สถานีคิดเลขที่ 12 : 8 ปีต้องสิ้นสงสัย

สถานีคิดเลขที่ 12 : 8 ปีต้องสิ้นสงสัย ประเด็นการตีความการดำรงตำแหน่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : 8 ปีต้องสิ้นสงสัย

ประเด็นการตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ที่ยังมีข้อถกเถียงกันของหลายฝ่าย โดยในมุมของฝ่ายค้านแนะนักวิชาการบางส่วนมองว่า การดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

ขณะที่ความเห็นของฝ่ายผู้มีอำนาจฝั่งรัฐบาล มองในทางเป็นคุณกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ยังมีเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปอีก 2 ปี นั่นเท่ากับว่า อาจจะนับการตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ใน พ.ศ.2568 จะมีผลที่ว่า หากพรรคการเมืองใดเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯอีกสมัย และหากได้รับการเลือกตั้งกลับมาในปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี อยู่ไม่ครบวาระ

Advertisement

ข้อถกเถียงในการตีความ การดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะนับการดำรงตำแหน่งนายกฯจากช่วงเวลาใด คาดการณ์กันว่าจะนับจาก 3 ช่วงเวลา

ช่วงแรก คือ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ลงมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

ช่วงที่สอง คือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568

Advertisement

ส่วนช่วงที่สาม คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ภายหลังที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570

ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

จึงต้องมาติดตามกันว่า องค์กรที่จะเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับคุณสมบัติ และวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี อย่างศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย ชี้ขาดกรณีดังกล่าวออกมาในแนวทางใด และสามารถสร้างความชัดเจนให้สิ้นกระแสความสงสัยได้เพียงใด ประเด็นนี้คงไม่สามารถก้าวล่วงในดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้

ส่วนข้อเรียกร้องจากพรรคการเมือง และกลุ่ม 99 พลเมือง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ตามความเข้าใจ และยึดโยงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้บุคคลใด บุคคลหนึ่งผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนยันกลับมาทุกครั้งว่า

เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย

บทสรุปสุดท้ายจึงอยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาแล้วทำให้สังคมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสิ้นกระแสความสงสัย ในการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของนายกฯ ได้หรือไม่

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image