ธรรมะ ปัจจัยที่ 5 ของชีวิตที่สุข สงบ

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “ธรรมะ” เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต แต่ในชีวิตจริง เราสนใจกันเพียงปัจจัยสี่ทางวัตถุ สำหรับร่างกาย ชีวิตขาดปัจจัยที่ห้านั้น กล่าวกันว่า “เป็นชีวิตที่ตายแล้ว” และเป็นความสูญเสียยิ่งไปกว่าการตายของร่างกายเพราะขาดปัจจัยสี่ อย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ความมีชีวิตที่ปราศจากธรรมะนั้น เป็นความทุกข์ของแต่ละคน และจะทำอันตรายแก่กันและกัน จนกระทั่งถึงระดับมิกสัญญาเป็นสุขได้ ดังคำสอนของหลวงพ่อจรัญ ตอนที่ 5 ระบุว่า…

ยารักษาจิต มีหลักพระพุทธศาสนา แต่คนไม่สนใจและปฏิบัติ นั่นคือ กรรมฐาน นั่นคือ วิปัสสนากรรมฐานแจ้งด้วยปัญญาญาณ รู้รอบในกองการสังขาร จะได้อ่านตัวออก จะได้บอกตัวได้ จะได้ใช้ตัวเป็น จะได้เห็นตัวตาย จะได้คลายทิฐิ จะได้ดำริชอบจะได้ประกอบกุศล จะได้ผลอนันต์ เป็นหลักฐานสำคัญ เอาตาชั่งขึ้นมาดู เอาตราชูขึ้นมาชั่งฯ

มานั่งกรรมฐานเพื่อให้เห็นตัวเอง ไม่ใช่ว่านั่งเห็น พระพุทธเจ้า เห็นโน่นเห็นนี่ เดี๋ยวจะมาพูดว่า มานั่งวัดอัมพวันตั้ง 7 วัน ไม่เคยเห็นอะไรเลย ไม่ต้องการเห็นอะไรหรอก ต้องการจะเห็นกิเลสของ ตัวเองว่าตัวเองมีกิเลสเท่าไร ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองน่ะมีกิเลสอย่างไร ไปรู้คนอื่นดี คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แต่ตัวเองเป็นอย่างไรการเจริญกรรมฐานต้องการรู้ตัวเอง ไม่ต้องไปดูคนอื่นเขา จึงต้องกำหนด

ว่าเห็นหนอ เห็นด้วยปัญญา ต้องดูตัวเรา รู้หนอที่ลิ้นปี่ รู้หนอว่าเรามีอะไรบ้าง มีอะไรขัดข้องในเทคนิค ในชีวิตเราบ้าง ต้องดูตรงนี้นะ ไม่ใช่ไปดูคนอื่น

Advertisement

เวลาปฏิบัติธรรมก็อย่าได้กังวล ทำให้ชำนาญ อย่าคิดว่าทำได้แล้วเลิกกันไป เหมือนอย่างที่บางคนบอกว่าทำบุญแล้วสร้างศาลาแล้ว สร้างโบสถ์แล้ว เลยไม่ต้องทำ เป็นไปไม่ได้เราต้องอยู่ทุกวัน ทำกรรมฐานได้ปัจจุบันแล้ว อดีตไม่เอา อนาคตไม่เอา ปัจจุบันนั้นแหละตัวจริงอยู่ตรงนั้น อดีตไม่ต้องเอามาคิดอีก ให้มันผ่านไป อนาคตสำคัญมาก ถ้าเราทำปัจจุบันให้ดีอนาคตดีแน่นอน

ขอให้คติธรรมโยมจำไว้ ปากไม่พูด จิตไม่คิดถึง จะเป็นสมาธิภาวนา ปากยังพูด จิตยังคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ รื้อพื้นเรื่องเก่ามาเล่ากันใหม่ โยมจะมีสมาธิไม่ได้ อาตมาพูดมานาน ไม่มีใครตีความตามกฎเกณฑ์วิธีการนี้ไปไหนปากอย่าไว ใจอย่าเบา เรื่องเก่าอย่านำมารื้อพื้น เรื่องของคนอื่นอย่านำมาคิด กิจที่ชอบให้ทำ ปลาในหนองบึงมันว่ายขึ้นน้ำ ไม่ว่ายล่องน้ำเหมือนพวกเรา พายเรือล่องมันสบายใจดีตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ของตน คนนั้นจะไม่ได้กุศล ไม่มีการฝืนใจแต่ประการใด

ผู้ปฏิบัติกรรมฐานโปรดเจาะแต่เรื่องของตัวเอง อย่าไปเอาเรื่องของใครไม่ได้เพราะมากล่าวตลอดรายการ มัวหาเรื่องให้มากขึ้น ทุกข์เราเต็มกระเป๋าอยู่มากแล้ว ทำไมเอาทุกข์จรเข้ามาอีกเล่า เอาทุกข์นอกประเด็นเข้ามาใส่ใจ ไหนเลยท่านจะพบพระ จะเจอแต่แพะจะเจอแต่แกะดำ พบแต่อกุศลตลอดรายการ มีแต่เวรกรรมตามสนอง

Advertisement

คนเราที่จะมาปฏิบัติธรรมนี้แสนจะยาก เอารถไปรากเอาช้างไปฉุดก็ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อชาติก่อนนี้เขามิได้มีนิสัยแบบนี้ เขามีนิสัยห่างเหินจากความดี จึงไม่สนใจมาสร้างความดีในชาตินี้

กระผมไปอยู่กรรมฐาน เจริญธุดงค์ที่บนยอดเขา อยู่กับหลวงพ่อในป่า ฝนตก 7 วัน 7 คืน ไม่ได้ฉันข้าว ปลาขึ้นไปยอดเขาเป็นแถว เขาเรียก ปลาพล่านน้ำ หลวงพ่อใหญ่ท่านบอกว่า ปลามันต้องสวนขึ้นเหนือน้ำ คนเราก็ต้องฝืนใจ ฝืนใจขึ้นภูเขาสูงได้ฝืนใจแล้วสูงกว่าคน ถ้าคนไหนฝืนใจไม่ได้ ปล่อยไปตามอารมณ์ ตามใจตนแล้ว เสียหมด

การปฏิบัติไม่ได้ผล เป็นเพราะเหตุดังนี้ไม่ตั้งใจทำ ไม่ทำติดต่อไปเรื่อยๆ ขาดตกบกพร่องมาก ทำๆ หยุดๆ แล้วก็เลิกไป อ่อนแอท้อแท้ใจ นิวรณ์เข้ามาครอบงำ ไม่เต็มใจทำ ไม่มีศรัทธาไม่ตั้งใจทำ รับรองไม่ได้อะไรเลยอย่างแน่นอนที่สุด คนที่ได้ต้องตั้งใจสนใจปฏิบัติ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรให้มาก ไม่ต้องไปสนใจกับใคร

กรรมฐานสอน ง่าย แต่มัน ยาก ตรงที่ท่านไม่ได้กำหนดไม่ได้เอาสติมาคุมจิตเลย…ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ไม่ได้กำหนดไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น… ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้นฯ

โยมเป็นผู้หญิงไม่ต้องเสียใจ มาปฏิบัติกรรมฐานแทนคุณพ่อแม่ได้ ดีกว่าเป็นชายมาบวชแล้วไม่ทำกรรมฐาน ผู้ใดไม่มีบุญผู้นั้นจะไม่เจริญพระกรรมฐาน ชอบทำแต่สังฆทานผลาญแต่เวลาให้หมดไป คนไหนมีบุญวาสนาจะมาเจริญพระกรรมฐาน เป็นสมบัติของผู้มีบุญคนไร้บุญวาสนาจะไม่มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเลย เพราะเป็นของสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว

ท่านสาธุชนทั้งหลาย เรามาบวชเนกขัมมะ ไม่ใช่บวชชีพราหมณ์ เนกขัมมะปฏิบัติ แปลว่า มาหาความสงบของชีวิต เราสงบจิตของเรา อย่าไปสนใจกับคนอื่น อย่าไปสนใจกับเรื่องที่มันเลวร้ายในชีวิต จะทำให้เสียเวลา

ข้าศึกมันไหลมาทางทวาร 6 ทั้ง 6 ประตูนี้ เราจะได้เอา สมาธิ ปัญญาไปสู้กับข้าศึกที่มันหาญฮึกโจมตีเราทั้ง 6 ประตู เราจะได้รู้ในกายนคร เราจะได้สั่งสอนตัวเองได้ เราจะได้สงบศึก ไม่ไปรบในประตู นั้นๆ เมื่อข้าศึกมันเข้ามา เราก็ไม่ไปต่อตีตามประตูต่างๆ เก็บอารมณ์ไว้ อย่าไปเสียอารมณ์เปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ ตรงนี้น่าคิด

ผู้ปฏิบัติ ต้องเข้าใจอย่างนี้ ต้องกำหนด ส่วนใหญ่ ไม่กำหนดกัน จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอย่างนี้เป็นต้นมีความสุขทางไหนก็ตาม เดี๋ยวจะทุกข์อีก นี่มันแก้ไม่ได้เพราะอย่างนี้เกิดที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่ไปแก้กันที่อื่น หาเหตุที่มาของมัน คือ สติ สติเป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุ เป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผลตัวสัมปชัญญะรู้ทั่ว รู้นอก รู้ใน นั่นแหละคือตัวปัญญา ความรู้มันเกิดขึ้น ตัวสมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้ เช่น เวทนา ปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวด เพราะปวดนี่เราคอยยืดมัน จิตก็ไปปวดด้วย เลยก็กลับกลายให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมาเพราะอุปาทานไปยึดขึ้นมาอย่างนี้เป็นต้น จุดมุ่งหมายก็ต้องการให้เอาสติไปดู ไปควบคุมจิตว่ามันปวดมากแค่ไหนประการใด

ขอฝากไว้กับผู้ปฏิบัติ เสียใจอย่าปล่อยให้มันค้างคืนอย่าให้เลยเป็นอดีต ต้องกำหนดทันทีในปัจจุบัน ขาดกันมากนะ ขาดปฏิบัติตรงนี้ ตั้งสติไว้ให้มั่น
คำว่า “มั่น” คือ ตั้งสติไว้ที่ความเสียใจปักมันลงไปที่ลิ้นปี่ หายใจลึกๆ หายใจยาวๆ ถึงจะได้ผล ไม่งั้นก็กำหนดแต่ปาก จิตมันไม่ถึง สติก็ไม่มี สัมปชัญญะก็ไม่รู้ตัว เลยมั่วกันไปหมด

ไม่ว่าคนฉลาด หรือคนมีสติปัญญาต่ำก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีความศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความเพียรพยายาม มีความอดทน มีสัจจะ และดำเนินรอยตามการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นต้น แต่เรื่องของบุญวาสนา ที่ติดตัวมาแต่อดีต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งฯ

การเจริญกรรมฐาน ต้องทิ้งความรู้หมด เอาวิชาการใส่ตู้หมด อย่าเอาวิชาการมาปะปนกัน ต้องทำเป็นคนโง่ โง่บ่เป็นบ่เป็นใหญ่ โง่ไว้ให้มันผุดขึ้นมาเอง นี่ของจริงอยู่ตรงนี้

จะทำอะไรก็กำหนด จะทำงานก็กำหนด นี่เราต้องทำงานจะหยิบก็กำหนด นี่เป็นกรรมฐาน ทำงานมากมีกรรมฐานมาก ทำงานน้อยมีกรรมฐานน้อย ไม่ทำเลยไม่ได้กรรมฐานเลยนะ ปกติเราก็เดินอยู่แล้ว เดินไปครัวบ้าง เดินลงไปข้างล่าง เดินไปเหนือไปใต้ ก็เอาสติใส่ไว้ที่เท้าไปซิ เดินมีกำหนด ขวาย่างซ้ายย่างไป บ่นว่าไม่มีเวลาเดินจงกรม ไม่มีเวลานั่ง ก็เดินไปเหนือมาใต้ล่ะ ว่าไม่มีเวลาได้อย่างไรก็เอาสติใส่เข้าไปตอนเดิน ตอนนั่งก็สติ ตอนนั่งกำหนดหายใจเข้าออกเอาสติใส่เข้าไป มันหายใจอยู่แล้ว ก็เอาพองหนอ ยุบหนอ เท่านี้เองทำไม่ได้ กลับไปทิ้งกรรมฐาน เลยไม่ได้อะไร

สำคัญผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่กำหนด ไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่าไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น มีหน้าที่การงานต้องสัมผัสอยู่ตลอดรายการ ลิ้นรับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต้องปฏิบัติกำหนดตักอาหารก็ต้องกำหนด เคี้ยวก็ต้องให้ละเอียด กำหนดกลืนด้วย ก็ได้ใจความออกมาว่า ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น อิริยาบถคู้เหยียด เหยียดขาก็ต้องกำหนด เราจะได้รู้อิริยาบถของเรามีกี่ระยะ คู้มามีกี่ระยะ เหยียดออกไปมีกี่ระยะ ถ้าท่านทำช้าๆ ท่านจะเห็นสภาวธรรม ถ้าทำเร็วๆ จะจับไม่ได้ว่ามีกี่ระยะ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องจับจุดนี้ไว้ก่อน ต้องทำจุดนี้เป็นเบื้องต้น จึงจะกำหนดได้

ถ้าท่านโกรธกำหนดเลยนะ ถ้าท่านรู้สึกอยากได้กำหนดเลย รู้สึกเกลียดใครก็กำหนดเลย เป็นวิธีแก้ปัจจุบัน วิธีการแก้ปัญหาที่โกรธ ผูกพยาบาทใคร ก็ต้องกำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าปล่อยให้ค้างคืน ปล่อยให้เลยไปถึงจิตใจ เหมือนโจรเข้าไปในห้องในฉะนั้น มันก็จี้เราได้ เราก็ยอมจำนนมัน โดยวิธีนี้ โกรธหรือ ต้องแก้ปัญหากำหนดเดี๋ยวนี้ อย่าไปผลัดไว้แก้พรุ่งนี้ ผูกความโกรธเข้าไว้ทำให้ใจเศร้าหมอง ตลอดคืนยันรุ่ง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียเวลามาก จึงต้องแก้เดี๋ยวนี้ โกรธหนอ โกรธหนอ ปักจิตไว้ที่ลิ้นปี่ สติรวมไว้ ทำนองเดียวกัน เสียใจก็กำหนดเสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ หายใจยาวๆ ร้อยครั้งพันครั้ง จนกว่าความเสียใจจะหายไป ดีใจเข้ามาแทนที่ทำความดีกันต่อไป เสียใจหนอเสียใจเรื่องสามี เสียใจเรื่องลูก เสียใจเรื่องภรรยา มันจะบอกเราไม่ได้ แต่กรรมฐานบอกเราได้แน่ เราก็กำหนด เสียใจหนอ ที่ลิ้นปี่นี่ ไม่ใช่ที่หัวใจ ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image