ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
ลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์
ความแตกแยกสหรัฐรุนแรงขึ้น
ความรุนแรงทางการเมืองยกระดับ
หลังจากปี 1981 อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ถูกลอบสังหารแล้ว ล่าสุดวันที่ 14 กรกฎาคม อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกลอบสังหาร แต่รอดตาย มือปืนเป็นคนพรรครีพับลิกันในวัย 20 ส่วนสาเหตุการลอบสังหารกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
แต่ในวาระที่พรรครีพับลิกันกำลังจะเปิดตัวผู้สมัครลงชิงประธานาธิบดีถูกลอบสังหาร น่าสนใจ
ถ้าเหตุการลอบสังหารครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง ก็ย่อมหมายถึงความแตกแยกของสังคมอเมริกัน และในระยะเวลาที่ห่างจากการเลือกตั้งเพียง 4 เดือน แจ่มชัดยิ่งว่า ความรุนแรงทางการเมืองยกระดับเป็นแน่แท้ เพราะภายในอเมริกานั้น ปัญหาทางการเมืองมากโข น่ากังวล
ขณะที่ทรัมป์กำลังปราศรัยหาเสียงที่รัฐเพนซิลวาเนีย เสียงปืนดังขึ้นขณะที่กำลังกล่าวถึงปัญหาผู้อพยพ ทรัมป์ใช้มือปิดหูหลบลงใต้โพเดียม
คนร้ายใช้ปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 ปฏิบัติการ หลังเกิดเหตุ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม ปรากฏภายหลังว่า มือปืนชื่อ โธมัส ครุกส์ เป็นชาวเพนซิลวาเนีย เมื่อ 2 ปีก่อนจบการศึกษาระดับมัธยม ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน แต่เคยบริจาคเงินแก่องค์กรของพรรคเดโมแครต 15 ดอลลาร์
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตายยังมีไม่มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนสอบสวนอยู่ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า พรรคกำลังจะเปิดตัวให้ทรัมป์เป็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่ง น่าจะเกิดจากความไม่พอใจของคนในพรรค หรือไม่ประสงค์ให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง จึงเป็นคำถามของสังคมที่ต้องการคำตอบ
การเลือกตั้งสหรัฐปีนี้ เป็นเรื่องที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน เพราะเป็นการเผชิญหน้าระหว่างอดีตประธานาธิบดีและประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
การหาเสียงจึงร้อนแรงเข้มข้นและดุเดือด ทรัมป์พูดจายั่วยุในรูปแบบแกว่งเท้าหาเสี้ยน ไบเดนไม่ยอมเป็นรอง เปรียบเปรยทรัมป์คือปีศาจ เป็นการปลุกระดมผู้สนับสนุนทั้งทรัมป์และไบเดนโดยปริยาย แรงเชียร์รุนแรงขึ้นทุกขณะ ละม้ายกับการเติมน้ำมันในกองเพลิง ถาโถมโหมแรงไฟ โดยเฉพาะปัญหาผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นประเด็นร้อน ร้อนที่ความเห็นและมาตรการการจัดการของสองพรรคแตกต่างกันมาก ดังนั้น การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ หากแตะประเด็นผู้อพยพ อาจกลายเป็นระเบิดเวลา
เหตุการณ์ลอบสังหารทรัมป์ครั้งนี้ แม้การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ แต่อย่างน้อยก็พอจะอนุมานได้ว่า มาตรการความปลอดภัยบกพร่องอย่างร้ายแรง เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะปล่อยให้คดีนี้หายเงียบไปแบบ “มิดอิมซิม” ตามภาษาอีสานบ้านเรามิได้เป็นอันขาด
จากภาพที่ปรากฏ หลังทรัมป์ถูกยิงมีคราบเลือดบนใบหน้า ท่ามกลางการคุ้มกันของบอดี้การ์ด ทรัมป์พยายามแสดงความเข้มแข็ง โดยการชูกำปั้นแล้วตะโกนว่า “สู้ สู้ สู้” อันเป็นการส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่เกรงกลัวพลังใดๆ ทั้งสิ้น เขาสามารถพิชิตได้ และสามารถทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) อาจจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนเท่าไหร่นั้นคงยากแก่คาดเดา แต่ที่แน่ๆ คือ การต่อสู้ทางการเมืองต้องดุเดือดขึ้น มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนการที่จะยุติความรุนแรงทางการเมืองนั้นคงเป็นไปได้ยาก
ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า ไม่ยอมให้ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นในอเมริกา ในขณะที่นักการเมืองที่มีจุดยืนต่างกัน หรืออเมริกันชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ยอมรับนักการเมืองที่มีความเห็นต่างกันนำความรุนแรงมาแก้ไขปัญหา และมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า พฤติการณ์ลอบสังหารบ่งบอกถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย
จากประวัติศาตร์อเมริกา ปี 1963 อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบสังหารเสียชีวิต ปี 1981 อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ถูกลอบสังหารหวิดตาย
จึงกลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมว่า เหตุใดจึงเป็นเรื่องที่แสนง่ายที่จะทำการสังหารผู้นำของประเทศ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
จากการสำรวจของมูลนิธิกีฬายิงปืนสหรัฐปรากฏว่า อเมริกันชนที่ครอบครองอาวุธสูงถึง 24 ล้านกระบอก ระยะเวลา 10 ปี เหตุการณ์กราดยิง มีอยู่ถึงกึ่งหนึ่งที่ใช้ปืนไรเฟิล AR-15 เหมือนปืนที่ “ครุกส์” ใช้ยิงโดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อปี 2022 ครั้งที่คนร้ายกราดยิงนักเรียนและครูในโรงเรียนที่รัฐเท็กซัสก็เป็นปืนไรเฟิลชนิดเดียวกัน
การซื้อง่ายขายคล่องอาวุธปืนในสหรัฐ มักกลายเป็นประเด็นโจมตีกันในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเนื่องจากการซื้ออาวุธปืนไม่ต่างไปจากการซื้อทอฟฟี่ โดยเฉลี่ยอเมริกันชน 12 คนจะต้องมีปืนไรเฟิลอัตโนมัติอยู่ 1 กระบอก อันตรายที่มักจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มองข้ามมิได้
ปัญหาอาวุธปืนคงจะแก้ไขยากอยู่ แต่นักการเมืองต้องใช้สติในการรณรงค์หาเสียงด้วยสันติวิธี และต้องปราศจากความรุนแรงและดุเดือด เพราะความรุนแรงทางการเมืองหาตลาดได้ไม่
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจะเข้าถึงหลักทฤษฎีหรือไม่เพียงใด เพราะอเมริกันชนที่ได้ยินเสียงของทรัมป์ที่ตะโกนก็ตอบด้วยคำว่า USA, USA อย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจทราบได้ว่า USA ที่พวกเขาตะโกนตอบมานั้น เป็นการเรียกร้องให้อเมริกันสามัคคีกันไว้ หรือหมายถึง สหรัฐไม่ยอมพ่ายแพ้ด้วยความรุนแรงทางการเมือง แต่หวังว่ามิใช่เป็นคำพูดในเชิงสัญลักษณ์ว่า “ฟันต่อฟัน”
อเมริกันชนถวิลหาความสันติ มุ่งสู่เส้นทางอันเกษมเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี สังคมโลกก็ด้วยความหวังเช่นเดียวกันคือ อยากได้ประธานาธิบดีที่ได้รับฉันทามติอย่างสมบูรณ์ และมีความสามารถที่จะรังสรรค์สังคมให้มีระเบียบแบบแผน แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนคือ ความแตกแยกของสังคมยกระดับ และเรื่องที่ยิ่งทำให้กังวลคือ ปัญหาภายในของอเมริกามากเหลือล้น ภายนอกก็มีปัญหาโดยใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง
คดีลอบสังหารในครั้งนี้ยังอยู่ในขั้นตอนสืบสวน นำมาซึ่งความกังวลแก่สังคม จึงวิงวอนให้ผู้สมัครทั้งสองต้องควบคุมสติเกี่ยวกับการหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องควบคุมสถานการณ์ของบรรดา FC เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน อีกทั้งยุติความรุนแรงทางการเมืองอันอาจเกิดขึ้นได้ โดยการแสดงให้สังคมโลกเห็นภาพการเลือกตั้งที่สะอาด สันติ และความทันสมัยของสหรัฐ
ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช