สกู๊ปหน้า 1 : ‘เกาะสมุย’ รับมือ วิกฤต ‘เอลนิโญ’

สกู๊ปหน้า 1 : ‘เกาะสมุย’ รับมือ วิกฤต ‘เอลนิโญ’

เอลนิโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง นำมาด้วยความแห้งแล้งมากและเกิดไฟป่า ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ และยังส่งผลต่อการอุ่นขึ้นผิดปกติของผิวน้ำทะเล สามารถแบ่งขนาดของเอลนิโญออกเป็น อ่อนมาก อ่อน ปานกลาง รุนแรง หรือรุนแรงมาก หากปรากฏการณ์ยิ่งมี

ความรุนแรงมากเท่าไร ปริมาณความเสียหาย การถูกทำลาย และมูลค่าความเสียหายยิ่งสูงมากขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา พูดถึง เอลนิโญ ส่งผลกระทบภัยแล้งจนอาจกลายร่างเป็นดับเบิลเอลนิโญ ลากยาวไปจนถึงปี 2568 นอกจากปัญหาเรื่องฝนที่ตกน้อยกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นทุนน้ำเข้าเขื่อนและระบบชลประทานน้อยลง พื้นที่เกษตรที่ต้องการน้ำเจอปัญหาแน่

นอกจากนี้ เอลนิโญแรงตั้งแต่กันยายนไปจนถึงต้นปีหน้า เป็นช่วงหน้าฝนภาคใต้ หลายคนจึงออกมาเตือนว่าภาคใต้ต้องระวังเรื่องน้ำให้ดีเพราะฝนปีนี้อาจน้อย

เพื่อนธรณ์ที่ทำงานโรงแรม/ภาคบริการหรือกิจการอื่นๆ ที่ต้องการน้ำมาก มองทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ น้ำอาจหายาก/แพง อจ.ธรณ์กล่าวตอนหนึ่ง และยังพูดถึงในทะเลเริ่มเห็นชัดแล้ว ปะการังฟอกขาว น้ำเปลี่ยนสีต่อเนื่องถึงช่วงนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือปีหน้าจะเป็นอย่างไร หากเกิดดับเบิลเอลนิโญ ทะเลเดือดร้อนหนักแน่ๆ

เมื่อกล่าวถึงเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่ได้รับผลกระทบปรากฏการณ์เอลนิโญ เจอกับภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมานานหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำดิบบนเกาะสมุยเริ่มแห้งขอด แม้จะมีท่อน้ำประปาจากแผ่นดินใหญ่ส่งน้ำมาให้เฉลี่ยวันละ 24,000 ลูกบาศก์เมตร ปกติเฉลี่ยการใช้น้ำประปาบนเกาะสมุยอยู่ที่วันละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่แล้ว

นายศุภฤกษ์ ทองสุข ผู้บริหารแฟร์เฮ้าส์กรุ๊ป เป็นธุรกิจกิจการโรงแรม โรงแรม รีสอร์ต และห้องชุด ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย และเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เอลนิโญ เป็นสภาวะที่อยู่กับโลกมานานแล้ว แต่รอบนี้มาอยู่ในพื้นที่ของเราและยังมีโลกร้อนเข้ามาเพิ่มทวีความรุนแรง อยากจะใช้คำว่าซุปเปอร์เอลนิโญเลยมากกว่า

ในเรื่องของการท่องเที่ยว เมื่อพูดถึงความแห้งแล้ง ขอแบ่งเป็น 2 ประเด็น ธุรกิจโรงแรมบนเกาะสมุยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เจอปัญหาเรื่องน้ำประปาไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ ต.บ่อผุด มีปริมาณผู้ใช้น้ำประปาเป็นอย่างมาก และอุณหภูมิผิวน้ำที่มีผลกระทบโดยตรงจาก
เอลนิโญ ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติก็ต้องมีความระวัดระวังมากขึ้นในเรื่องของการเป็นฮีตสโตรก เนื่องจากทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับการเติบโตของปะการัง เป็นผลกระทบมาเรื่อยๆ กับการท่องเที่ยว วันนี้ถ้าไม่มีการตื่นตัว ก็ตั้งรับไม่ทันแล้ว

สิ่งที่อยากให้มีการช่วยเหลือมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องของน้ำ เป็นอุปสรรคหลักของภาคการท่องเที่ยว ต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ว่าต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เอลนิโญ ช่วยกันใช้น้ำประปาอย่างประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยเพราะน้ำกำลังขาดแคลน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมตั้งตัวไม่ทัน หลายๆ โรงแรมไม่มีความรู้เรื่องเอลนิโญ และลานิญากันเลย ผู้ประกอบการโรงแรมต้องรับมือให้ได้ หาเงินทุนสำรองมาใช้ในการจัดการเรื่องน้ำ เช่น ซื้อน้ำจืดจากเอกชน หาบ่อน้ำบาดาลที่เคยมีน้ำในสมัยก่อนและเช่าบ่อเพื่อนำน้ำมาใช้ ตอนนี้แหล่งน้ำถือว่าแพงกว่าทองคำสำหรับการท่องเที่ยวเกาะสมุย โรงแรมขนาด 70 ห้องขึ้นไป ต้องซื้อน้ำมาใช้วันละไม่ต่ำกว่า 3 คัน ราคาคันละ 3,000 บาทต่อน้ำ 18,000 ลูกบาศก์เมตร

อยากฝากถึงผู้ประกอบการทุกคนว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างการเรียนรู้ รับรู้ ตระหนักถึงสถานการณ์เอลนิโญและลานิญาอย่างจริงจัง เนื่องจากประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านเจอปัญหานี้มาตลอด ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ที่ผ่านมาจะมีนักวิชาการออกมาพูดกันมาก แต่ในห้วงเวลาหลังจากนี้เราต้องใช้นักการตลาดหรือคนที่สามารถนำภาษาที่เป็นวิชาการมาแปลงเป็นภาษาชาวบ้านให้สามารถเข้าใจง่ายขึ้น มาให้ความรู้เรื่องการเก็บทรัพยากรน้ำ ให้ความรู้ในเรื่องของการทำฝายอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เราสามารถเริ่มต้นด้วยกันได้ในชุมชน และโรงแรม นายศุภฤกษ์กล่าว

นายศุภฤกษ์กล่าวอีกว่า ภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำทำเกษตร แนะการปลูกป่าสำคัญมาก เพื่อรักษาน้ำไว้ ทำฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี

ด้าน นางเตือนใจ สมวงศ์ หรือป้านุ้ย เกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ควบคู่กับการปลูกป่าบนเกาะสมุย กล่าวว่า ตอนนี้เป็นห่วงชาวสวนผลไม้ที่เจอกับภาวะแห้งแล้ง ไม่มีน้ำใช้ทำเกษตร ทำให้ต้นทุเรียนต้นแห้ง ใบแห้งเหี่ยว ลูกทุเรียนแตก มังคุดไม่มีลูก เพราะขาดน้ำ อยากให้ทุกที่มีน้ำที่สมบูรณ์ แต่ต้องมีการบริหารจัดการ ช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันรักษา ช่วยกันดูแลป่าไม้ ส่วนสวนผลไม้ที่ดูแลอยู่ไม่มีผลกระทบเรื่องน้ำ เพราะมีการปลูกป่า บริหารจัดการน้ำ มีฝาย มีร่องน้ำ การปลูกป่าจึงสำคัญมาก ต้องรู้จักรักษา รู้จักดูแล อยากจะแนะนำชาวสวนด้วยกันว่าต้องนึกถึงป่า ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อรักษาน้ำไว้ และทำฝายเล็กๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี

ขณะที่ นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญส่งผลต่อการท่องเที่ยวโดยตรง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการใช้น้ำค่อนข้างเยอะทั้งอุปโภคและบริโภค เช่น สปา การท่องเที่ยวด้านสุขภาพ โรงแรม เอลนิโญจะทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ปลาย้ายถิ่นฐาน น้ำทะเลอุ่นขึ้น ปะการังตาย ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวทางทะเล หากเกิดภัยแล้ง พืช ผัก ผลไม้ จะมีราคาสูงขึ้น ค่าครองชีพก็จะสูงขึ้น ผู้ประกอบการจะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นปัญหาเอลนิโญไม่ได้ไกลตัวทุกคน ต้องคอยจับตาดูผลกระทบที่จะเข้าสู่เรา

นี่เป็นสัญญาณเตือนภัยถึงเกาะสมุย ผู้ประกอบการภาคต่างๆ ประชาชน และโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องร่วมมือร่วมใจกัน หาทางแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกับเอลนิโญให้ปลอดภัยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image