การเมืองจ๋า กม.เป็นหมัน

วาระรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรจะครบ 4 ปีวันที่ 24 มีนาคม 2566 นับแต่เลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 บรรยากาศการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายเลยคึกคัก เข้มข้นเป็นพิเศษ

คอการเมืองเลยชวนเปิดปฏิทินไล่เลียงสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่รัฐสภาเปิดประชุมสมัยแรกปี 2565 วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครบกำหนด 120 วัน วันที่ 22 กันยายน 2565 สมัยสามัญที่สองเริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน สิ้นสุดวันที่ 1 มีนาคม 2566 ก่อนครบ 4 ปีไม่กี่วัน

ห้วงเวลาจากนี้ไป พรรคการเมืองทั้งเก่า ใหม่จึงเร่งสร้างผลงานกันยกใหญ่ ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามประคับประคองตัวให้ผ่านด่านสำคัญๆ ไปได้ทีละเรื่องๆ ด่านแรกเข็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ผ่านวาระแรกไปแล้ว จะนำกลับมาเข้าวาระสองสาม ปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายน

ด่านที่สองตามมาด้วยญัตติขอเปิดอภิปรายไม้ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวม 11 คน รอตกลงวันเวลาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านจะพร้อมวันไหน คาดไม่เกินเดือนกรกฎาคม

Advertisement

แน่นอนว่ายกสุดท้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องใส่เกียร์ถล่มรัฐบาลเต็มที่เพื่อผลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป พร้อมเร่งเดินสายจัดกิจกรรมสะสมคะแนนไปด้วย

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามสร้างผลงานทิ้งทวน ด้วยความหวังและตั้งใจให้ผ่านงานสำคัญ การเป็นเจ้าภาพประชุมประเทศกลุ่มเอเปค วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ไปให้ได้ จากนั้นอะไรจะเกิดก็เกิด

ชัดเจนสุดสุด ก็พรรคภูมิใจไทย ระดมกำลังผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปได้ ภายใต้เสียงวิตกกังวลของหลายฝ่ายจนต้องแก้ลำด้วยการออกมาตรการกำหนดเงื่อนการปลูกและการใช้ แต่ก็เก็บคะแนนไปแล้วที่ผลักดันได้สำเร็จ

Advertisement

ท่ามกลางการแข่งขัน ช่วงชิง และห้ำหั่นกันทางการเมืองตลอดเวลา มีอีกหลายเรื่องที่ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับยังค้างคาอยู่ ทั้งในระดับหน่วยราชการ คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะคลอดออกมาได้แค่ไหน หรือเป็นหมันเสียส่วนใหญ่

นอกจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติซึ่งใช้เวลายกร่าง ทบทวนแล้วทบทวนอีกกว่า 5 ปีเพิ่งเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวาระสองไม่กี่วันที่ผ่านมา ประชุมกันหลายวัน คืบหน้าไปไม่กี่มาตรา

ยังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาอีก 30 ฉบับ เป็นร่าง พ.ร.บ.ตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … ซึ่งฝ่ายค้านพยายามผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาโดยเร็ว ขอแซงคิวร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแต่ก็ไม่สำเร็จ

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กปปศ.) เสนอต่อรัฐบาลตั้งแต่เมษายน 2562 ถึงวันนี้เวลาผ่านไปแล้ว 3 ปียังอยู่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรในขั้นกรรมาธิการพิจารณา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560

สาระเกี่ยวกับการแก้ปัญหาบริหารการศึกษา ความทับซ้อนระหว่างศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ค้างค่าอยู่ ไม่รู้ว่าจะออกได้วันไหน

ร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร 5 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคฝ่ายค้านก้าวไกล เพิ่งผ่านวาระแรกไปได้

สถานการณ์การเมืองช่วงปลายสมัย ความใส่ใจต่อร่างกฎหมายสำคัญต่างๆ เหล่านี้ เป็นไปในลักษณะ ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ช่างมัน แล้วแต่รัฐบาลและสภาใหม่จะหยิบขึ้นมาเสนอหรือไม่ เพราะพรรคการเมืองต่างวางน้ำหนักไปที่การเดินหน้าหาเสียงล่วงหน้าเพื่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงเป็นหลัก การรวมพลังผลักดันกฎหมายสำคัญเพื่อใช้บังคับให้ทันภายในอายุรัฐสภากลายเป็นเรื่องรอง ไร้น้ำหนักมากขึ้นๆ

ขณะที่ กระบวนการยกร่าง พิจารณาและบัญญัติกฎหมายของหน่วยราชการ รัฐบาลและรัฐสภา ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างอืดอาด ล่าช้า ใช้เวลามาก ไม่เคยมีการวิเคราะห์ต้นทุนทุกรายการที่เสียไปกับการออกกฎหมายแต่ละฉบับ และภาพรวมทั้งหมดเป็นอย่างไร

วันเวลาที่ผ่านไปกับปริมาณและคุณภาพกฎหมายที่ออกมา คุ้มกันหรือไม่ จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่

ยิ่งมีกฎหมายที่สำคัญและจำเป็น เป็นหมันมากเท่าไหร่ เป็นความสูญเปล่าของสังคมมากเท่านั้น

ที่สำคัญ พี่น้องประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม ภายใต้กฎหมายและการบังคับใช้ที่เป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image