การศึกษาหลังยุคพลิกผัน มุมมองจากการศึกษาระหว่างประเทศ

การศึกษาหลังยุคพลิกผัน มุมมองจากการศึกษาระหว่างประเทศ

การศึกษาหลังยุคพลิกผัน มุมมองจากการศึกษาระหว่างประเทศ

ความผันผวนของสังคมโลกทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้คนมีความหวาดผวาและวิตกกังวลในหลายมิติ เช่น มิติการเมืองการปกครอง มิติเศรษฐกิจ มิติวัฒนธรรมและวิถีการใช้ชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลกระทบดังกล่าวมิใช่เกิดในปริบทและปริมณฑลทางสังคมเท่านั้นแต่ยังมีอิทธิพลต่อการศึกษาของสังคมโลก ทุกประเทศจึงต้องหากระบวนการที่มีความสอดคล้องกับความพลิกผันที่จะแก้ปัญหาและ “รับมือ” ความพลิกผันและการกระชากเปลี่ยนนี้

  • หลังยุคพลิกผัน : การศึกษาสร้างโอกาสหรือกดทับ

จากผลการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความพลิกผันและกระชากเปลี่ยนจนทำให้กลายเป็นความปกติของสังคมจากภัยพิบัติดังกล่าว หลายประเทศมีการประกาศให้โรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคประจำท้องถิ่นจึงดูเหมือนว่าการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นเรื่องราวปกติทางสังคม ถึงแม้ว่าหลังยุคพลิกผันจะถูกมองว่าเป็นยุคที่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาแต่ในความเป็นจริงแล้วสภาพทั่วไปของสังคมไม่เหมือนเดิมและความหวาดผวาของผู้คนยังหลงเหลืออยู่

หลายคนมองว่ายุคหลังพลิกผันทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น มีหลักสูตรลักษณะ Sand box เพื่อเป็นการเทียบหรือโอนความรู้ในวิชาได้เร็วขึ้น การจัดการเรียนรู้หลายลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อความรู้มากขึ้น แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่ามีความกดทับเช่นเดิมเพราะนโยบายทางการศึกษายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาที่ยังติดกับดักในการลอกเลียนไม่ได้ตระหนักถึงปริบททั่วไปของสถานศึกษานั้นที่อยู่ในชุมชนสังคมนั้น ความรู้สึกของครูผู้สอนเปลี่ยนแปลงไปความผูกพันที่เคยมีใกล้ชิดดูเหมือนว่าห่างเหินขึ้น หันมาชำเลืองดูในระดับอุดมศึกษาจะเห็นว่า บางมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการการสอนแบบไม่บังคับเข้าชั้นเรียนปรากฏว่า บางกระบวนวิชาไม่มีผู้เรียนมาเรียนเลยอาจจะมีผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่กดทับด้วย

นอกจากนี้ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นในการบริหารจัดการของคนที่ถูกเรียกว่า “ครูบาอาจารย์” ยังมีความวุ่นวาย สุดท้ายการกดทับหรือบาปทางการศึกษามาถึงผู้เรียนโดยไม่รู้ตัว

Advertisement
  • มุมมองการศึกษาระหว่างประเทศ : ร่วมคิดผลิตกระบวนการ

หันกลับมามองด้านการศึกษาซึ่งทุกภูมิภาคของโลกต่างต้องกลับมารื้อฟื้นและปรับกระบวนการผลิตข้อความรู้ที่ทำให้สถานศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งกับช่วงยุคนี้ ผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านการศึกษาพื้นฐานและการศึกษาระหว่างประเทศมีมุมมองเพื่อการศึกษาไทยดังนี้

1 ด้านนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบการศึกษาต้องตระหนักและให้ความสำคัญเห็นคุณค่าในวิชาชีพครูที่ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงมีลักษณะความเชี่ยวชาญ (Professional) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกสถานศึกษาต่างพยายามนำนวัตกรรมด้านการศึกษาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากมาย ซึ่งเห็นได้ว่านวัตกรรมด้านการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีนั้นจะต้องมีความร่วมมือของครอบครัวและชุมชนเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ ดังนั้น ต้องมีนโยบายที่จะให้ครูทำงานเป็นทีมมากขึ้น มีอิสระในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ (Unit ofLearning) และจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติไม่รู้สึกวิตกกังวล (Panic) สร้างสภาพการทำงานที่เอื้อต่อการดำเนินการที่เป็นอิสระและสามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันของครูผู้สอนได้อย่างมีความสุข

2 ด้านผู้ที่มีส่วนร่วม ซึ่งหมายถึงผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกคนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ครูผู้สอนรวมถึงผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญสนับสนุนสิทธิและการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น ทุกคนต้องเข้าใจและเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รูปแบบการจัดการศึกษาต้องสร้างพลังร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้มีความผูกพันกับชุมชนมากขึ้นเชื่อมโยงใจผู้เรียนให้มีความรู้สึกถึง “อ้อมกอดบ้านเกิด” พื้นที่ของชุมชนคือพื้นที่อ่างความรู้ที่มีคุณค่ามากที่สุด

นอกจากรัฐและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบายแฝงใดๆ ทั้งสิ้น ต้องมีการแจกจ่ายและพัฒนาสื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีหรือแอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ที่ให้ครูผู้สอนและผู้เรียนเข้าใช้ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย กล่าวตามความเป็นจริงคือรัฐต้องกล้าลงทุนทางด้านการศึกษามากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญในการจัดหลักสูตรการเรียนรู้โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความฉลาดรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงและองค์/ข้อความรู้ที่จะช่วยให้สามารถสร้างความเข้าใจในจุดยืนของตนเองกับโลกที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ การจัดการเรียนรู้ในทุกระดับทุกรูปแบบต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสันติศึกษากับโลกที่เปลี่ยนแปลง (How to handle peace with the changing world) ด้วย

3 ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกรัฐชาติต้องมีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษาการขยายสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อบริบทของสังคมโลกในปัจจุบันที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการประชุมปรึกษาหารือนี้ต้องมีเนื้อหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเชื่อมต่อและโยงใยสถานการณ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี การเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่าง การศึกษาของประเทศลาวในช่วงยุคหลังพลิกผันครูต้องมีการฝึกอบรมการจัดการเรียนรู้ทางด้านทรัพยากรเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้กับการศึกษาได้อย่างมีความสุข สถานศึกษาเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกให้ผู้เรียนเกิดความสามัคคีและภราดรภาพทางสังคมมากขึ้นเพราะในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 สังคมลาวและสังคมทุกรัฐชาติสามารถเรียกได้ว่า “สังคมดอกไม้เหี่ยว” นอกจากนี้ การจัดการเรียนรู้ในประเทศลาวจะส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีพรสวรรค์ช่วยแนะนำช่วยติวให้เพื่อนหรือที่เรียกว่าเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นเหมือนเดิม ในขณะที่ประเทศเวียดนามมีการปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับพื้นที่และการลดเนื้อหาบทเรียนบางส่วนที่เกินความจำเป็นในการเรียนรู้ มองไปไกลถึงประเทศออสเตรียหลังยุคพลิกผันมีการสร้างหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนได้นำไปประกอบอาชีพมากขึ้นเช่น หลักสูตรทางด้านวิศวกรรมในระยะสั้นซึ่งมีการเรียนทั้งแบบ Dual system และ Dual study ดังนั้น ทำให้เห็นว่าทุกรัฐชาติต่างมีความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการออกแบบการเรียนรู้ออนไลน์ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียนและสถานการณ์ทางสังคมมากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลของทุกรัฐชาติต้องร่วมมือกัน (Cooperation) เพื่อเพิ่มความภราดรภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย สร้างความเป็นหนึ่งในเชิงกระบวนการที่มีรูปแบบและการดำเนินการที่เหมาะสมสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ มีการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในระดับนานาชาติ จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมโลกมีการใช้ “อำนาจที่ขาดความสมดุล” และมิติทางสังคมยังไม่กลมกลืนกัน (Incompatible) ดังนั้น รัฐบาลของทุกรัฐชาติต้องสร้างภาคีร่วมมือกันให้มากขึ้นในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่มีประโยชน์ต่อความเป็นมนุษยชาติ (Humanization) ที่ยั่งยืน

  • บทสรุปสัญญาที่ต้องทำ

ข้อเสนอแนะที่เป็นมุมมองเหล่านี้อาจจะมีส่วนทำให้การศึกษาไทยเห็นแสงสว่างที่จะไม่ทำให้เกิดสภาพที่มืดหายไป หากผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาทุกระดับมีการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและการดำเนินการจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมถึงผู้เรียนและผู้มีส่วนร่วมจะทำให้การศึกษามีความคงอยู่ได้และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การตื่นตัว การตั้งรับ การสรรค์สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยยืดหยุ่นเข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาในอนาคตจะเป็นรูปแบบใดสิ่งที่เราทุกคนและทุกรัฐชาติต้องตระหนักคือการเปลี่ยนแปลงพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่และกล้าที่จะเริ่มต้นและที่สำคัญยอมรับในการเปลี่ยนแปลงนั้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลง “หัว” ของผู้นำ !!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image