กม.ก็แค่กระดาษ

กม.ก็แค่กระดาษ กฎหมายอยู่ที่กระดาษ ความสามารถอยู่ที่คน

กฎหมายอยู่ที่กระดาษ ความสามารถอยู่ที่คน
สำนวนไทยโบราณยังใช้การได้ดีมาจนถึงวันนี้
แรกผมตั้งใจจะปิดฉากสานเสวนาว่าด้วยการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอนสุดท้ายสัปดาห์ที่แล้ว แต่จบไม่ลงเพราะเกิดมีควันหลงตามมา
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นวัตกรทางการศึกษาผู้สร้างนวัตกรรมเพาะพันธุ์ปัญญา ปฏิรูปการศึกษาด้วยแนวทางโครงงานฐานวิจัย ทักษะการคิดชั้นสูง ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วแต่ไฟไม่ยอมมอด อ่านข้อเขียนหลักสูตรฐานสมรรถนะ เลยทักมาชวนคุยต่อ

ครูสุธีระสะท้อนผ่านไลน์มาว่า “สี่ปีที่ผ่านมาเราทุ่มสติปัญญาให้กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กฎระเบียบ การกระจายอำนาจต่างๆ เราพยายามให้พื้นที่มีอิสระจากหลักสูตรและการจัดการ แต่ระบบยังไม่สามารถปลดพันธนาการทั้งหมดได้สมบูรณ์ หลายคนยังสับสนการปฏิบัติ ผลการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษายังไม่สามารถลงไปที่นักเรียนอย่างเต็มที่จนสามารถประเมินพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง
“ที่สำคัญคือเมื่อเราทุ่มพลังการทำงานไปที่เอกสารต่างๆ จนได้หลักสูตรที่ดี ผ่านการกลั่นกรองมันก็เหมือนได้รถบัสคันงาม นักเรียนนั่งเต็มรถ แต่ขาดคนขับ เพราะเราไม่ได้พัฒนาครูให้เข้าใจการสอนให้ผู้เรียนได้สมรรถนะ ไม่รู้จะจัดกระบวนการสอนอย่างไร ไม่รู้จะประเมินอย่างไร ถ้าจะประเมินกันตอนนี้ คงได้เห็นแต่รถบัสที่มีนักเรียนเต็มรถเท่านั้น”

“ถ้าเรามีครูที่เข้าใจการเห็นสิ่งรอบตัวเป็นโจทย์ มอบงานให้นักเรียนทำ รู้เส้นทางเดินไปหาความรู้จากการทำโครงงาน รู้จักการประคับประคองโค้ชผู้เรียนตลอดทาง รู้การตีความพฤติกรรมการทำงานออกมาเป็นสมรรถนะ VASK มันจะไม่ยากที่จะทำให้ผู้เรียนได้สมรรถนะจากการเรียนวิชาโครงงาน”
“อย่างที่ผมเขียนโพสต์เมื่อวานว่าหลักสูตร 51 ก็กำหนดแล้ว 5 สมรรถนะ ม.24 ของ พ.ร.บ.การศึกษาปี 42 ก็เปิดโอกาสให้ครูทำได้ เพียงแต่เราไม่รู้กันเองว่าจะใช้ประโยชน์จาก ม.24 อย่างไรต่างหาก เห็นข้อเขียนหลักสูตรฐานสมรรถนะของคุณสมหมายเผยแพร่ทางไลน์ จึงส่งที่ผมโพสต์ใน FB มาให้”
“สิ่งที่ละเลยมากคือการพัฒนาครูครับ หลักสูตรเป็นเพียงกระดาษ เขียนสวยหรูยังไงก็ได้ แต่จะไม่เกิดผลถ้าไม่พัฒนาครู ที่สำคัญคือพัฒนาที่ต้นทางคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ครับ

“ขณะนี้มี มรภ.5 แห่ง (ราชนครินทร์ ลำปาง กาญจน์ จอมบึง สุราษฎร์ฯ) รวมตัวกันหาทางพัฒนาการผลิตครูให้สามารถสอนโครงงานแบบเพาะพันธุ์ปัญญาได้
“เริ่มจากพัฒนา mindset ใหม่ของครุศาสตร์ก่อน เมื่อต้นเดือนทำจิตตปัญญาให้เข้าใจนิเวศการเรียนรู้ สัปดาห์ที่แล้วพัฒนากระบวนการคิดแบบ เพาะพันธุ์ปัญญา เพื่อเข้าใจการทำโครงงานที่เป็นการสร้างการเรียนรู้ ปลายเดือนนี้เป็น PLC กับ Reflective coaching พัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง
“ข่าวดีคือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่รับผิดชอบการพัฒนาครูสอนโครงงาน เข้าสังเกตุการณ์ และสนใจที่จะให้พัฒนาครูและศึกษานิเทศก์ในแนวทางของ พพปญ. ครับ”
“สมรรถนะเด็กเป็นผลงานครู ถ้าครูไม่มีสมรรถนะการสอน เด็กก็ไม่ได้สมรรถนะ การประเมินที่ขาดหายว่า พื้นที่นวัตกรรมสำเร็จ คือ การประเมินครู”

ADVERTISMENT

ปัจจุบันทีมงานเพาะพันธุ์ปัญญาพัฒนาเป็นเพาะพันธุ์ปัญญาอะคาเดมีร่วมกับมูลนิธิ พพปญ. สร้างหลักสูตรการพัฒนาครู อาจารย์ครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ครูของครู ล่าสุดจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา
สำนักงานปลัดกระทรวง อว. คิดจะสนับสนุนผ่านทางโครงการ reinventing university คุยกันได้พักใหญ่แล้วยกเลิกไป เพราะ (เข้าใจว่า) อว. เอาทรัพยากรไปหนุน มรภ. เรื่อง soft power
งานมหาวิทยาลัยราชภัฏมีความหวังที่ สสวท.ครับ เขามี MoU กันอยู่ ให้ มรภ. พัฒนาครูด้าน SMT สสวท. เป็นหัวแรงในการพัฒนาครูโครงงาน ถ้า 2 องค์กรนี้ยอมรับ ก็พอมีทางไปต่อได้ครับ”

ครูใหญ่เพาะพันธุ์ปัญญาย้ำอีกว่า “ความจริงหลักสูตร 2551 ได้กำหนดสมรรถนะแล้ว แต่จะเห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่เข้าใจการพัฒนาครูให้สอน เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ”
“ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสอนโครงงานครับ เพราะเป็นวิชาเดียวที่ครูมีอิสระ เพราะสมรรถนะเกิดจากการทำงานในการศึกษาหาความรู้ แต่ขณะนี้การสอนโครงงานล้าหลังมาก ไปเน้นที่ชิ้นงานเพื่อการประกวดแข่งขัน ไม่เข้าใจการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ของการทำงาน”
“ประเทศเรารอให้ตกลงถกเถียงเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่ได้ เพราะยิ่งเวลาผ่านไปเรายิ่งเสียโอกาส ผมจึงเห็นช่องทางในหลักสูตรแกนกลาง 51 ที่โรงเรียนมีอิสระจัดการศึกษาได้ระดับหนึ่ง สามารถมีหลักสูตรของสถานศึกษาได้เอง จึงควรเน้นการสอนโครงงานให้ถูกต้อง”

ADVERTISMENT

“อีกทั้งพระราชบัญญัติการศึกษา มาตรา 24 ก็กำหนดให้สถานศึกษาสอนแบบที่เพาะพันธุ์ปัญญาทำอยู่ มาตรานี้มี 6 วงเล็บ เป็นเรื่องที่ควรทำทั้งนั้น และสามารถทำได้โดยการปฏิรูปการสอนโครงงาน”
“ถ้า สพฐ.สนับสนุนโรงเรียนให้สามารถจัดการศึกษาตามมาตรา 24 ได้ เราจะไม่เสียโอกาสในการรอคอยหลักสูตรใหม่”
“จึงอยากให้ลองคลี่มาตรา 24 ออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ชี้แนะ ให้เห็นช่องทางการสอนให้ผู้เรียนได้สมรรถนะ ซึ่งหมายความว่าต้องพัฒนาครูให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 24 ได้”

บทสะท้อนคิดของครูสุธีระ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามให้การศึกษาเกิดความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาครู จะทำอย่างไรถึงจะสอนให้นักเรียนเกิดสมรรถนะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันและอนาคต

ทักษะการคิดชั้นสูงที่ได้จากการทำโครงงานฐานวิจัย ปฏิวัติการสอนวิชาโครงงาน คือคำตอบครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image