ผู้เขียน | สถานีคิดเลขที่ 12 |
---|
หลังการเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากและเหล่าด้อมส้ม ดีอกดีใจที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง เป็นสัญญาณว่าการเมืองไทยจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เสียที ทั้งน่ายินดีที่จะได้นายกฯคนหนุ่มรุ่นใหม่จริงๆ แต่ความรู้สึกยินดีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กำลังจะเป็นนายกฯคนที่ 30 มาวันนี้ความยินดีเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความห่วงใย
เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลของพิธาและก้าวไกล เต็มไปด้วยอุปสรรคขัดขวาง
โดยเฉพาะข้อร้องเรียนเรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวี 42,000 หุ้น คือ การพุ่งเป้าจัดการจะให้พ้นไปจากเส้นทางการเมืองให้ได้
ขณะเดียวกัน นายพิธาก็ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่ง
มีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อป้องกันตัวจากคดีหุ้นสื่อ โดยดำเนินการโอนหุ้นปัญหาดังกล่าวออกไปแล้ว
ซึ่งพิธาย้ำว่า ไม่ใช่การหลีกหนีความผิด แต่เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับไอทีวี เพื่อนำมาเล่นงานและสกัดกั้นไม่ให้เป็นนายกฯ
โดยเดิมนั้นตนเองมีความมั่นใจว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน จากข้อเท็จจริงในอดีต ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาบริษัทไอทีวี เป็นเหตุให้ไอทีวีไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมได้นับแต่นั้น
แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ไม่อาจคาดหมายได้ว่าไอทีวี จะมีการทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่ออีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น
พูดง่ายๆ นายพิธาพยายามอธิบายว่า ที่ถือหุ้นไอทีวีเอาไว้ เพราะไม่ใช่สื่อโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งมาจากการที่ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของพ่อ
จนกระทั่งเมื่อพบพิรุธหลายอย่าง บ่งบอกว่ามีกระบวนการทำให้ไอทีวีคืนชีพมาเป็นสื่อ เพื่อนำมาใช้ทำลาย จึงต้องป้องกันตัวเอง
ข้อพิรุธที่พิธาอ้างถึง ได้แก่ ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า บริษัทไอทีวีมีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่
รวมทั้งข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงินของไอทีวี เดิมระบุประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก แต่ต่อมาแปรเปลี่ยนข้อมูลเป็นธุรกิจสื่อโทรทัศน์
รวมไปถึงกรณีข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างไอทีวี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุดเป็นที่จับตาว่า ถ้าไอทีวีชนะคดี จะนำไปสู่การฟื้นคืนชีพธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แทน ทำนองนั้น
ถ้าฟังจากการลำดับความของนายพิธา ถึงข้อพิรุธในการทำให้ไอทีวีที่ตายไปแล้ว ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ เพื่อทำให้กลายเป็นหุ้นสื่อที่ยังมีชีวิต ก็เป็นเรื่องน่าคิด
ประชาชนทั่วไปรับฟังแล้ว ย่อมสามารถคิดวิเคราะห์ได้
แต่อย่างน้อยก็เป็นคำอธิบายที่ทำให้ด้อมส้มทั้งหลาย มั่นอกมั่นใจว่า ที่ถือเอาไว้นั้นไม่ผิด แต่เมื่อจะทำให้ฟื้นคืนชีพมาเป็นสื่อทีวี ก็ต้องโอนออกไป
ทั้งยังไม่ท้อถอยในการเดินหน้าไปสู่ทำเนียบรัฐบาล
เพียงแต่หลายคนมองว่า เหมือนเดินไปบนภูเขาดาบและทะเลไฟ
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน