บทนำ : ใช้กัญชาให้ถูกวิธี

บทนำ : ใช้กัญชาให้ถูกวิธี

บทนำ : ใช้กัญชาให้ถูกวิธี

การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร Tetrahydrocannabinol, THC หรือสารทีเอชซี เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นมา ทำให้ประชาชนตื่นตัวในพืชกัญชา โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ เพราะเชื่อว่า จะเป็นยาสมุนไพรไทยที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก และอีกด้านหนึ่งในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่า อาจสร้างธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา หรือนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ อาทิ ผสมอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ขณะเดียวกัน เริ่มเกิดกระแสความห่วงใยว่า อาจนำไปใช้ในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้กัญชาในอาหาร เครื่องดื่ม กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย ข้อกำหนดอื่นๆ ก็คือ สถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร อาทิ แสดงข้อมูลว่ามีการใช้กัญชา แสดงรายการอาหารที่ใช้ใบกัญชา แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ เช่น อาหารทอด แนะนำใช้ 1-2 ใบสดต่อเมนู ประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม ใช้ 1 ใบสดต่อเมนู แสดงคำเตือนสำหรับผู้มีความเสี่ยง อาทิ เด็กและวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

คาดว่าหลังจากนี้ จะมีกิจการต่างๆ ใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาในการประกอบหรือผสมอาหารอย่างกว้างขวาง ทางราชการโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่า หากทุกฝ่ายใช้พืชกัญชาด้วยความรู้ความเข้าใจ การปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในทุกด้าน และเป็นผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image