พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : มากกว่าอุบัติเหตุการก่อสร้างโครงการรัฐในเมือง

พระราม 2 – ข่าวการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ที่นำไปสู่การสูญเสียในรอบนี้หลายชีวิต และบาดเจ็บ รวมไปถึงความเดือดร้อนในการเดินทางของผู้คนจำนวนไม่น้อย เป็นเรื่องที่ควรนำมาคิดกันให้มากขึ้น

อย่างเข้าอกเข้าใจในทุกฝ่าย

เรื่องแรก ผมไม่ได้มองว่าตัวหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ควรถูกประณามหรือถูกลงโทษในแบบที่ไม่ต้องฟังคำชี้แจงจากเขา

แต่ในด้านเดียวกันเรื่องแบบนี้ก็ไม่ควรปล่อยผ่าน

ADVERTISMENT

และยังมีอีกหลายมุมที่ต้องมอง

มันมีสิ่งที่ผิดพลาด แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าไม่ใช่แค่อุบัติเหตุจากการก่อสร้าง

ADVERTISMENT

แต่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความไม่ปลอดภัยในเมือง มากกว่าแค่อุบัติเหตุ

ทีนี้ในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในเมืองมันก็มากกว่านั้นอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นความผิดในฐานะอาชญากรรมสาธารณะ

สรุปก็คือไม่ใช่เรื่องแค่ความไม่ปลอดภัยและอุบัติเหตุ เพราะสามารถปรับปรุงได้ และไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การลงโทษอย่างเดียว เช่น การปรับ หรือกล่าวหาประณาม ไม่ได้ให้หลักประกันอะไรเลยที่จะทำให้ความสูญเสียเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีก

อย่างน้อยผมเชื่อว่าประชาชนคนในกรุงเทพฯไม่มีใครเชื่อเช่นนั้นอีกต่อไป

นี่คือความสิ้นสุดในศรัทธาที่เกิดขึ้นกับการปรับปรุงพัฒนาประเทศและพัฒนาเมืองอีกครั้งหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง

รูปแบบที่เราเห็นก็คือข่าวรายงานอุบัติเหตุ และการกู้ภัย และสุดท้ายก็คือการตรวจสอบโดยองค์กรผู้เชี่ยวชาญ

สิ่งที่ไม่ได้มีคนรายงานคือ ศรัทธาและความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการก่อสร้างถนนเส้นนี้

มีสองประเด็นที่พึงพิจารณา

หนึ่งคือ รูปแบบของความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้างในเมืองครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุอย่างแน่นอน ถ้ามีกระบวนการวางแผนในการก่อสร้างที่ดีกว่านี้ มีความรอบคอบกว่านี้

ถ้ามองว่าเป็นอุบัติเหตุ ก็คือการพยายามมองว่าเป็นเรื่องปลายทาง

ต่อให้เป็นเรื่องอุบัติเหตุ ก็แปลว่าไม่รอบคอบไม่ได้เสนอแนวทางฟ้องกันให้ชัดเจนตั้งแต่แรก

ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานนั้นผิดจนให้อภัยไม่ได้ แต่หมายความว่าใครล่ะที่สามารถกำกับดูแลการทำงานของหน่วยงานนี้ได้ตั้งแต่ต้น

ไม่ใช่แค่ความสูญเสีย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในเมือง ไม่ได้ต่างจากอาชญากรรม แต่เป็นอาชญากรรมต่อสาธารณะที่ไม่ได้กระทำจากคนใดคนหนึ่ง

แต่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากระบบที่จัดการได้ไม่ดีพอ

และจะต้องเป็นบทเรียนสำคัญมากกว่าการรำลึกถึงในครั้งต่อๆ ไป

อาชญากรรมสาธารณะในครั้งนี้มีความรุนแรง และแก้ไขได้โดยการวางแผนที่ดี บริหารจัดการให้ดี ตรวจสอบให้ดี และหาทางลดผลกระทบเพราะเกี่ยวพันกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองด้วย เพราะเส้นทางสายนี้ก่อสร้างโดยไม่ได้คำนึงถึงการขยายเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การจราจรแออัดจนไร้ความหวังว่าจะสร้างเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเมืองขยายตามเส้นทางจนแน่นไปหมด และเมื่อเกิดเหตุ ก็ทวีปัญหาให้กับการพัฒนาเมืองและการบริหารสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองในแต่ละวันได้เลย

สอง การเกิดความสูญเสียในครั้งนี้ สะท้อนชัดถึงการขาดหลักการธรรมาภิบาลในการบริหารเมืองขั้นวิกฤต เพราะไม่มีการกำกับดูแลเรื่องนี้ร่วมกันระหว่างผู้ก่อสร้าง รัฐบาลเมือง และภาคส่วนต่างๆ ในเมืองอย่างเป็นระบบก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น

การก่อสร้างเส้นทางสายนี้ถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานระดับชาติ ทั้งที่เป็นหน่วยงานพิเศษ และหน่วยงานส่วนกลางอย่างคมนาคม (กรณีที่เป็นเส้นทางธรรมดา ไม่ใช่เส้นทางด่วน) ทั้งที่เหตุนั้นเกิดในพื้นที่เมือง ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล

ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่น และประชาชน ชุมชนในพื้นที่นั้นไม่ได้มีโอกาสตรวจสอบและกำกับดูแล รวมทั้งตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง

จากนี้ไปควรจะต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลการก่อสร้างของเมืองที่มีทั้งประชาชน ชุมชน ภาคประชาสังคม และเมืองมาทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายคู่ขนาน และประสานกับการทำงานจากส่วนกลาง และหน่วยงานพิเศษของรัฐบาลกลางด้วย ตั้งแต่เริ่มแรก

สื่อต่างๆ จะต้องไม่รอรายงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย และต้องไม่ใช่ทำคลิปเสียดสีแต่เพียงเท่านั้น

การทำงานร่วม เพื่อกำกับดูแลตรวจสอบความปลอดภัยในการก่อสร้างของเมือง จะต้องทำงานในระดับเครือข่ายมากขึ้น ในพื้นที่ต่างๆ และเมื่อมีโครงสร้างขนาดใหญ่ที่แม้ว่าโครงการนั้นจะใหญ่กว่าโครงการของเมืองเอง คือโครงการของส่วนกลางที่ลงมาในพื้นที่เมือง ตัวแทนของเครือข่ายธรรมาภิบาลเมืองจะต้องมีสิทธิและส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้น และต้องสื่อสารกับสาธารณะมาโดยตลอด

การขาดการดูแลเรื่องความปลอดภัยของเมืองนั้น สามารถถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมต่อสาธารณะ และอาชญากรรมเช่นนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ไม่ได้หมายความว่าโกง

แต่หมายความว่าหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของเราในการทำงานสาธารณะไม่ได้ทำงานให้เป็นไปตามผลประโยชน์ของเรา แถมทำให้เราเสียประโยชน์ด้วย

พรุ่งนี้เป็นต้นไป ผมคิดว่าทาง กทม.ควรเริ่มหารือ หาความเป็นไปได้กับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่นถ้าเป็นถนนเส้นนี้ก็แต่ละเขตที่อยู่บนเส้นนั้น สำนักที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม ชุมชน และสื่อ รวมทั้งผู้สนใจในการต่อรองเจรจาเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำกับดูแลเรื่องของการก่อสร้างในพื้นที่ของ กทม. มากกว่าเรื่องใบอนุญาต และการนั่งดูโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกจิ้มและสร้างลงในพื้นที่

เรื่องนี้รวมทั้งสื่อต่างๆ ด้วยที่ควรจะร่วมกันเข้ามาสร้างระบบกำกับดูแล การเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้า ข้อมูลความปลอดภัย แผนรองรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อให้เมืองอยู่รอดและฟื้นสภาพกลับมาได้

อย่าให้เรื่องนี้จบแบบเดิมๆ

ส่วนระยะที่ยาวกว่านี้ แนวคิดที่ทาง กทม.ฝันเอาไว้ว่าอยากให้มีกองทุนในการบริหารจัดการและก่อสร้างโครงการต่างๆ ในเมืองก็ควรจะใช้หลักการนี้ในการจัดตั้ง ไม่ได้มองแต่เรื่องการคลัง แต่มองเรื่องของการประสานงาน ตรวจสอบ กำกับดูแลการก่อสร้างตั้งแต่วางแผนใช้ที่ดิน มาตรฐานสิ่งที่จะก่อสร้าง มาตรฐานการก่อสร้าง และการประเมินผลและติดตามตรวจสอบด้วย

ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วถามหาแต่ผู้รับผิดชอบในตอนปลายทาง

ทั้งที่เรื่องนี้การวางแผนตั้งแต่ต้นทางนั้นมีความสำคัญยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image