อย่าให้ปฏิรูปการเลือกตั้งครั้งนี้…นับหนึ่งถึงหนึ่ง(2) : สมภพ ระงับทุกข์

อย่าให้ปฏิรูปการเลือกตั้งครั้งนี้…นับหนึ่งถึงหนึ่ง(2)

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเลือกตั้งได้จริงหรือ?

 

5.ปรับเปลี่ยนจากสร้างกลไกราชการมาเป็นกระบวนระบบให้ประชาชนมีบทบาทแทน

Advertisement

ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า จะสร้างระบบเลือกตั้งอย่างไร ให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด
การสร้างระบบเลือกตั้งที่ดึงคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้สิทธิด้วยตนเองนั้นเป็นตัวป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนจากการสร้างกลไกระบบราชการมาเป็นการสร้างกระบวนระบบที่ระบบเป็นตัวสร้างระบบป้องกันการทุจริตเลือกตั้งในตัวนั้นเอง อีกทั้งเป็นการลดจากความเป็นรัฐราชการ หรือศูนย์อำนาจเป็นระบบราชการ มาเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน โดยเฉพาะอำนาจประชาชนที่ออกมาใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

6.ข้อเสนอปรับระบบเลือกตั้งให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด โดยวิธี “การจ่ายเงินชดเชยการมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง”
หลักการและเหตุผล
1) หากจะขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง อันเป็นการมุ่งหมายให้กระบวนการประชาธิปไตยสมบูรณ์และสัมฤทธิผลนั้น รัฐจึงควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญให้เป็นผลอย่างแท้จริง
ดังนั้น มาตรการการให้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนี้ จึงเป็นมาตรการสนับสนุนและรองรับให้เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญนี้สัมฤทธิผลได้
นอกจากนี้ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 50 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ”
มาตรา 53 บัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
ส่วนมาตรา 78 บัญญัติว่า “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น เป็นเจตจำนงที่ดีเลิศอันควรเชิดชู แต่ให้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้นั้น ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายในเชิงมาตรการที่มารองรับ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนความคิดทางกฎหมายให้เป็นรูปธรรมได้
2) การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายต้องรับภาระส่วนตน คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ยิ่งสังคมปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ย้ายที่พำนักชั่วคราวจากภูมิลำเนาทำให้อาจเดินทางไกล เสียค่าใช้จ่ายสูง) ค่าใช้จ่ายจากการเสียเวลาทำมาหาได้ อันทำให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องยากลำบาก อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลง ผลการเลือกตั้งจึงไม่สะท้อนเจตจำนงการเป็นผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง อันทำให้การเมืองอ่อนแอ
3) การจ่ายเงินชดเชยในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการช่วยระดมให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนมาก การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากๆ ทำให้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้งทำได้ยาก เพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมาก การซื้อเสียงจำเป็นต้องซื้อเสียงจำนวนมากและกว้างขวาง เพื่อให้เหนือกว่าจำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิ ดังเช่นเดิม หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 40% การทุจริตซื้อเสียงลงทุนเพียง 20% ก็อาจชนะการเลือกตั้ง แต่หากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 80% การซื้อเสียงต้องลงทุนถึง 50% เช่นนี้ทำให้การทุจริตการเลือกตั้งยากยิ่งขึ้น
อีกทั้งการทุจริตเลือกตั้งโดยวิธีการสวมสิทธิ หรือบัตรผีก็ทำได้ยากขึ้นเช่นกัน

4) ทำให้ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งในด้านมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ หากมีการศึกษาจำนวนเงินค่าใช้จ่ายอย่างจริงจัง จะพบว่ามีสัดส่วนสูงมาก และมักไม่ประสบผลหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งอย่างแท้จริง
5) ทำให้ประหยัดงบประมาณในส่วนการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งรายจ่ายส่วนนี้
ในภาพรวมของทุกหน่วยงานมีรายจ่ายจำนวนสูงเช่นกัน
6) เป็นมาตรการที่เป็นการเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองที่สำคัญ โดยเปลี่ยนจากการต่อสู้ทางการเมืองที่จะต้องใช้ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี การหาคะแนนเสียงจากการใช้เงินซื้อเสียง-ขายเสียง มาเป็นการต่อสู้โดยนวัตกรรมเหตุผลทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติมากกว่า
7) เป็นการสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยตรง ทั้งนี้ ในระยะแรก ประชาชนบางส่วนอาจออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยหวังเงินชดเชย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนจะเริ่มสนใจติดตามและมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น อันเป็นการเลือกตั้งเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองเชิงคุณภาพต่อไป
8) เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1) ที่มุ่งให้ความสำคัญสูงสุดแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ที่จะต้องออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากๆ เพื่อให้ประชาชนได้เป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมทางการเมืองสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย
9) เป็นเครื่องมือทางการเงิน-การคลัง ให้คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมาตรการนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีอำนาจดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบและดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ส่วนคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย่อมต้องพิจารณาการใช้มาตรการนี้ เมื่อเห็นว่ามีเหตุผลต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
โดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเม็ดเงินที่จะอัดฉีดควรเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการทางเลือกเท่านั้น
10) มาตรการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนี้ มีหลายประเทศดำเนินการอยู่แล้ว และที่เห็นปรากฏ
ชัดเป็นข่าว คือ ประเทศอียิปต์ คณะกรรมการ
การเลือกตั้งสั่งจ่ายเงินชดเชยเป็นค่าเดินทางให้แก่ผู้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
11) การจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว เป็นการจ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นการจ่ายเงินซึ่งเป็นของประชาชนคืนให้แก่ประชาชนอย่างเสมอภาคกัน อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำหน้าที่พลเมืองได้เต็มที่และเสมอภาคกัน จึงมีความชอบธรรมในตัวเอง
12) เป็นมาตรการทางเลือก ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งนำมาใช้โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น มิใช่มาตรการบังคับให้ต้องจ่ายทุกครั้ง
ดังนั้น มาตรการนี้จะนำมาใช้จึงอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า
ก.คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสถานการณ์และสภาพสังคมขณะมีการเลือกตั้งนั้น สมควรนำมาตรการนี้มาใช้ และการใช้มาตรการนี้จะทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพยิ่งขึ้น
ข.คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าภาวะการเงินและการคลังของประเทศขณะนั้น สมควรและสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อมาใช้ในกิจกรรมเช่นนี้ได้
13) มาตรการนี้เหมาะสมกับสังคมการเมืองไทย เพราะปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งและการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทย และปัญหาเช่นนี้นับวันขยายตัวเป็นธนาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลำพังการใช้มาตรการปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง ย่อมไม่เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น
14) หากผู้ใดมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยทุจริตหรือโดยมิชอบ
ผู้นั้นต้องคืนเงินชดเชยและชำระค่าปรับจำนวนสิบเท่าของเงินชดเชยที่รับไป

Advertisement

7.สรุป
การกำหนดการจ่ายเงินค่าชดเชย
ให้แก่ผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นการแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง โดยออกแบบระบบให้เกิดแรงขับเคลื่อนประสิทธิภาพของประชาชนเกิดเป็นระบบป้องกันการทุจริตเลือกตั้งในตัวเอง
ต่างจากการสร้างกลไกของระบบราชการตรวจจับการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งในอนาคตจะสร้างสมปัญหาของตนเอง กลายเป็นปัญหาใหม่ไม่สิ้นสุด

สมภพ ระงับทุกข์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image