ผู้เขียน | โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ |
---|
ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) คืออะไร?
ทุกวันนี้มีการอ้างอิงถึงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) กันทั่วไปเหมือนกับสมัยก่อนที่เคยอ้างอิงถึงยุทธศาสตร์ (strategy) และชาติ (nation) กันเกร่อไปหมด แต่ครั้นถามว่ายุทธศาสตร์ คืออะไร? และชาติคืออะไร? ก็อ้ำอึ้งกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งดูเหมือนกับภูมิรัฐศาสตร์ก็จะคล้ายๆ กันที่อ้างอิงกันจนติดปากแต่ไม่รู้กันจริงๆ ว่า “ภูมิรัฐศาสตร์คืออะไร?”
ภูมิรัฐศาสตร์เป็นวิชาที่บูรณาการจากวิชา 3 วิชา คือ รัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการทหาร โดยผู้เริ่มแนวทางการศึกษาวิชานี้คือ ศาสตราจารย์รูดอล์ฟ เจลเลน ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยอุปป์ซารา ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2459 (ตรงกับสมัย ร.6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และถูกนำไปสร้างเสริมจนเป็นวิชาหลักสำคัญของเยอรมนีและแพร่ไปทั่วโลก โดย พลเอกศาสตราจารย์คาล เฮาโชเฟอร์ ผู้เสนอทฤษฎีเลเบนสเราม์ (Lebensraum) มีแนวคิดว่า รัฐเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการพื้นที่ดินเพื่อขยายตัวอยู่ตลอดเวลา จึงถูกระบอบนาซีอ้างเป็นเหตุในการขยายอาณาเขตขนานใหญ่ของเยอรมนีจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นนั่นแหละ
วิชาที่เป็นหัวใจของภูมิรัฐศาสตร์คือวิชารัฐศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องของรัฐและรัฐบาล (state and government) ซึ่งรวมเรียกว่า “การเมือง (Politics)” ซึ่งวิชารัฐศาสตร์ จะมีสาขาหลักอยู่ 3 สาขา คือ สาขาการปกครอง (government) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (public administration) และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (international relation) สำหรับสาขาหลักที่เกี่ยวข้องกับวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น วิชาภูมิรัฐศาสตร์จึงมักเปิดสอนในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง
สำหรับวิชาภูมิศาสตร์นั้น ภูมิรัฐศาสตร์ดั้งเดิมจะเน้นเฉพาะภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography) ซึ่งศึกษาถึงภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ สมุทรศาสตร์ ภูมิอากาศวิทยา หิน อุตุนิยมวิทยา ฯลฯ เพื่อประกอบกับเรื่องการทหาร สำหรับฝ่ายการเมืองจะนำไปเป็นข้อพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นนโยบายการต่างประเทศต่อไป แต่ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ได้ให้ความสำคัญต่อวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography) ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสาขาหลักๆ ของวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์นั้นคือ ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์การเมือง ภูมิศาสตร์ศาสนา ภูมิศาสตร์การพัฒนา ภูมิศาสตร์ประชากร ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว เป็นต้น ภูมิศาสตร์มนุษย์การศึกษาความเข้าใจและการใช้งานผืนโลกของมนุษย์ และกระบวนการที่มีผลกระทบต่อสิ่งนั้น มันเกี่ยวโยงกับทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์การศึกษาความเข้าใจและการใช้งานผืนโลกของมนุษย์ และกระบวนการที่มีผลกระทบต่อสิ่งนั้น
ยกตัวอย่างปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลางหากจะวิเคราะห์ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์โดยปราศจากความรู้ทางภูมิศาสตร์ศาสนาจากสาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ก็ยากที่จะเข้าใจได้ จึงกล่าวได้ว่าภูมิรัฐศาสตร์ยุคใหม่นี้เน้นความสำคัญของภูมิศาสตร์มนุษย์มากขึ้นกว่าเดิมที่ให้ความสำคัญเฉพาะภูมิศาสตร์กายภาพเท่านั้น
ส่วนเรื่องการทหารในวิชาภูมิรัฐศาสตร์นั้น หลักการที่สำคัญเป็นหัวใจของการทหาร คือ
“War is mere continuation of policy by other means …a real political instrument ….a continuation of political commerce. – สงครามเป็นเพียงความต่อเนื่องของนโยบายแบบหนึ่ง …. เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแท้จริง…. เป็นส่วนต่อของพาณิชย์การเมือง” ดังนั้น หลักการสำคัญยิ่งของวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็คือการทหารและกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น และพลเรือนต้องมีอำนาจเหนือกองทัพ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยระเบิดปรมาณูซึ่งเป็นระเบิดมหาประลัยมีอำนาจการทำลายล้างอย่างที่ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก กล่าวคือ ระเบิดปรมาณูลูกแรกของสหรัฐอเมริกาที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาจนราบเป็นหน้ากลองนั้น มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิดทีเอ็นทีถึง 20,000 ตัน (นึกถึงรถกระบะที่บรรทุกของหนัก 1 ตัน จำนวน 20,000 คัน)
ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ผลิตระเบิดไฮโดรเจนที่มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิดทีเอ็นทีถึง 40 ล้านตัน (โปรดใช้จินตนาการระเบิดทีเอ็นที 20,000 ตันทำลายเมืองได้ 1 เมือง ถ้าระเบิดทีเอ็นที 40 ล้านตัน จะมีอำนาจการทำลายไปขนาดไหน) มิหนำซ้ำยังมีการพัฒนาจรวดนำวิถีที่สามารถยิงจากพื้นโลกไปสู่อวกาศได้เมื่อ พ.ศ.2500 โดยประเทศสหภาพโซเวียตซึ่งสามารถพัฒนาเป็นขีปนาวุธติดหัวระเบิดไฮโดรเจนยิงได้ทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้ภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่ตกยุคบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ พากันเลิกสอน เลิกทำการวิจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ไปเกือบหมด
ช่วงระหว่าง พ.ศ.2490-2534 ซึ่งโลกของเราเข้าสู่สภาวะของสงครามเย็น เนื่องจากไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่จนเป็นสงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างตระหนักดีว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจนี้ขึ้นแล้วก็จะไม่มีฝ่ายใดชนะหากแต่จะแพ้พินาศฉิบหายด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ทั้ง 2 อภิมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างให้การสนับสนุนความขัดแย้งในภูมิภาคที่สำคัญที่เรียกว่า สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งนี้มีพื้นฐานมาจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และภูมิรัฐศาสตร์เพื่ออิทธิพลทั่วโลกโดยสองมหาอำนาจ
ครับ! ในเมื่อความจริงเริ่มปรากฏมาชัดแจ้งขึ้นว่าไม่น่าจะมีประเทศใดจะกล้านำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในการสงคราม และประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น การสงครามน้อยใหญ่ทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมาก็ยังคงใช้อาวุธนานาชนิดที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์โดยใช้การเมือง กองทัพทหารและต้องอาศัยภูมิศาสตร์เป็นหลักในการสงครามเหมือนในอดีตกาล
การฟื้นฟูวิชาภูมิรัฐศาสตร์ได้รับแรงกระตุ้นจากการปราศรัยแทบทุกครั้งของ นายเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) ผู้เป็นนักการเมือง นักการทูต และที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด อีกด้วย ทำให้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศต่างๆ กลับมาศึกษาและเปิดการเรียนการสอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์กันอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์