ที่เห็นและเป็นไป : เกมการเมืองที่แหลมคม

ที่เห็นและเป็นไป : เกมการเมืองที่แหลมคม

ที่เห็นและเป็นไป : เกมการเมืองที่แหลมคม

การต่อสู้ทางการเมืองไทยเข้าสู่ช่วงที่แหลมคมอย่างยิ่งในการให้คำตอบ “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ใครที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดมายาวนาน จะรับรู้ว่าลึกลงไปในความเป็นจริงแล้ว การเมืองไทยเป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่าง “อำนาจข้าราชการ” หรือก่อนหน้านั้นเรียกว่าพวก “เสนาบดี” กับ “อำนาจประชาชน”

ต่างฝ่ายต่างหาทาง อ้างเหตุยึดครองการควบคุมผลประโยชน์ของประเทศ และเมื่อเข้ามาแล้วก็หาทางที่จะสืบทอดอำนาจให้ยาวนานที่สุด

Advertisement

8 ปีที่ผ่านมา “อำนาจราชการ” ใช้กำลังเข้ายึด และเขียนกฎหมายเอื้อการสืบทอดได้สำเร็จ จนเกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นอำนาจที่ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ไม่มีโอกาสที่ “อำนาจประชาชน” จะพลิกฟื้นมาช่วงชิงคืนได้อีกแล้ว เพราะแม้แต่ “พรรคการเมือง” หลายพรรคยังถูกทำให้เป็น “ตัวแทนอำนาจประชาชนแบบปลอมๆ” คือมีแต่ภาพ ขณะที่จิตสำนึกของสมาชิกในพรรคมุ่งรับใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

การจัดการรวมศูนย์การบริหารอำนาจอย่างเด็ดขาดในทุกกลไกที่เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เหมือนเป็นการต่อสู้ที่รู้ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะก่อนที่จะขึ้นเวที และอาจจะรู้เลยไปด้วยว่าชะตากรรมของผู้แพ้จะเป็นอย่างไร

Advertisement

มองในฟากของผู้ครองอำนาจ ชัดเจนถึงความมั่นใจในระดับที่เชื่อว่าแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกฟากของการต่อสู้ การไม่ยอมจำนนคิดชัดเจนไม่แพ้กัน

และหากจะบอกว่าเป็นการไม่ยอมจำนนที่มองเห็นโอกาสแห่งชัยชนะอยู่ไม่น้อยคงไม่ผิด

นโยบาย “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ได้รับการนำเสนอมาพร้อมกับการชี้ให้เห็น “รัฐสวัสดิการข้าราชการ” ที่ใช้อยู่เต็มรูปแบบ โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐอย่างไร

การย้ำถึง “เงินเยียวยาประชาชน” ที่มาจาก “เงินกู้ที่เป็นภาระต่อลูกหลานในอนาคต” กับ “สวัสดิการราชการที่ฝังไว้ในงบรายจ่ายประจำปี” อันส่งผลต่อ “งบพัฒนาประเทศ”

การชี้ให้เห็นถึง “ระบบราชการ” ที่เทอะทะ อุ้ยอ้าย ขณะที่ “ประสิทธิภาพ” ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ระเบียบราชการอันยุ่งเหยิง หยุมหยิม กลายเป็นเงื่อนไขถ่วงรั้งการพัฒนาชาติ

ถูกหยิบมาวางเคียงให้เห็นกับการบริหารที่ซ้ำซ้อนในทุกระดับ เพราะมี 2 ระบบซ้อนกันอยู่คือ กลไกของการรวมศูนย์อำนาจ ในระบบ “ส่วนภูมิภาค” คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับ “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มี “องค์การบริหารส่วนจังหวัด-เทศบาลอำเภอ-เทศบาลตำบล-องค์การบริหารส่วนตำบล”

ทั้ง 2 โครงสร้างแทบจะทำหน้าที่อย่างเดียวกันคือบริหารชุมชน ให้บริการประชาชน

มีการชี้ให้เห็นความไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบการปกครองที่ซ้ำซ้อนเช่นนี้ พร้อมๆ แจกแจงถึงความเหนือกว่าของการกระจายอำนาจ

การต่อสู้เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อตัวแทนของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” อันเป็น “ตัวแทนอำนาจประชาชน” สร้างปรากฏการณ์ที่ชัดเจนถึง “ความสามารถที่หวังได้ในการบริหารจัดการที่มีคุณภาพมากกว่า” ผ่าน “ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

เมื่อเกิดภาพเปรียบเทียบกับ “ตัวแทนอำนาจข้าราชการ” ที่ใช้กำลังยึดอำนาจ และเขียนกติกาสืบทอดอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

การต่อสู้ที่ท้าทาย และแหลมคมกำลังเกิดขึ้นในทุกมิติ

และเมื่อเป็นไปได้ยากที่จะใช้ “รัฐประหาร” มาเป็นคำตอบของการช่วงชิงอำนาจในช่วงนี้

ขณะที่อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเป็นเกมที่ดูจะเป็นภาคบังคับแบบไม่มีทางเลือกอื่น ความแหลมคมยิ่งชัดเจนขึ้นจนที่เชื่อว่า “โครงสร้างอำนาจที่ถูกดีไซน์ไว้เพื่อพวกตัวเองอย่างรอบคอบแข็งแกร่งที่สุดแล้ว” นั้น

อาจไม่ใช่ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” อย่างที่คิด

ในวันที่ข้าราชการชื่นชมยินดีกับ “รัฐสวัสดิการข้าราชการ” อยู่เหมือนเดิม

แต่ประชาชนเริ่มหวังว่างบประมาณรายจ่ายจะจัดเป็นแบบ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เยียวยากะปริบกะปรอยด้วย “เงินกู้” ที่เป็นภาระของลูกหลาน อย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image