ล้างมรดก คสช.ไม่สะเด็ด…การศึกษาสับสน

สภาผู้แทนราษฎรมีมติในการประชุมวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 วาระ 2 และ 3 ส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็คือให้โอนอำนาจการบริหารงานบุคคล ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การบรรจุแต่งตั้งให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา

ต้นเหตุที่มาของการออกกฎหมายแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องมาจากการปฏิบัติตามคำสั่งที่ว่านี้มีปัญหามาตลอด ที่สำคัญคือทำให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สาละวน สับสน วุ่นวาย อยู่กับการทำหน้าที่พิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก จนไม่เป็นอันทำหน้าที่หลักในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดเท่าที่ควร

แต่การออกกฎหมายใหม่ก็แก้ไขเพียงแค่โอนอำนาจเดิมของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาที่ถูกยุบเลิกไปเป็นของ กศจ. กลับคืนมาให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น

Advertisement

กฎหมายใหม่ไม่ลงลึกถึงประเด็นหลักซึ่งเป็นหัวใจของคำสั่ง หน.คสช.ที่ 19 นั่นคือ การสั่งยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งระบุไว้ในข้อ 22 ความว่า “การยุบเลิกและการใดที่ได้ดำเนินการไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป”

เมื่อไม่ยกเลิกความข้อนี้ เท่ากับว่าคำสั่งให้ยุบ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ยังบังคับใช้อยู่

ถึงร่างกฎหมายที่ออกมาใหม่จะโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลกลับไปให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาก็ตาม ก็ไม่มีความหมาย ในเมื่อตัวองค์กรยังถูกดองเค็มอยู่

Advertisement

การถ่ายโอนอำนาจกลับคืนที่เดิม กับการฟื้นองค์กรที่ถูกยุบไปให้กลับคืนมา เป็นคนละประเด็นกันนะครับ

นอกจากนี้ร่างกฎหมายใหม่ก็ไม่กล่าวถึงโครงสร้าง องค์ประกอบ ที่มาของกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ที่ควรจะเป็น เหมาะสมกว่าของเดิมควรเป็นอย่างไร เพียงแต่เขียนว่า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด

ฉะนั้นตามขั้นตอนปฏิบัติจึงต้องฟื้นตัวองค์กรกลับคืนมาก่อน จากนั้นค่อยว่าด้วยการคืนอำนาจหน้าที่เดิมกลับไปใหม่

เมื่อเขียนกฎหมายใหม่ไม่ชัด เลยทำให้เกิดความสับสนและสงสัยว่า สรุปแล้ว กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จะฟื้นกลับคืนมาหรือไม่ เมื่อไหร่

หรือปล่อยให้ตีความกันเองว่า ที่กฎหมายเขียนให้โอนอำนาจหน้าที่เดิมกลับคืนให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นั่นก็คือการฟื้นคืนองค์กรทั้งสองที่ถูกสั่งยุบเลิกไป นั่นเอง

ถ้าตีความไปตามแนวนี้ นั่นย่อมหมายความว่า กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จะกลับมาเกิดใหม่โดยปริยาย และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่เป็นอยู่ขณะนี้ยังดำรงคงอยู่ต่อไป

โดยจัดสรรปันส่วน อำนาจ หน้าที่ บทบาทกันใหม่ให้ชัดเจน

สรุปได้ว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับหลักการให้องค์กรทั้งหมดที่กล่าวมา ยังคงอยู่ต่อไปและทำงานร่วมกัน

เสือ เขตพื้นที่การศึกษา กับ สิงห์ ศึกษาธิการจังหวัด ในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ว่างั้นเถอะ

ที่ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.นี้จะถูกนำเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา และที่ประชุมรัฐสภาซึ่งกำลังพิจารณากฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อนำเข้าสู่วาระสองสาม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีผู้เสนอแนวคิดให้ยุบเลิก ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค รวมถึงกรรมการศึกษาธิการจังหวัด จนเกิดการคัดค้านตามมาถึงขณะนี้

ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะตัดสินชี้ขาดประเด็นเห็นต่างเหล่านี้จนได้บทสรุปที่ดี หรือไม่แตะต้อง ปล่อยคาราคาซังไว้ต่อไป จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมรับขอบเขตอำนาจ บทบาท หน้าที่ของตัวเอง แล้วทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น ทำให้คุณภาพการศึกษาเป็นจริงให้ได้

ครับ ประชาคมการศึกษาไทยรอติดตามอย่างมีความหวัง ลดลงไปทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image