เด็ก 3 คน 3 นามสกุล

เด็ก 3 คน 3 นามสกุล

เรื่องราวของเด็ก 3 คนที่มีแม่คนเดียวกันแต่ต่างพ่อ 3 คน ใช้นามสกุลของพ่อที่ให้กำเนิดไม่เหมือนกันเลย มีสภาพปัญหาที่วิกฤตรุนแรงยิ่ง พี่สาวคนโตอายุราว 15-16 ปี มีนายตำรวจรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม น้องคนกลาง แม่แต่งกับอีกพ่อหนึ่งอายุ 11 ปี ชื่อเล่น ดิว (นามสมมุติ) กำลังศึกษาอยู่ชั้น ป.5 และน้องคนเล็กชื่อ ชัด (นามสมมุติ) แม่มีสามีใหม่เกิดลูกด้วยกัน อายุ 9 ปี เรียนชั้น ป.3 เด็กชาย 2 คน ดิวกับชัด เป็นเด็กถูกทอดทิ้งอาศัยอยู่กับพระเจ้าอาวาส และแม่ชีที่ป่วยเป็นมะเร็งในวัดที่ห่างไกล สภาพชนบท จังหวัดแห่งหนึ่ง ช่วยเลี้ยงดูให้รอดอยู่จนทุกวันนี้ ชีวิตของน้อง 2 คน เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง แม่เดียวกันต่างพ่อต่างนามสกุล แต่ใช้ชีวิตเยี่ยงเด็ก อดมื้อกินมื้อ ไม่มีมุ้งกันยุง เนื้อตัวมอมแมม นมขนมไม่มีจะกิน ผอมโซ แม่หอบลูก 2 คน ฝากเพื่อนไว้ สัญญาจะมารับกลับโดยเร็ว สุดท้ายก็หายตัวไป เพื่อนที่มีฐานะไม่สู้ดีอยู่แล้ว ไม่สามารถเลี้ยงได้ตลอดรอดฝั่ง เด็กต้องหลุดจากการศึกษาไปปีเศษ จำเป็นต้องส่งสถานสงเคราะห์ สุดท้ายชุมชนที่เด็กอยู่ทราบเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลไกชุมชนที่แน่นแฟ้น บ้านวัดโรงเรียน เข้าไปโอบอุ้มเด็กชายทั้ง 2 คน คนละไม้คนละมือ ได้ขอให้เจ้าอาวาสช่วยอุปการะเด็ก 2 คน เป็นลูกศิษย์วัด อาศัยข้าวก้นบาตร ท่านมีเมตตา กล่าวว่า “อาตมาเลี้ยงหมาแมวไว้ในวัดหลายตัว ลูกคนจริงๆ ทำไมจะเลี้ยงดูไม่ได้” ท่านรับเด็ก 2 คนไว้และขอให้แม่ชีท่านหนึ่งช่วยดูแลอบรมสั่งสอน แม่ชีเล่าว่า “ตอนเจอ 2 คน ครั้งแรกคือตัวเล็กมาก ผอมซูบ ตัวมีแต่ผื่นเต็มไปหมด เห็นแล้วก็สงสาร รู้สึกว่าต้องดูแลเขา คิดว่าเขามาพึ่งเรา”

การมาอยู่วัดทำให้เด็กค่อยๆ ฟื้นคืนชีวิตได้ เช้าไปช่วยพระบิณฑบาต ช่วยล้างถ้วยล้างชาม ซักเสื้อผ้า กวาดใบไม้ลานวัด ทำกับข้าวง่ายๆ ให้เป็น การดูแลตนเอง ทักษะชีวิต ให้ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง เด็กทั้ง 2 คน เชื่อฟังเป็นอย่างดี ซุกซนประสาเด็ก ทะเลาะกันบ้าง แต่ก็กลับมาคืนดีกัน อย่างไรก็ตาม ชัดน้องคนเล็กรู้สึกปวดหัว อาเจียน ไข้สูง ถูกส่งโรงพยาบาลตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเดือน ออกมาแล้วยังไปๆ มาๆ ทุกเดือน มีทำคีโม ค่าใช้จ่ายสูงมาก เกินกำลังวัด มีการปรึกษาหารือในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านได้ริเริ่มเกิดกองผ้าป่าใหญ่หมู่บ้าน คนในชุมชนยินดีช่วยลงขันค่ารักษา ค่าเดินทาง พอเด็กจะไปโรงพยาบาลทีหนึ่งก็รวมเงินกันให้มา ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่าท่านมีเงินติดกัณฑ์เทศน์จะเก็บไว้ช่วยชัดตลอด ครั้งสุดท้ายจะต้องมีค่ารถไปกลับโรงพยาบาลในเมือง 2,000 บาท ยังไม่มีเลยแต่วันนั้น กสศ. อนุมัติเงินช่วยฉุกเฉินวิกฤต 3,000 บาท ท่านบอกว่า “ได้ใช้เงินก้อนนี้ ช่วยเด็กได้ทันท่วงที ทำบุญด้วยกัน” สภาพปัจจุบันชัดอาการดีขึ้นตามลำดับ

Advertisement

ในส่วนของโรงเรียน ครูเค้ก (นามสมมุติ) เล่าว่า ดิวและชัดเข้ามาเรียนตั้งแต่ยังตัวน้อย ตั้งใจเรียนดีแต่ขาดเรียนบ่อย ดิวไม่ถนัดงานวิชาการ มีปัญหาการเรียนรู้อยู่บ้าง เด็ก 2 คน ชอบเรียนวิชาภาษาไทยกับสังคมศึกษามาก ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนปิดเรียนเป็นปี เด็ก 2 คน ต้องเรียนแบบ On hand เท่านั้น เพราะไม่มีมือถือและ Wi-Fi มารับใบงานที่โรงเรียนครั้งคราว โดยครูเค้กเล่าว่าโรงเรียนที่สอนอยู่มีเด็กเพียง 56 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ 15 คน ครูทุกคนใกล้ชิดเด็ก เอาใจใส่เด็กเป็นอย่างดี ช่วยกันดูแลพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นจนปัญหาลดลงไปได้มาก สำหรับชัดมีโรคประจำตัว พี่ชายดิวต้องเผชิญความเสี่ยงการหลุดจากรอยต่อการศึกษาช่วงขึ้น ป.6 ขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โอกาสมีน้อยมากจะเรียนต่อโรงเรียนขยายโอกาสหรือบวชเป็นเฌรศึกษาโรงเรียนพระปฏิบัติธรรม กรมการศาสนาที่ฟรีทุกอย่างทั้งอาหารที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่ที่การตัดสินใจของดิวเป็นสำคัญ ครูกล่าวสุดท้ายว่า “ทุนที่เด็กได้รับตั้งแต่ทุนเสมอภาคที่ กสศ.มอบให้ หรือทุนอะไรก็ตามที่เข้ามาเติมทุกบาททุกสตางค์นับว่ามีค่ากับเด็กๆ มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ทุกอย่างมันเป็นอุปสรรคที่ดึงให้เด็กเสี่ยงหลุดได้ตลอดเวลา ยิ่งคนไหนครอบครัวไม่สมบูรณ์ เงินส่วนนี้ยังสามารถช่วยเหลือเขาในเรื่องอื่นๆ ได้อีก”

Advertisement

เด็ก 3 คน 3 นามสกุล เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย น้องดิวและชัดล้วนสะท้อนปัญหาสำคัญหลายประการ คุณแม่วัยใสแต่งงานมีลูกในวัยเด็ก แต่งแล้วเลิก มีลูกติด แต่งใหม่มีลูกแต่ละครั้งกับพ่อใหม่ พึ่งพิงสามี สุดท้ายเลิกรากันไปและต้องทิ้งหรือปล่อยปละละเลยลูกตนเอง เกิดครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ความรุนแรงในครอบครัว ท่านเจ้าอาวาสเล่าว่า “พ่อเด็กเตะแม่จนกรามหักครั้งหนึ่งเข้ามาในวัดจะเอาลูกคืน เด็กกลัวมากวิ่งหนีแอบซ่อนมาอยู่หลังอาตมาให้ช่วย สุดท้ายหลายฝ่ายช่วยกันพูดจนพ่อเด็กยอมให้อยู่ที่วัด ทางวัดช่วยกันตามแม่เด็ก แต่ไม่รู้อยู่ที่ไหน หายสาบสูญไปเลย” ครอบครัวไทยเปราะบางทิ้งลูกหลานอยู่กับปู่ย่าตายายเต็มไปหมด “ครอบครัวแหว่งกลางเพิ่มขึ้นเกือบ 50% โรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบควบรวมกว่า 15,000 โรง ความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ปี พ.ศ.2564 มีเด็กหลุดกลางคันช่วงรอยต่อ 238,707 คน ทุกสังกัดเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า จากภาวะครอบครัวตกงาน ยากจน เลิกจ้าง รายได้ลดลงกว่า 2.4 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม มุมดีเกิดขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน ชุมชนบ้านวัดโรงเรียนเข้มแข็งสามารถเลี้ยงดูเด็กรอดมีชีวิตที่ดีได้ ครูทุ่มเทอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาส แม่ชี อาสาสมัคร เป็นกลไกเข้มแข็งอย่างดี มีกองทุน กสศ.เข้ามาช่วยเหลือช้อนเด็กในท่ามกลางวิกฤตปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกวัน

ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

(กสศ.) ริเริ่มให้มีโครงการนี้ด้วยความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายฝ่าย ปตท. เอสโซ่ มิตซูบิชิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอื่นๆ พิจารณาช่วยเหลือเด็กที่หลุดการศึกษาไม่เกิน 1 ปี ให้กลับมาศึกษาต่อได้ รวมทั้งมีผู้จัดการรายกรณี (Case manager) เป็นครูอาสาสมัครช่วยค้นหาเจาะลึกเด็กที่วิกฤตมีปัญหามากมายทับซ้อน จำเป็นต้องช่วยเหลือเร่งด่วน มิฉะนั้นเด็กต้องหลุดจากการศึกษาแน่นอน ปัจจุบันดำเนินการนำร่องใน 4 จังหวัด คือ ยะลา พิษณุโลก ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างรูปแบบตามบริบทของพื้นที่แต่ละแห่งในการเข้าถึงช่วยเหลือได้ทันท่วงที และจะขยายต่อไปในจังหวัดอื่นๆ สำหรับดิวและชัดได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนเป็นเงินคนละ 21,000 บาท แยกเป็นเงินช่วยเหลือเร่งด่วน 3,000 บาท ค่าชุดนักเรียน ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การเรียน 10,000 บาท ผู้ปกครองไม่มีรายได้แน่นอน บางครั้งเด็กขาดเรียน ไม่มีค่าขนมอาหาร จำนวน 6 เดือน เดือนละ 1,500 บาท ค่าน้ำมันรถ 400 บาท เป็นต้น กองทุน กสศ.ยังสามารถช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ถึง 36,000 บาท ที่เด็กร้องขอความช่วยเหลือที่วิฤตหนักกว่าเดิมได้

อย่างไรก็ตาม กรณีน้องดิวและชัด เป็นตัวอย่างความร่วมมือเชิงข้อมูลที่แม่นยำ ลงพื้นที่ทันทีเมื่อรู้สภาพปัญหาเด็กและครอบครัว การบูรณาการเชิงพื้นที่ 4 กระทรวงหลัก กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของศึกษานิเทศ ศึกษาธิการจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเด็กจำนวน 77 คน ที่เข้าช่วยเหลือแก้วิกฤตปัญหาจนเด็กไปต่อได้ นี่คือคุณูปการของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกันแก้ไขกับ กสศ. โอกาสเด็กเปราะบาง ยากจน เสี่ยงหลุดออกกลางคัน จึงถูกยกระดับให้ดีขึ้นได้

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image