ภาพเก่าเล่าตำนาน : น้ำ…ในพงศาวดารไทย

ภาพเก่าเล่าตำนาน : น้ำ...ในพงศาวดารไทย

พ.ศ.2309-พ.ศ.2310 กองทัพของพม่ามาปิดล้อมอยุธยา นานกว่า 14 เดือน ในสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศของอาณาจักรอยุธยา และพระเจ้ามังระของอาณาจักรโกนบอง
อยุธยามีการป้องกันพระนครโดยมีป้อมปราการเป็นกำแพงอิฐสูงล้อมรอบตัวเมืองที่กว้างขวาง ดังนั้นจึงสามารถป้องกันมิให้ข้าศึกเข้าจู่โจมตีได้อย่างสะดวก ถึงแม้กองทัพพม่าได้รุกล้อมรอบพระนครทุกทิศทาง อยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ

พม่าล้อมกรุง…แต่แม่ทัพนายกองของอยุธยาตั้งใจเด็ดขาด รั้งหน่วงรักษากรุงไว้ จะรอจนถึง “ฤดูน้ำหลาก” น้ำหลาก คือ “อำนาจกำลังรบ” ที่ทรงพลังสำหรับอยุธยา

แม่ทัพพม่าก็ทราบดีว่า ต้องเผด็จศึกบุกเข้าอยุธยาให้ได้ก่อนน้ำหลาก กองทัพพม่าจะอ่อนล้า อ่อนแรง เจ็บป่วยทันที ถ้าน้ำท่วม ช้าง ม้า วัว ควาย เสบียงอาหาร ดินปืน การเคลื่อนย้ายจะถูกจำกัด ทหารเดินเท้าแทบจะทำอะไรไม่ได้…
ล้อมอยุธยาอยู่นาน พวกแม่ทัพนายกองของพม่า เริ่มจะถอดใจ เข้าตีอยุธยาไม่สำเร็จซักที แถมยังจะ ต้องเจอกับ “มวลมหาน้ำ” จึงแนะนำให้มังมหานรธาสั่งให้เลิกทัพกลับไปก่อน เพราะฝนตกชุกเดี๋ยวน้ำเหนือก็จะหลากมา
แม่ทัพใหญ่มังมหานรธา “ไม่เห็นด้วย” เพราะนี่คือโอกาสทองที่ปิดล้อมมาแล้วกว่า 10 เดือน อยุธยาอ่อนกำลัง จวนจะตีได้อยู่แล้ว

คำสั่งของแม่ทัพ คือ ประกาศิตจากสวรรค์

Advertisement

กองทัพพม่า “ปรับแผน” ที่จะเจอกับฝนหนักน้ำท่วม ไพร่พลเตรียมทำไร่ทำนา ตรวจหา “ที่ดอน” ตามโคกตามวัดอันมีอยู่รอบพระนคร แล้วแบ่งหน้าที่กันให้กองทัพแยกออกไปตั้งค่ายสำหรับที่จะอยู่ เมื่อถึงฤดูน้ำให้ผ่อนช้างม้าพาหนะไปเลี้ยงตามที่ดอนในหัวเมืองใกล้เคียง แล้วให้เที่ยวรวบรวมเรือใหญ่น้อยมาไว้ใช้ในกองทัพเป็นจำนวนมาก
อยุธยาเป็นเมือง “อู่ข้าวอู่น้ำ” ถึงหน้าน้ำ น้ำจะหลากมาจากทางเหนือ บ่าเข้าท่วมทุ่งนาและที่ลุ่มทั้งหมด บ้านชาวอยุธยาจึงต้องปลูกใต้ถุนสูง ให้พ้นระดับน้ำหลาก มีเรือเป็นพาหนะ
อยุธยาพอมีที่ “ดอน” ในบางแห่ง พื้นที่วัดนั้นจะสูงกว่าทุ่งนาโดยรอบ และในเขตเกาะเมืองอยุธยา เพราะในอดีต มีการถมดินจากการขุดคลองขุดคูเมืองมานมนาน
น้ำหลากมาตามฤดูกาลที่เป็นมาแต่อดีตที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพราะเป็นวิถีชีวิตแต่โบราณกาล ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ภาคกลางมีเรือใช้แทบจะทุกบ้าน พระสงฆ์ยังออกบิณฑบาตด้วยเรือ
กองทัพพม่าที่กระจายตัวกันอยู่กับน้ำ หาเสบียงอาหารจากน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เพราะในดินแดนพม่าเอง (ส่วนใหญ่) ฝนตกหนัก น้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำสายหลักในพม่ากว้างใหญ่กว่าในอยุธยาหลายเท่า เฉอะแฉะ ชาวพม่าเลยใช้ “รองเท้าแตะ” เป็นหลัก

หลังจากที่หมดฤดูน้ำหลาก มังมหานรธาล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมที่ค่ายบ้านสีกุก กองทัพพม่าแบ่งกำลังเป็น 2 คือ ทางเหนือ และทางใต้ ของอยุธยา
เนเมียวสีหบดีขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดเพียงผู้เดียว สั่งการให้กองทัพทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา
กองทัพพม่าไม่ถอยทัพ ในที่สุดเมื่อน้ำลด เข้าสู่หน้าแล้ง แม่ทัพพม่าจัดแจงแต่งทัพใหญ่เข้าตีอยุธยา

Advertisement

7 เมษายน 2310 กรุงศรีอยุธยาแตก

ผู้เขียนตั้งใจจะเน้นเรื่อง “น้ำหลาก” ที่เป็นพลังอำนาจจากธรรมชาติในอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียงนะครับ มิได้ตั้งใจจะกล่าวถึงสงครามไทย-พม่า แต่อย่างใด
กาลเวลาผ่านมาราว 300 ปี ธรรมชาติ ลมฟ้า อากาศเปลี่ยนแปลงไปบ้าง…แต่ที่ไม่ผิดนัด คือ น้ำหลาก
พ.ศ.2554 ผู้เขียนยังรับราชการ มีโอกาสขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสภาพน้ำแถวอยุธยา ยังติดตา ตกใจกับอานุภาพของมวลน้ำที่ “ต้านไม่ไหว” และทำความเสียหายเข้ามาถึง กทม.
ภาพที่ออกไปทั่วโลก คือ ประชาชนใน กทม. นำรถยนต์ขึ้นไปจอดบนทางด่วนเรียงกันไปตลอดแนวแบบไม่มีที่ว่าง และภาพของน้ำท่วมถึงท้องเครื่องบินโดยสารที่สนามบินดอนเมือง
ยังถกเถียงกันไม่จบว่า ไหนว่าดอนเมืองเป็น “ดอน” คือที่สูง ยังไงน้ำก็ไม่ท่วม เสียหายหนัก
พ.ศ.2554 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในเวลานั้น ถอดบทเรียน ศึกษา เพื่อจะแก้ปัญหาระยะยาวทั้งประเทศทุกระบบน้ำ เพื่อจะแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ทำแผนแล้วเสร็จ …มีบริษัทระดับโลกขอเข้ามาสำรวจทางวิศวกรรม หากแต่เหตุรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเหตุที่ต้องยุติแผนงานดังกล่าวไปโดยปริยาย

มากล่าวถึงเหตุน้ำหลาก น้ำท่วมในปัจจุบันครับ
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 ฝนตกหนักทางภาคเหนือของไทย น้ำป่าไหลลงแม่น้ำแบบดุดัน น้ำล้นตลิ่ง ทะลักออกมาเหนือพนังกั้นน้ำ ไหลบ่าเข้าท่วมตัวเมือง จังหวัดน่าน หนักสุด
ขณะกำลังเขียนต้นฉบับ มวลน้ำ กำลังเคลื่อนเข้า จ.สุโขทัย รวมไปถึงพื้นที่ภาคกลางในลุ่มเจ้าพระยา ตอนเรียนชั้นประถมต้องท่อง 4 แม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม น่าน ที่มารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

แผ่นดินสยามในรัชสมัยในหลวง ร.5 ที่เสด็จประพาสเมืองชวา (อินโดนีเซีย) ที่ถูกปกครองโดยชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ให้ความสำคัญเรื่องของการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ “เอ็นยิเนีย”
การสำรวจข้อมูลทางภูมิศาสตร์เรื่อง “น้ำ” ในประเทศไทย เริ่มเมื่อในหลวง ร.5 ทรงให้ว่าจ้าง นายเจคอบ ฟาน แดร์ ไฮเด วิศวกรดัตช์และทีมงานมาเดินสำรวจป่า เขา แม่น้ำในสยาม และทรงตั้งให้เป็น “เจ้ากรมคลอง” คนแรกของสยาม วิศวกรท่านนี้ ทำเอกสารที่เป็นข้อมูลทางวิศวกรรม เสนอขุดคูคลองสู่แนวคิด “สร้างเขื่อนเจ้าพระยา”
มิสเตอร์ไฮเดซึ่งเป็นวิศวกรเคยทำงานที่เมืองปัตตาเวีย เข้ามาศึกษาและวางแผนการจัดการน้ำในสยาม ไฮเดปฏิบัติงานอยู่ในสยาม ตั้งแต่ พ.ศ.2445-2452 รวมเวลาที่ทำงานอยู่สยาม 7 ปี
เอ็นยิเนีย ไฮเด เสนอว่า… เพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตรของสยามอย่างทั่วถึง ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทดน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดชัยนาท แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เงียบไป

พ.ศ.2457 ในสมัยในหลวง ร.6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมทดน้ำ” และได้แต่งตั้ง นายอาร์ ซี อาร์ วิลสัน เป็นเจ้ากรมทดน้ำ
พ.ศ.2470 สมัยในหลวง ร.7 กรมนี้ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กรมชลประทาน” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงรัชสมัยในหลวง ร.6 ต่อเนื่องถึงสมัยในหลวง ร.7 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การสร้างเขื่อนแห่งแรกในสยาม เป็นเรื่องห่างไกล
พ.ศ.2495 แนวคิด “เขื่อนเจ้าพระยา” ของนายไฮเด ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
พ.ศ.2491 ในรัชสมัยในหลวง ร.9 รัฐบาลได้เข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลก จึงขอกู้เงินเพื่อสร้างโครงการเจ้าพระยาใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 เป็นเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
27 กันยายน พ.ศ.2498 ช่วงระหว่างการก่อสร้าง ล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนเจ้าพระยา

ลองมาส่องเหตุการณ์ น้ำท่วม น้ำหลาก ปี พ.ศ.2567
ฝนตกหนัก น้ำท่วมเสียหายหนักในพื้นที่ภาคเหนือ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และสุโขทัย ทุกฝ่ายเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โรงครัวพระราชทาน ส่วนราชการทุกฝ่ายแยกย้ายกระจายตัวออกไปทำงาน
ถุงยังชีพเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ประสบภัย
ชมข่าวโทรทัศน์ ประชาชนผู้ทำมาหากินนับหมื่นราย น่าน แพร่ นอกเมือง ในเมือง สิ้นเนื้อประดาตัวจากน้ำท่วม มันคือ หายนะซ้ำๆ ที่ทับถมด้วยหนี้สินเพื่อเริ่มชีวิตอีกครั้ง
มีประชาชนเจ็บป่วย ที่นอนติดเตียง ที่บ้าน ที่โรงพยาบาล เป็นที่น่าเวทนา

เหตุการณ์เยี่ยงนี้มิใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีการถกเถียง สนับสนุน คัดค้าน การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือจากหลายสำนัก หลายทฤษฎี โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มีกลุ่มผู้ประท้วงที่เข้มแข็ง อุปสรรคใหญ่ คือ การเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างในการระบายน้ำ
ขอให้รัฐบาล “ปัดฝุ่น” แผนบริการจัดการน้ำที่สำรวจทางวิศวกรรมเสร็จแล้ว นำมาพูดคุยกันแล้ว ตัดสินใจลงมือ
เรื่องเขื่อน ฝาย แหล่งเก็บกักน้ำ แก้มลิง ทางระบายน้ำขนาดใหญ่ อุโมงค์ ฯลฯ ถ้าหลักวิชาการยืนยันว่า “แก้-ลดปัญหาได้จริง” ก็ขอให้ตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลยครับ
กว่าจะคิดวางแผน หางบประมาณ กว่าจะได้ทำประชาพิจารณ์ แล้วลงมือทำ เห็นผล ก็อาจจะใช้เวลากว่า 10 ปี
กองทัพพม่ายังขยาดน้ำท่วมเลยครับ…

ถ้าไม่ตัดสินใจ ก็จะต้องไปแจกของ ไปดำผุด-ดำว่าย พายเรือ แจกถุงยังชีพ รับบริจาค กันต่อไปตราบนานเท่านาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image