ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เปลี่ยนการศึกษาไทย (2) โดย สิริกร มณีรินทร์

ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เปลี่ยนการศึกษาไทย (2) โดย สิริกร มณีรินทร์  

เมื่อปรากฏแสงแห่งความหวังของการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนก็หยิบเอกสารที่ทำทิ้งค้างไว้มาปัดฝุ่นทำต่อ ด้วยความฝันว่าอาจจะเป็นประโยชน์ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ปฏิรูปการศึกษาต่อ คือการศึกษาแนวทางการทำหลักสูตรการศึกษาในสากลโลก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างหลักสูตรประเทศเกาหลีใต้และประเทศฝรั่งเศส เป็นตัวแทนของเอเชียและยุโรป

เกาหลีใต้นิยามเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy ว่าเป็นการผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมเข้ากับอุตสาหกรรม โดยให้ความคิดสร้างสรรค์ผลิดอกเบ่งบาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 รัฐบาลประกาศว่า “อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับการพัฒนาคนให้มีความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ จึงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงคนรุ่นนี้ผ่านพลังของการศึกษา” หลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2558 มุ่งส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 2 เรื่องที่โรงเรียน เรื่องแรกคือ Free Semester นักเรียนมัธยมต้นทุกโรงเรียนมีหนึ่งเทอมที่เป็นอิสระจากการสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดและให้นักเรียนได้ใช้เวลาหนึ่งภาคเรียนเต็มๆ ค้นหาความถนัด ความสนใจของตน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาโอกาสและเดินตามความฝันในชีวิต โรงเรียนจัดกิจกรรมหลากหลายร่วมกับเครือข่ายทั้งท้องถิ่น ภาคเอกชน ให้นักเรียนได้เลือกงานอดิเรกหรือสิ่งที่อยากทำในอนาคต ได้สัมผัสประสบการณ์จริงหลากหลายในโลกของอาชีพ ครั้งนั้น นักเรียนถึงกับพูดว่าโครงการนี้เหมือน “พบน้ำเย็นในโอเอซิสกลางทะเลทราย” ข้อที่สองคือ Software Education ซึ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถม มัธยมจนถึงอุดมศึกษา ด้วยนโยบายนี้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ได้สอนกันตั้งแต่ชั้นประถมในเกาหลีใต้มานานแล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ เกาหลีใต้ไม่ทิ้งคุณค่าของทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม ประวัติศาสตร์และศิลปะของชาติ อีกทั้งในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติ รัฐบาลทำทั้งระบบที่เกี่ยวข้อง หลายกระทรวงจะเดินหน้าจับมือไปด้วยกันต่อเนื่อง เป็นการสร้างระบบนิเวศแวดล้อมเป็นพลังโดยรอบ เช่น กีฬายิงธนูอันเก่าแก่สอนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม ปรากฏเป็นฉากในหนังละครเสมอๆ นักกีฬายิงธนูเกาหลีใต้จึงครองเหรียญทองเกินครึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกติดต่อกัน 40 ปีแล้ว การส่งเสริมการอ่านก็ทำอย่างต่อเนื่องจริงจังทั้งระบบ อันมีครู บรรณารักษ์ ห้องสมุดและภาคเอกชน สภาถึงขั้นออกกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่ พ.ศ.2550 และทำแผนแม่บทส่งเสริมการอ่านทุก 5 ปี ทำร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรมและรัฐบาลท้องถิ่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ในเกาหลีใต้เกิดใหม่และดำรงไปอย่างมีชีวิตชีวาทุกเมือง

Advertisement

การศึกษาคือพลังส่งเกาหลีใต้ให้ก้าวขึ้นมารุ่งเรืองทั้งอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ คิดคอนเทนต์สร้าง K-Pop หนัง ละครให้คนติดทั่วโลก ผลิตนักกีฬา นักดนตรี มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์แบรนด์ดังมากมาย

ด้านฝรั่งเศส เจ้าแห่งอารยธรรมฝั่งโลกตะวันตกที่ใครๆ ก็อยากไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและงานศิลปะชิ้นเอก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศสใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวม ทั้ง “ความรู้ สมรรถนะและวัฒนธรรม” เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนต้องมีครบทั้งภาษาเพื่อคิดและสื่อสาร วิธีการและเครื่องมือเพื่อใช้เรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตัวตนและความเป็นพลเมือง ระบบธรรมชาติและวิทยาการ ความเข้าใจในโลกและมนุษยชาติ เป็นการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างศิลป์และศาสตร์

นอกจากเทคโนโลยีวิทยาการทันสมัยและการเน้นบูรณาการการสอนข้ามวิชาให้ศาสตร์ต่างๆ ไม่แยกส่วน หากเชื่อมโยงสัมพันธ์กันแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในแนวทางการศึกษาของสองประเทศ คือในทุกวิชาตั้งแต่ระดับประถมปีที่หนึ่ง จะเน้นให้เด็กทดลอง ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ ฝึกรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการอบรมให้ครูสามารถนำหลักสูตรไปใช้ที่ห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในวิชาที่เราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ เช่น พลศึกษา ศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา วิชาพลศึกษาในฝรั่งเศสกำหนดจุดมุ่งหมายอบรมผู้เรียนเป็น “พลเมืองที่มีจิตสำนึกที่ดี พึ่งพาตนเองได้ และได้พัฒนาทางร่างกายและสังคม มุ่งเน้นการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและเรียนรู้ที่จะแสดงออกโดยใช้ร่างกาย … การแบ่งปันกฎกติกา สวมบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ (ผู้เล่น ผู้ฝึกสอน กรรมการ ผู้ตัดสิน คนกลาง ผู้จัด) ซึ่งฝึกให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เรียนรู้ที่จะรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ สร้างเสริมวัฒนธรรมทางกีฬา และศิลปะ”

Advertisement

วิชาศิลปศึกษาของฝรั่งเศส มีชื่อวิชาแปลตรงตัวว่า Plastic Arts มาจากคำกรีก plastikos แปลว่า “ปั้นเป็นรูปทรง” เป็นวิชาที่ครอบคลุมจิตรกรรม ประติมากรรม การเต้นรำ การจัดการแสดงละคร และศิลปะดิจิทัลใช้ถ่ายภาพ ตกแต่งภาพและตัดต่อภาพยนตร์ วิชานี้ “บ่มเพาะความรู้สึกซาบซึ้งและรับรู้สุนทรียภาพทางศิลปะ ส่งเสริมให้จิตใจละเมียดละไม พัฒนาทักษะทางสุนทรียภาพให้นักเรียนมี ‘ดวงตา’ ที่กระหายการเรียนรู้ จนเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับความงามของงานศิลปะหลากหลาย ก่อเกิดบุคลิกภาพและความเป็นพลเมือง การเข้าถึงคุณค่าของวัฒนธรรมซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม” ทั้งนี้ นักเรียนต้องได้ชมงานศิลปะ ทดลองใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ จนสร้างสรรค์งานศิลปะได้ แล้วฝึกนำเสนอและจัดแสดงงานศิลปะ เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับงานที่ตนสร้างขึ้น นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุง พร้อมกันนั้นก็ต้องฝึกวิจารณ์งานศิลปะของเพื่อนอย่างสุภาพเช่นกัน

การศึกษาไทยได้หยุดนิ่ง จนประเทศอื่นเดินเลยไปล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ทำไมเราจะปล่อยให้เด็กไทยถูกทิ้งให้ล้าหลังอีก น่าอนาถที่กว่าเราจะได้ปรับหลักสูตรใหม่ ประเทศอื่นก็ได้เวลาปรับปรุงตามวงรอบเวลาปรับหลักสูตร!

ย้อนอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image