กลยุทธ์การสังหารภาพลักษณ์ของคู่แข่ง ระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กับ ‘คามาลา แฮร์ริส’

กลยุทธ์การสังหารภาพลักษณ์ของคู่แข่ง ระหว่าง‘โดนัลด์ ทรัมป์’กับ‘คามาลา แฮร์ริส’

กลยุทธ์การสังหารภาพลักษณ์ของคู่แข่ง
ระหว่าง‘โดนัลด์ ทรัมป์’กับ‘คามาลา แฮร์ริส’

ตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้สถานการณ์การเมืองในสหรัฐเปลี่ยนไป กลยุทธ์ในการหาเสียงของทั้ง นางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพลับบลิกันก็เปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่เช่นกัน อีกไม่ถึง 100 วัน ก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พรรคการเมืองทั้งสองคงจะมีการรณรงค์หาเสียงที่เข้มข้นขึ้น นอกจากจะแข่งขันหาเสียงในเรื่องนโยบาย และการโจมตีนโยบายของฝ่ายตรงข้าม ดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะได้เห็นการโจมตีใส่กันในรูปแบบการสังหารภาพลักษณ์ด้วย

การสังหารภาพลักษณ์ (Character assassination) ในทางการเมืองหมายถึง ความตั้งใจ หรือพยายามทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง การใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม ในที่สาธารณะ ทางโทรทัศน์ และสื่อต่างๆ จากงานเขียนของ Eric Shiraev และ Martijn Icks ในหนังสือ Character Assassination throughout the Ages ได้อธิบายว่า การสังหารภาพลักษณ์นั้น แรงจูงใจของผู้กระทำบ่อยครั้งมักจะเกิดจากความตั้งใจที่จะทำลายเป้าหมายในเชิงจิตวิทยา หรือเพื่อให้ประชาชนสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามน้อยลง ลดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเกมส์การแข่งขันทางการเมือง ตัวอย่างเช่น ระหว่างการเลือกตั้ง การโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีนี้ นำมาใช้เพื่อโน้มน้าว ดึงคะแนนจากกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร (undecided voters) หรือเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มที่สนับสนุนพรรคหันไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งวิธีการนี้ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อครอบงำผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้อย่างน่าพอใจ

และดูเหมือนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ระหว่างอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะเริ่มต้นด้วยการใช้กลยุทธ์นี้

Advertisement

สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อต้องพบกับผู้ท้าชิงคนใหม่คือ นางคามาลา แฮร์ริส โดยรวมแล้วเชื่อว่านโยบายการหาเสียงหลักๆ น่าจะยังเป็นการชี้ให้เห็นจุดอ่อนจากการบริหารงาน ความล้มเหลวในนโยบายต่างๆ ของโจ ไบเดน ใน 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายต่างๆ ของทางเดโมแครตก็คงจะสืบทอดต่อไปยังแคนคิเดตคนใหม่ ทำให้สามารถใช้ประเด็นเดียวกันนี้โจมตีนางคามาลา แฮร์ริส ได้ด้วย และกลยุทธ์สำคัญต่อไป คือ การสังหารภาพลักษณ์ นางคามาลา แฮร์ริส ให้ปรากฏในสายตาของประชาชน โดยมุ่งเป้าไปยังความล้มเหลวของเธอที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาผู้อพยพบริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐ ทำให้มีคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายมากขึ้น และคนพวกนี้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น และจุดอ่อนที่เธอไม่ค่อยมีบทบาทนักในเวทีโลก อีกสิ่งหนึ่งที่จะได้เห็นกันอย่างแน่นอนคือการโจมตีที่เรียกว่า “personnel Attack” หมายถึงการเอาคุณลักษณะ พฤติกรรม รวมถึงเชื้อชาติขึ้นมาดูถูก เหยียดหยามกันจนเป็นเรื่องตลก นางคามาลา แฮร์ริส นั้นได้กลายเป็นเหยื่อให้ฝ่ายพรรครีพับลิกัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติ มีอคติทางเพศ และขุดเรื่องราวการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมในอดีตมาทำให้เสียชื่อเสียง เช่น ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของนางคามาลา แฮร์ริส กับนายวิลเลียม บราวน์ นักการเมืองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีครอบครัวแล้ว การใช้ถ้อยคำรุนแรงตามสไตล์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การเรียกนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ว่า “dumb as a rock” หมายถึง “โง่ไม่มีชิ้นดี” หรือเรียก “คนขี้เกียจ และรองประธานาธิบดีที่ล้มเหลว” (a bum and a failed vice president) เราคงจะได้เห็น verbal abuse การใช้คำพูดเสียดแทงจิตใจฝ่ายตรงข้ามอีกมากมาย อีกในเวทีหาเสียงต่างๆ รวมถึงวันโต้วาทีนัดแรกกับ นางคามาลา แฮร์ริส

ในเวลาเดียวกันเมื่อศึกชิงประธานาธิบดีเริ่มร้อนแรงขึ้น โดยแค่วันแรกของการรณรงค์หาเสียงของนางคามาลา แฮร์ริส ก็ใช้คำดุเดือดในคำปราศรัยกล่าวว่าโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนขี้โกหก คนหลอกลวง และขี้โกง ขณะนี้ฝ่ายเดโมแครต และคามาลา แฮร์ริส ก็ได้ใช้กลยุทธ์ที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเป็นตัวตลก ประหลาด (weird) ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเขาจากผู้ทรงอำนาจทางการเมือง ผู้มีชื่อเสียง ให้กลายเป็นคนที่ดูน่ารังเกียจ และน่าขบขัน และเอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยใช้คำเด็ดในการโจมตีกลับว่า “แก่ และประหลาด” (old and quite weird) และ “เสียสติ” (unhinged) เรียก โดนัลด์ ทรัมป์ว่าเป็นอาชญากร ในคดีความผิดอาญาร้ายแรง (felon) อันเป็นการจี้จุด และทำลายความน่าเชื่อถือสำหรับคนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และยกเหตุการณ์การบุกโจมตีอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2021 ขึ้นมาตอกย้ำการที่โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามล้มล้างผลการเลือกตั้ง ซึ่งกล่าวหาทรัมป์ว่า “เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย”

Advertisement

กลยุทธ์การสังหารภาพลักษณ์ ของทั้งสองฝ่าย อาจนำมาใช้และประสบความสำเร็จได้บ้างในระยะสั้นนี้ แต่การโจมตีที่ตัวบุคคล แทนที่จะโจมตีข้อโต้แย้ง หรือเนื้อหาสาระในนโยบายของฝ่ายตรงข้าม จะสร้างให้เกิดอคติขึ้นกับประชาชน เมื่อบรรยากาศการหาเสียงร้อนแรงขึ้น ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการปลุมระดมให้เกิดความเกลียดชัง ความขัดแย้ง และแตกแยกในสังคมอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นได้

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล
อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยา หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย (ASAT)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image