แยกวิชาประวัติศาสตร์ แล้วเด็กได้อะไร? โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

แยกวิชาประวัติศาสตร์ แล้วเด็กได้อะไร?

นโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านๆ มาจนถึงปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่ซ้ำไปซ้ำมา เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินครู และการยุ่งกับวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งแยกเป็นวิชาต่างหากออกจากวิชาสังคมศึกษาเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี คิดว่าจะไม่มี รมต.คนใดให้ความสนใจในวิชาประวัติศาสตร์แล้ว เนื่องจากเป็นวิชาที่เริ่มเข้าที่เข้าทาง หมายความว่าเด็กๆ ทุกคนในประเทศนี้ต้องเรียน ส่วนที่ยังอาจไม่เข้าที่เข้าทางคือวิธีการสอนประวัติศาสตร์ที่อาจต้องปรับปรุง

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่างประกาศการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษา โดยสาระสำคัญคือ การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้เด็กสนุก และรู้สึกว่าการเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ ซึ่งผลที่จะตามมาคือทำให้เด็กรักชาติ และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต

ปัญหาสำคัญคือ เมื่อแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ แล้วเด็กได้อะไร? ถ้าไม่แยกวิชานี้ออกมา เด็กจะเสียประโยชน์อะไร?

วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานของการเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่แล้ว มีชั่วโมงเรียน มีผลการเรียนเฉพาะวิชา เพียงแต่สังกัดในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้วิชานี้ด้อยคุณค่าแต่อย่างใด การที่อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ ทำให้ครูในกลุ่มสาระนี้สามารถสอนได้ทั้งวิชาสังคมศึกษา และวิชาประวัติศาสตร์ เพราะครูที่จบวิชาเอกสังคมศึกษา ผ่านการเรียนแบบครบวงจร ทั้งสาขาภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนาศีลธรรม และประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ซึ่งใครจะมีความสามารถสอนสาระใดได้เป็นพิเศษก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และความสามารถส่วนตัวของแต่ละคน ตลอดจนการสะสมภูมิความรู้ของครูเอง หรือผ่านการฝึกอบรมจนสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

Advertisement

ถ้าแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาต่างหาก เหมือนเป็นอีกกลุ่มสาระหนึ่ง หมายความว่าต้องมีครูที่รับผิดชอบกลุ่มสาระประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ แต่ละโรงเรียนมีครูที่จบวิชาเอกประวัติศาสตร์โดยเฉพาะกี่คน ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยม อาจมีครูเอกประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ถ้าเป็นโรงเรียนประถมศึกษาจะหาครูที่จบเอกประวัติศาสตร์โดยเฉพาะได้ยากมาก ที่สำคัญคือ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดสอนคณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ยังเปิดสอนวิชาเอกประวัติศาสตร์หรือไม่ ที่เห็นโดยส่วนใหญ่คือ วิชาเอกประวัติศาสตร์เปิดสอนในมหาวิทยาลัยทั่วไป ที่เรียนจบแล้ว ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู คือไม่ได้มุ่งเน้นผลิตครูประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ แต่มุ่งเน้นผลิตนักประวัติศาสตร์ที่มีทักษะการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ ในการคิดวิเคราะห์เรื่องราว หรือเหตุการณ์ในอดีตเป็นสำคัญ

ในเมื่อแต่ละโรงเรียนไม่มีครูที่จบวิชาเอกประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ ถ้าต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เพื่อสนองนโยบายของรัฐมนตรี โรงเรียนก็ต้องเอาครูวิชาสังคมมาสอนประวัติศาสตร์อยู่ดี หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีครูสังคม ก็ต้องให้ครูวิชาอื่นมาสอนแบบครอบจักรวาล แล้วยังต้องมารับผิดชอบกลุ่มสาระนี้อีก ถามว่าการเรียนการสอนจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร มีแต่การสร้างภาระให้ครู ให้โรงเรียนเพิ่มขึ้น เด็กไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแยกวิชานี้

ถ้าจะมุ่งเน้นให้ไปบรรจุครูวิชาเอกประวัติศาสตร์โดยเฉพาะทั้งที่มีครูวิชาสังคมที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ได้อยู่แล้ว ในขณะที่โรงเรียนยังขาดครูผู้สอนอีกหลายวิชาเอก การบรรจุครูเพื่อสนองนโยบายรัฐมนตรี ย่อมไม่สอดคล้องกับความขาดแคลนครูของแต่ละโรงเรียน

Advertisement

ถ้าอยากให้เด็กสนุกกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คิดวิเคราะห์เป็น ไม่จำเป็นต้องแยกวิชานี้ออกมา แต่สามารถพัฒนาให้ครูมีทักษะกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้ กระทรวงศึกษามีวิทยากรที่มีความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ มีความรู้ ความคิดที่ก้าวหน้าเหมาะกับการสอนประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้เด็กรู้จักการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อฝึกคิดวิเคราะห์ ด้วยการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์มาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันไหม?

กระทรวงศึกษาฯมีศึกษานิเทศก์ที่จะมาแนะนำการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่แบบโบราณที่เน้นการหล่อหลอมกล่อมเกลาให้เชื่อตามมีไหม? ถ้าไม่มี ในประเทศนี้ยังมีอาจารย์ประวัติศาสตร์ทั้งในมหาวิทยาลัย โรงเรียน และนักวิชาการอิสระที่สามารถให้ความรู้ให้ครูเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถนำความรู้ไปใช้จัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อฝึกให้เด็กคิดเป็น หรือบางทีอาจไม่จำเป็นต้องฝึกให้เด็กคิดเป็น เพราะเด็กส่วนหนึ่งอ่านหนังสือล้ำหน้าครู จนคิดแยกแยะเหตุการณ์ได้ดีก็มีไม่น้อย

หากคิดว่าแยกวิชาประวัติศาสตร์แล้ว จะทำให้เด็กมีความภูมิใจในชาติและรักชาติมากขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาประวัติศาสตร์ และไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเรียนประวัติศาสตร์แล้วจะรักชาติมากขึ้น หรือถ้าไม่เรียนประวัติศาสตร์จะทำให้รักชาติน้อยลง อีกทั้งไม่ใช่หน้าที่ของวิชาประวัติศาสตร์ที่จะสอนให้คนรักชาติหรือไม่รักชาติ หน้าที่ของวิชานี้คือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ผ่านการวิเคราะห์ตีความจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่พบในขณะนี้

โดยไม่ใช้อคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าพบหลักฐานใหม่ คำอธิบายเดิมอาจเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ เนื้อหาสาระของวิชาประวัติศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทำศึกสงคราม เป็นการเรียนเพื่อทบทวนอดีต ทั้งเรื่องความผิดพลาด ความสำเร็จของผู้นำในยุคต่างๆ ถ้ามุ่งเน้นสอนประวัติศาสตร์เพื่อทำให้เด็กเกิดความรักชาติอย่างเดียวโดยไม่สนใจข้อมูล หลักฐาน การตีความที่สมเหตุสมผลแล้ว การเรียนประวัติศาสตร์ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

เด็กที่จะเติบโตเป็นประชากรของประเทศจะรักชาติหรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่วิชาประวัติศาสตร์ เพราะความรักชาติไม่ได้เกิดจากการสอนให้เชื่อเพียงอย่างเดียว เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น การตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ จึงเกิดขึ้น และมีความพยายามที่จะหาคำตอบ ความรักชาติของเด็กหรือคนรุ่นใหม่จึงอาจหมายถึง ความรักชาติที่มีประชาชนเป็นแกนกลางของชาติ ซึ่งอาจต่างจากความรักชาติที่รัฐต้องการหล่อหลอมกล่อมเกลาให้เชื่อตาม โดยไม่ตั้งข้อสงสัย ซึ่งพ้นยุคสมัยไปนานแล้ว

นโยบายที่จะแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อเด็ก หรือถ้าไม่แยกวิชาประวัติศาสตร์ เด็กก็ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไร การแยกกลับเป็นการสร้างภาระให้โรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ที่ต้องตั้งคนมาดูแลเรื่องนี้โดยตรง โรงเรียนเล็กๆ มีครูไม่กี่คน งานที่รับผิดชอบล้วนรับคนละหลายหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อครูมีภาระเพิ่มขึ้นจากทั้งการเป็นผู้สอน หัวหน้ากลุ่มสาระวิชาประวัติศาสตร์ รวมทั้งการต้องรายงานการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละคน ล้วนสร้างงานที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนการสอน ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนแต่อย่างใด

จริงๆ วิชาประวัติศาสตร์มีอยู่แล้ว ถ้าต้องการให้วิชานี้สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ ควรเน้นส่งเสริมให้ครูผู้สอนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการสอนประวัติศาสตร์เพียงพอ ได้พัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น จึงจะทำให้อานิสงส์นี้ตกแก่เด็ก ให้เป็นคนคิด วิเคราะห์ และสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้อย่างสมเหตุสมผลบนข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริงมากกว่า

หากกระทรวงศึกษาธิการต้องการจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรจริงๆ สิ่งที่ควรจะทำคือ ลดวิชา เวลา เรียนของเด็กๆ เล็กๆ ให้น้อยลง โดยเฉพาะเด็กชั้น ป.1 ที่ยังไม่ทันอ่านหนังสือออก แต่ต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งหนักเกินไป กลุ่มสาระใดที่ยังไม่จำเป็นต้องเรียน ควรตัดออกไปก่อน เรียนเฉพาะที่จำเป็น เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะ กีฬา การศึกษาค้นคว้าจากคอมพิวเตอร์ พอให้อ่านเขียนคล่อง และรู้จักการค้นหาความรู้เพิ่มเติม และส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เป็นต้น แล้วจึงให้เรียนวิชาอื่นๆ เวลาที่เหลือให้เด็กทำกิจกรรมที่อยากทำ เช่น การเล่น การปลูกต้นไม้ การอ่านหนังสืออ่านเล่น หรือทำกิจกรรมที่เด็กสนใจเพื่อจะได้สนุกกับการมาโรงเรียน

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตร หรือลดชั่วโมงเรียนของเด็กเล็กๆ หรือลดการทดสอบระดับชาติ ที่ไม่จำเป็น อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของเด็กๆ ได้มากกว่าการแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นไหนๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image