันที่ผลักดันให้สวีเดน และฟินแลนด์ต้องตัดสินใจสละความเป็นกลาง และขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มเนโต้ อันเท่ากับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเนโต้โดยตรง และทั้งยังทำให้รัฐตะวันตกมีเอกภาพในการต่อต้านรัสเซียมากขึ้น ตลอดรวมถึงการขยายมาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ อันส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตของชาวรัสเซียอย่างหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยด้านลบต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซียโดยตรงในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งยังเป็น 100 วันที่นำไปสู่ 4 วิกฤตใหญ่ของโลก ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร วิกฤตผู้อพยพ และวิกฤตดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีท่าทีว่าสงครามจะยุติลงในเร็ววันแต่อย่างใด จนอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสภาวะ “ทวิวิกฤตโลก” ที่ทับซ้อนกันระหว่างวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตสงครามยูเครน

100 วันแล้ว สงครามยังไม่ยุติ สันติภาพยังไม่มา และสงครามอาจจะยาวกว่าที่คาดคิด … It’s a long war!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image