สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ฉันทามติ’ (ฝั่งโน้น) ที่หายไป

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ฉันทามติ’ (ฝั่งโน้น) ที่หายไป ผลการลงมติไว้วางใจนายกฯ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ฉันทามติ’ (ฝั่งโน้น) ที่หายไป

ผลการลงมติไว้วางใจนายกฯ-รัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎร หรือภาพน้องๆ นักเรียนเข้ามาสวมกอด “ลุงตู่” ขณะ “ลงพื้นที่” อาจเป็นเพียง “มายา” ทางการเมือง

ขณะที่ “ปัญหาจริง” ที่สลับซับซ้อนกว่านั้น คือ เรื่องการพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี

สำหรับเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง

การตั้งต้นด้วยสูตร “หาร 100” ก่อนจะพลิกไปเอาสูตร “หาร 500” (ในการพิจารณากฎหมายวาระที่ 2) แล้วพยายามหวนกลับสู่สูตร “หาร 100” อีกรอบ ด้วยเกมล้มประชุมสภาหลายครั้งหลายคราว

Advertisement

นั้นแสดงถึงอารมณ์แปรปรวนเรรวน ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การอ่านเกมไม่ขาด และแผนงานทางการเมืองอันไม่เป็นระบบระเบียบ ของแผงผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่อบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

เพราะกาลครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ เคยเป็นคนทุบโต๊ะที่จะเอาสูตร “หาร 500” ท่ามกลางความงุนงงของหลายฝ่าย (แม้แต่คนในซีกรัฐบาล)

Advertisement

ก่อนที่ต่อมา นักการเมืองรุ่นเก๋าจากพลังประชารัฐเองนั่นแหละ จะเริ่มโยนหินเรื่องสูตร “หาร 100” กลับมาอีกรอบ หลังจากสภาเพิ่งยกมือเห็นด้วยกับสูตร “หาร 500” ตามการชี้นำของผู้นำประเทศไปไม่นาน

แล้วท้ายสุด ทิศทางการเมืองก็กำลังเดินหน้าไปสู่สูตร “หาร 100” จริงๆ

พร้อมกับคำถามที่ว่า “ความเป็นผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรีนั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหน?

เช่นเดียวกับประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกฯ ที่อาจครบกำหนดในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงอันเนื่องมาจากความคลุมเครือไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ 2560

แรกเริ่มเดิมที เรื่องดังกล่าวคล้ายจะไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล เพราะเป็นการจุดประเด็นของฝ่ายค้าน ขณะที่องค์กร ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดปัญหาข้างต้น ดูจะถูกจัดกลุ่มอยู่ตรงอีกฟากฝั่งหนึ่ง ในสมการการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

ทว่าเมื่อเวลาเดินหน้าเข้าใกล้วันที่ 24 สิงหาคม 2565 มากขึ้นตามลำดับ เสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรก้าวลงจากเก้าอี้ผู้นำประเทศได้แล้ว กลับไม่ใช่เสียงของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เสียงของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เสียงของคนเสื้อแดง-เสื้อส้ม ไม่ใช่แม้กระทั่งเสียงของบรรดาคนรุ่นใหม่ ที่ลงไปประท้วงบนท้องถนนตลอดหลายปีหลัง

แต่กลับเป็นเสียงของคนที่ “น่าจะเป็น” หรือ “เคยเป็น” แนวร่วมของนายกรัฐมนตรี (ไม่ว่าพวกเขาจะเคยสวมเสื้อเหลือง เป่านกหวีด หรือเคยทำทั้งสองอย่างก็ตาม)

ในสายตาของคนกลุ่มนี้ ดูเหมือนการดำรงตำแหน่งต่อไปของนายกฯ กำลังจะส่งผลเสียหายใหญ่หลวง-ระยะยาว ต่อขั้วการเมืองของพวกตน

แม้ ณ ปัจจุบัน เสียงเหล่านี้จะยังไม่ใช่ “เสียงชี้ขาด” หรือ “เสียงหลัก” ของชนชั้นนำ-ฝ่ายขวาไทย

อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องของพวกเขาที่พุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ก็บ่งชี้ให้เราประจักษ์ชัดถึงภาวะ “เสียงแตก”

นี่หมายความว่า “ฉันทามติ” ของผู้คนในขั้วการเมืองหนึ่ง ที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รัฐประหาร คสช. และรัฐบาลพลังประชารัฐ อย่างเป็นปึกแผ่น-พร้อมเพรียง เพราะมองเห็นความหวังบางอย่างในช่วงปี 2557-2562 นั้นได้ค่อยๆ เลือนหายไป

และอ่อนแอผุพังลงอย่างชัดเจน

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image