ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนการศึกษาไทยเถิด

ให้การเลือกตั้งครั้งนี้  เป็นจุดเปลี่ยนการศึกษาไทยเถิด

ความตกต่ำของการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไปหลายสิบปีมาแล้ว เราอยู่ปลายๆแถวทุกสถิติทั้งในและนอกประเทศ IMD จัดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาปี 2565 ไทยอยู่ที่ 53 จาก 63 ประเทศ ผลการประเมิน PISA ปี ค.ศ. 2018 ไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

ทั้ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการอ่าน และอยู่กลุ่มต่ำสุดบนมาตรวัดนานาชาติ การประเมิน PISA 2018 เน้นการอ่านเป็นหลัก น้ำหนักข้อสอบถึง 60%  เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทุกประเภท ผลประเมินทักษะด้านการอ่านของนักเรียนไทยน้อยที่สุด มีคะแนนเฉลี่ย 393 คะแนน ในขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน

ผลการประเมิน PISA สรุปว่านักเรียนไทยยังมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และยังสะท้อนชัดถึงความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในระบบการศึกษาไทย นักเรียนไทยส่วนน้อยเพียง 0.2% เท่านั้นที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มสูง เป็นกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทย์ และกลุ่มโรงเรียนสาธิต

Advertisement

คณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษาสรุปในรายงานเสนอครม.เมื่อปี พ.ศ.2562 ว่า พิจารณาระบบการจัดการศึกษาโดยรวมพบว่าผู้เรียน มีคุณภาพในระดับต่ำ ไม่สามารถนำความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่มีไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ การศึกษาไม่สามารถพัฒนาเด็กไทยให้ทำงานเป็น อยู่ร่วมกับสังคม เพราะขาดการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำ เด็กเรียนจบแล้วทำงานไม่ได้ ไม่มีคุณภาพที่นายจ้างทั้งรัฐ/เอกชนต้องการ

แปดปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกแบบการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งองค์คณะบุคคล 5 คณะ ดังนี้ 1.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (พ.ศ. 2557 –2558) 2.สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (พ.ศ.2558-2560) 3. คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2560-2562) 4. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  (พ.ศ. 2563-2565) 5. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (พ.ศ.2565 ) ต่างก็มีหน้าที่และอำนาจจัดทำและปรับปรุงแผนการปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ แต่ผลก็เป็นดังที่เราทุกคนทราบ

ผู้เขียนเป็นคนผูกพันกับวงการศึกษาก็ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปช่วย”ปฏิรูป”กับ 3 คณะบุคคลร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรที่ทำงานกันด้วยความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ห้องเรียน สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นมาคือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ  พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562

คนรักการปฏิรูปการศึกษาก็มีไม่น้อย เมื่อผู้เขียนเป็นประธานยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะปีที่ผ่านมานั้น ครู อาจารย์ ต่างๆเข้าไปช่วยกันอย่างแข็งขันแม้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ กองกำลังเล็กๆของคนรักการปฏิรูปพร้อมใจช่วยกันยกเครื่องร่าง”หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…ฐานสมรรถนะ”.เสร็จไปแล้วในระดับประถม 1-6 แต่ก็ถูกมือที่มองไม่เห็นเบรกหยุดไว้ และการเดินหน้าสำหรับระดับมัธยมก็หยุดไปโดยสิ้นเชิง การขับเคลื่อนเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ร่างพ.ร.บ.การศึกษาพ.ศ… ที่รัฐบาลส่งคนร่างขึ้นมา ก็มีอันตกสภา จนหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับรัฐบาลนี้ร่างไม่ดีพอจริงหรือ หรือรัฐบาลไม่อยากปฏิรูปตั้งแต่แรกแล้ว…

สิ่งที่น่าเสียดายยิ่งกว่างบประมาณที่รัฐบาลใช้ไปกับการปฏิรูปบนกระดาษ คือเวลาที่ผ่านไปพร้อมกับความบอบช้ำที่เกิดกับเด็ก เราจึงเห็นปรากฎการณ์ม็อปเด็กมัธยมผู้อึดอัดต่อสภาพที่จำทน ออกมาประท้วงระบบ ระเบียบและสิ่งที่เกิดในโรงเรียน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ใครเลยจะมีความสุขเมื่อต้องเรียนหลักสูตรที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่อาจให้ความหมายในชีวิต ในขณะที่เขารู้ชัดว่าเทคโนโลยีฉุดกระชากโลกให้หมุนไปอย่างก้าวกระโดด

ผู้เขียนได้กล่าวถึงผลของ PISA ซึ่งสะท้อนชัดถึงวิกฤติการอ่านของนักเรียนไทย (ในขณะที่รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการไม่ส่งเสริมการอ่านมาแสนนานแล้ว)  OECD ก็กำลังเตรียม PISA 2025แนวใหม่ Learning in the Digital World ด้วยเหตุผลว่าวิธีการเรียนรู้ในยุคนี้ เปลี่ยนไปแล้วจากที่เรียนช่องทางเดียวที่น่าเชื่อถือ  เป็นการเรียนด้วยด้วยเครื่องมือดิจิทัลด้วยตนเองหลากหลายทาง การศึกษาต้องเตรียมเด็กให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต แบบทดสอบใหม่จะประเมินทักษะสมรรถนะผู้เรียนในแบบใหม่

แนวการประเมินผลที่เปลี่ยนแปลงนี้ตอกย้ำว่าการศึกษาในโลกปรับเปลี่ยนรับกับบริบทสังคม ถ้าการศึกษาไทยไม่เปลี่ยนแปลงจริงจัง ก็ย่อมเหมือน ซ้ำเติมเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศที่รัฐมีหน้าที่ต้องดูแล ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำจะขยายห่างจากกันมากขึ้นๆ โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวกลุ่ม 20 % ล่าง 1.8 ล้านคนที่ผ่านการคัดกรองว่าเป็น นร.ยากจน และยากจนพิเศษ ซึ่งครอบครัวเข้าไม่ถึง อินเทอร์เน็ต และอาจมีสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียวทั้งบ้าน โรงเรียนก็ขาดแคลนไปทุกสิ่งตั้งแต่ครูจนถึงอุปกรณ์และห้องสมุด น้องๆเหล่านี้ไปไม่ไกลเกินม.3 ครึ่งหนึ่งไปไม่ถึงมัธยมปลายและ 86% ไปไม่ถึงมหาวิทยาลัย(ข้อมูลจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)

เรามีเด็กแตกต่างหลากหลายกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อโรงเรียนไทยไม่ตอบโจทย์ พ่อแม่คนมีสตางค์ส่วนใหญ่ ก็ส่งลูกไปรร.นานาชาติ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำงานหนักที่จะคงความเป็นไทยในตัวลูกเมื่อรัฐบาลประกาศจะบรรลุเป้าหมาย SDG4 ปี ค.ศ.2030

“ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” ก็ควรดำเนินการจริงจัง ถึงเวลาไหมที่รัฐต้องคิดในมิติใหม่ จะดึงดันใช้ทั้งหลักสูตรโบราณที่กำกับจากส่วนกลาง ล้าสมัยทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ ระบบงบประมาณ การจัดการที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายที่พื้นที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุด

วันนี้ ในโอกาสที่ประชาชนถืออำนาจอยู่ในมือ ขอเชิญชวนให้คนไทยเราออกไปใช้สิทธิ์เลือก “พรรคที่ใช่’ ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ปลดแอก ช่วยให้เด็กและครูหลุดออกจากภาวะ “วังเวง”ด้านการศึกษา การเสนอเพียงประชานิยมแจกอย่างเดียวไม่พอแล้วที่จะเยียวยาการศึกษาไทย

กาลเวลาพิสูจน์ว่าการปฎิรูปการศึกษาจะเกิดได้ ก็ด้วย Political will หรือ เจตจำนงดีงามทางการเมือง พรรคการเมืองอาจเสนอสรรพสิ่งฟรีได้ แต่พรรคนั้นต้องมีคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองด้วย มีนายกฯที่มีวิสัยทัศน์ มีทีมการศึกษาที่รู้จัก เข้าใจประเทศไทย จริงใจและกล้าเปลี่ยนแปลงให้เด็กไทยก้าวไปทันโลกอย่างสมดุลบนฐานทุนวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ส่งนักการเมืองแบบไหนก็ได้มาบริหารกระทรวงที่สร้างปัญญาแก่ประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image