คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : สุขา ความเท่าเทียม และคณะทัวร์

เร็วๆ นี้มีรายการ “ทัวร์ลง” ขนาดย่อมๆ ที่ถ้าเป็นการท่องเที่ยวจริงๆ คงเป็นการท่องเที่ยวเมืองรองเฉพาะกลุ่มผู้ที่สนใจการบ้านการเมืองและเรื่องประเด็นสังคม คือในโพสต์โปรโมตรายการพ็อดแคสต์ของช่อง The Standard ที่ชวนพูดคุยกันเรื่อง “ความเท่าเทียม” นั้น โดนชาวเน็ตไปรุมแสดงความเห็นกันอย่างยับๆ

ความเห็นของคณะนักท่องเที่ยวที่ไปถล่มโพสต์นั้น ส่วนใหญ่ก็จะออกแนวประมาณว่า “ทุกคนใน The Standard ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่ากันหรือเปล่า” “เวลาประชุม ได้ให้พี่ รปภ. และแม่บ้านเข้าประชุมด้วยหรือไม่” “คนเราเกิดมาก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาเหมือนกันเลย แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความเท่าเทียมนั้นไม่มีอยู่จริง” หรือลามไปถึง “ถ้าจะให้เท่าเทียมจริง ก็ไม่ต้องมีทางลาดทางเดินคนพิการ หรือห้องให้นมปั๊มนมสำหรับแม่ลูกอ่อนเลยสิ”

กระแสความเห็นข้างมากของชาวเน็ตต่อประเด็นความเท่าเทียมนี้ทำให้หลายท่านที่ผลักดันต่อสู้ หรือเชื่อในเรื่องนี้เป็นถอยเป็นท้อกันไป เพราะโดยหลักการแล้ว ความคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม” นั้นเป็นหลักการที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของทุกคน แม้แต่ของผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมด้วย อีกทั้งความคิดเรื่องความคิดในเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปขัดขวางทางอยากมีอยากได้ของใคร ทั้งไม่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อความชอบทางการเมืองด้วย เว้นแต่บางคนอาจจะมองว่าผู้คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคนี้เป็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่สาย “สามกีบ” จึงต้องตั้งรังเกียจไว้ก่อน

แต่อันนี้พูดก็พูด แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ว่านั้น บางส่วนลึกๆ ก็ยังมีข้อกังขาเรื่องความเท่าเทียมอยู่ด้วยเหมือนกัน

Advertisement

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีความพยายามในการนำเสนอข้อความคิดเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาค แต่กระนั้นก็ยังเห็นว่าการนำเสนอเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต้องอธิบายกันมาก การนำเสนอในรูปแบบที่พยายามจะให้ดูทันสมัยย่อยง่าย หรือการตัดท่อนที่เหมือนจะกระตุกจิกกระชากความคิดมาโปรโมตนั้นก็เสี่ยงที่จะโดนทัวร์ลงได้แบบนี้ เพราะความเท่าเทียมนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเข้าใจยากอยู่ในตัว เพราะมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกอย่างที่แม้แต่ลิงหรือสัตว์บางชนิดยังเข้าใจ แต่ก็มีส่วนที่ขัดกับความรับรู้อยู่ด้วยผสมอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างหลังเป็น “สำนึก” ที่ถูกเชื่อว่า “สามัญ” ของมนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมความคิดความเชื่อมาโดยระบบของสังคมและวัฒนธรรม

เคยมีการทดลองว่าสัตว์จะเข้าใจเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ด้วยการให้ลิงสองตัวทำงานอย่างเดียวกัน แต่ให้รางวัลคือผลไม้คนละอย่างกัน ตัวหนึ่งให้เบอร์รี่ที่ลิงชอบ แต่ลิงอีกตัวได้เป็นผักหรือถั่วสักอย่าง ในตอนแรก ลิงทั้งสองตัวก็อาจจะงงๆ อยู่บ้างก็รับรางวัลมาโดยไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไร แต่แล้วพอลิงที่ได้รางวัลที่ด้อยกว่านึกได้ว่าทำงานเหมือนกันแต่ไหงได้ของไม่เหมือนกัน ก็จะเริ่มโวยวายไม่พอใจ ขว้างปาไม่รับรางวัล และไม่ยอมทำงานให้ตามคำสั่ง หรือถ้าบ้านใครเลี้ยงแมวหรือหมาก็อาจจะได้เห็นอะไรคล้ายๆ การทดลองนี้ได้เช่นกัน

นี่คือส่วนที่กล่าวว่า “ความเท่าเทียมนั้นสอดคล้องกับสามัญสำนึกของทั้งคนและสัตว์อยู่แล้ว” เพราะเราทุกคนก็มีความรู้สึกได้เช่นนั้นหากถูกเลือกปฏิบัติ หากเราทำงานเท่ากันหรือมากกว่าคนอื่น ทำไมเราถึงได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่า หรือแม้แต่ค่าตอบแทนที่เท่ากันกับคนที่ทำงานตำแหน่งเดียวกันในขณะที่เราทำงาน (หรือจริงๆ คือรู้สึกว่าทำงาน) มากกว่า ก็นำไปสู่ความรู้สึกเช่นนี้ได้เช่นกัน

Advertisement

แต่ “ความเท่าเทียม” นี้ก็มีจุดที่ขัดต่อความรับรู้ของคนทั่วไปในแง่ที่ว่า เราทุกคนก็รู้ว่ามนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน พูดได้ว่าไม่มีใครเหมือนใคร อย่างน้อยร่างกายหรือรูปลักษณ์ภายนอกก็แตกต่างกันให้เห็นได้ มีทั้งคนที่ฉลาดและไม่ฉลาด อ้วนผอมสูงต่ำดำขาว หรือขี้เกียจขยันแตกต่างกันออกไป ถ้าอยู่ดีๆ ใครสักคนมาบอก “ที่แท้แล้วทุกคนเหมือนกัน และนี่คือความเท่าเทียม” นั้นก็ขัดกับความรับรู้อันทนโท่ที่ว่านั้น ก็ไม่แปลกที่จะรู้สึกต่อต้านหรือมองว่าความคิดเรื่องความเท่าเทียมนี้เป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี

การอธิบายเรื่องความเท่าเทียมจึงไม่ควรจะเริ่มที่ว่า “ทุกคนนั้นเท่ากันหรือเหมือนกัน” แต่ควรตั้งต้นจากหลักการเบื้องต้นที่ว่า คนแต่ละคนนั้นมีส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนั้น การปฏิบัติต่อคนที่มีส่วนเหมือนกันในสาระสำคัญของเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้แตกต่างกัน นั้นคือความไม่เท่าเทียมและเป็นการเลือกปฏิบัติ และในทางกลับกัน หากปฏิบัติต่อคนที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันในบางเรื่องให้เหมือนกันหรือเท่ากัน นั่นก็เป็นความไม่เท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติในอีกด้านหนึ่ง

ดังนั้น “ความเท่าเทียม” คือมีทั้งส่วนที่จะต้องให้ “เหมือนกัน” และให้ “ต่างกัน” แต่โดยรวมแล้วทั้งสองกรณีจะต้องได้ “เท่ากัน” ในสาระสำคัญในที่สุด

ตัวอย่างที่จะอธิบายเรื่องความเท่าเทียมได้เห็นภาพและเข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ค่อยสุภาพเท่าไรนัก แต่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน คือเรื่องของ “ห้องสุขาสาธารณะ”

เราต้องยอมรับในเบื้องแรกว่า มนุษย์ทุกเพศวัยโดยทั่วไปนั้น มีความต้องการที่จะปลดทุกข์ทั้งหนักเบาทั้งนั้นไม่ได้แตกต่างกัน นี่คือ “สาระสำคัญ” ที่พวกเขาจะต้องได้รับ ไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยยากจน มีอาชีพการงานใด เชื้อชาติเชื้อสายหรือฐานันดรใดๆ เมื่อใดก็ตามที่ต้องการปลดทุกข์จะหนักหรือเบาในที่สาธารณะ ก็สมควรต้องมี “ห้องสุขา” รองรับให้อย่างเพียงพอ หรือจะมีที่ต้องรอบ้างก็ต้องพอสมควรอย่างน้อยก็ทันท่วงที

แต่กระนั้น มนุษย์ที่ใช้สุขาก็มีสรีระร่างกาย ข้อจำกัด และวิธีการทำกิจธรรมชาตินั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอวัยวะตามเพศกำเนิดเป็นชายและหญิง ก็มีการใช้ห้องสุขาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต่างรู้กันดี เช่นนี้ การทำห้องสุขาชายและหญิงให้มีอะไรเหมือนกันทุกประการทั้งขนาดและจำนวน ไม่ว่าจะทางไหนก็จะไม่สมประโยชน์ทั้งสิ้น ซึ่งไม่สมประโยชน์อย่างไรคงไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาว

จึงเป็นที่มาของการแยกห้องสุขาชายหญิง และในสุขานั้นก็มีองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนสามารถได้ปลดปล่อยทุกข์ของตนได้สะดวกสบายไม่ต่างกัน โดยในยุคหลังมานี้ ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมในความแตกต่างนั้นมีมากขึ้น ก็ยังมีการเสริมห้องสุขาให้สำหรับผู้ที่มีสภาพทางกายที่แตกต่างอย่างเป็นสาระสำคัญเพียงพอให้ต้องมีห้องสุขาแยกพิเศษจากสุขาชายหญิงโดยทั่วไปด้วย เราจึงได้เห็นห้องสุขาสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กที่จำเป็นต้องให้พ่อแม่ให้ความช่วยเหลือ

ดังนั้น ห้องสุขาที่ไม่ได้เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามเพศสภาพและกายภาพ แต่ในที่สุดทุกคนก็ได้ใช้สุขาได้สะดวกสบายเหมือนกันนี้เอง คือตัวอย่างของความเท่าเทียมที่อาจพบได้ในห้างสรรพสินค้าหรือปั๊มน้ำมันที่คุณเพิ่งไปผ่านหรือใช้บริการมา เช่นเดียวกับการมีทางลาดและลิฟต์สำหรับคนพิการก็เป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิที่คนพิการจะสามารถเดินทางหรือใช้สาธารณูปโภคได้ไม่แตกต่างจากคนที่ไม่พิการ

ที่ล้อกันว่า “ความเท่าเทียม” มันคือความ “เท่า” กันแบบ “เทียมๆ” ก็อาจจะใช่ แต่มันก็ไม่ได้หมายถึงการเท่ากันแบบจอมปลอมและไม่มีจริง แต่หมายถึงการทำให้ “เท่า” กันโดยการ “เทียม” เข้าไปเพื่อชดเชยหรือปรับลดบางอย่าง เหมือน “อวัยวะเทียม” ที่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่อวัยวะแท้และคงไม่สามารถทำงานได้เหมือนอวัยวะแท้ๆ ที่มีมาแต่กำเนิดทั้งหมด แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ขาดอวัยวะนั้นไปพอจะมีชีวิตที่เป็นปกตินั้นได้เหมือนคนที่มีอวัยวะนี้อยู่

เพราะ “อวัยวะเทียม” นั้นไม่ใช่ “อวัยวะปลอม” ความเท่าเทียมจึงไม่ใช่การเท่ากันแบบปลอมๆ

หลักการข้างต้น จึงสามารถตอบคำถามของคณะนักท่องเที่ยวผู้ไม่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคได้พอสมควร ไม่ใช่ว่าทุกคนในบริษัทหรือองค์กรจะต้องได้รับเงินเดือนเท่ากันหรอกถึงจะเรียกว่าความเท่าเทียม แต่หมายถึงว่า เมื่อเริ่มต้นจากการยอมรับว่าแต่ละคนในบริษัทมีหน้าที่มีการทำงานที่ต่างกัน และงานนั้นก็ส่งผลต่อบริษัทหรือองค์กรมากน้อยต่างกัน ดังนั้น แต่ละตำแหน่งจึงต้องได้รับเงินเดือนแตกต่างกันตามอัตราที่สมควร และคนที่ทำงานใกล้เคียงกันทั้งคุณภาพงานหรือประสบการณ์ ก็อาจจะได้เงินเดือนที่แตกต่างกันได้บ้างแต่ก็อยู่ในอัตราที่อธิบายได้ นี่ถึงจะเป็นความเท่าเทียม

ดังนั้น การที่ผู้บริหารบริษัทมีเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงกว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยเพราะหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกัน จึงเป็นความเท่าเทียม แต่ถ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยตำแหน่งเดียวกัน ทำงานได้เข้มแข็งเหมือนกัน แต่มีคนหนึ่งได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าอีกคนหนึ่งเพราะเป็นคนบ้านเดียวกับผู้บริหาร นี่ต่างหากคือความไม่เท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะอธิบายได้เข้าใจว่า “ความเท่าเทียม” ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่ากัน แต่ทุกคนจะมีทั้งเหมือนกันและต่างกันได้ตามสาระสำคัญในแต่ละเรื่อง แต่ข้อยากมันอยู่ที่ว่าสิ่งใดจะเป็น “สาระสำคัญ” ที่ทำให้ควรปฏิบัติให้เหมือนกันหรือต่างกัน และมาตรการในการที่ปฏิบัติไม่เหมือนกันนั้นสมเหตุสมผลสอดคล้องต่อสาระสำคัญนั้นแล้วหรือไม่ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยที่คนแต่ละสังคม หรือคนในแต่ละสังคมจะมองไม่เหมือนกัน

วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมมีส่วนให้มุมมองเรื่องนี้แตกต่างกันด้วย เช่น ในครอบครัวของบางวัฒนธรรมจะมองว่า เมื่อสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวมีบทบาทที่แตกต่างกัน สมาชิกฝ่ายชายพ่อและลูกชายเป็นผู้ทำงานหาเงินเข้าบ้านซึ่งอนุมานว่าเป็นงานหนักกว่า จึงเป็นสาระสำคัญที่พวกเขาควรได้กินอาหารและเลือกอาหารดีๆ ได้ก่อนสมาชิกครอบครัวที่เป็นหญิงที่ต้องมากินทีหลังและเป็นของที่เหลือจากที่สมาชิกผู้ชายได้กินไปแล้ว ความคิดนี้ในหลายสังคมวัฒนธรรมถือเป็นเรื่องธรรมดา และแม้แต่สมาชิกที่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและด้อยสิทธิก็ยังรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมโดยอาจจะไม่ทันตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า นั่นเป็นความแตกต่างที่ควรต้องปฏิบัติเช่นนั้นจริงหรือ หรือแม้แต่การตั้งคำถามว่างานหาเงินนอกบ้านหนักกว่าการทำงานบ้านซึ่งเป็นงานเบื้องหลังจริงหรือไม่ด้วย

ในขณะที่ในอีกหลายสังคมวัฒนธรรมจะมีมุมมองว่า สมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะพ่อแม่หรือพี่ชายน้องสาว ต่างก็มีสาระสำคัญที่ต้องการกินอาหารที่ไม่แตกต่างกัน แม้ความแตกต่างที่สมาชิกครอบครัวที่เป็นชายจะมีอยู่จริง แต่เรื่องการกินอาหารในครอบครัวก็ไม่ใช่สาระสำคัญแห่งความแตกต่างนั้น ทุกคนจึงควรได้นั่งโต๊ะร่วมกันและกินไปพร้อมกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องได้รับการจัดอาหารให้เหมือนๆ กัน นี่คือความเท่าเทียม

ข้อยากหลายส่วนที่ต้องค่อยๆ อธิบายกันหลายซับหลายซ้อนนี่แหละ ทำให้การนำเสนอเรื่องความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคจึงเรียก “คณะทัวร์” ได้เสมอ แม้แต่ในคอลัมน์ตอนนี้ก็น่าจะไม่ได้รับการยกเว้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image