สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุนทรภู่กลับบ้านเกิด หลังถูกบังคับให้อยู่เมืองแกลง

สุนทรภู่เกิดที่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

โดยสุนทรภู่เขียนบอกเองในโคลงนิราศสุพรรณ ว่า “วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า” และตรงปากคลองบางกอกน้อยเป็น “บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ”

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน จัดแสดงหลักฐานไว้บางส่วน เท่ากับเชิญสุนทรภู่กลับบ้านเกิดแท้จริง หลังถูกบังคับนานหลายปีโดยระบบการศึกษาของไทย ให้อยู่เมืองแกลง จ. ระยอง

 ทบทวนวรรณกรรม

“สุนทรภู่เกิดที่วังหลัง” พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) บอกไว้ในต้นฉบับประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่) ที่รวบรวมเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 นานราว 9 ปี ก่อนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระนิพนธ์ประวัติสุนทรภู่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2465

Advertisement

สมเด็จฯ ไม่บอกว่าสุนทรภู่เกิดที่ไหน? บอกแต่ว่าบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง ระยอง “ฝ่ายมารดาเป็นชาวเมืองอื่น มาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เกิดสุนทรภู่เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้วได้ 4 ปี” ไม่บอกว่าเกิดวังหลัง

อนุสาวรีย์สุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ต. บ้านกร่ำ อ. แกลง จ. ระยอง วางศิลาฤกษ์ พ.ศ. 2498 สร้างเสร็จแล้วทำพิธีเปิด พ.ศ. 2513

ในฐานะกวีเอกของชาติที่คนไทยรู้จักมากที่สุด แล้วเดินทางไปหาบิดาที่บวชอยู่วัดป่าเดิม ซึ่งอยู่บริเวณสร้างอนุสาวรีย์นั้น

Advertisement

สร้างด้วยงบประมาณจากเงินสำนักงานสลากกินแบ่งของรัฐบาล กับเงินเรี่ยไรจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้เป็นผลจากการผลักดันของอดีตผู้แทนราษฎรยุคนั้น และกระทรวงวัฒนธรรม (สมัยนั้น) เห็นชอบ โดยไม่มีงานวิจัยทางวิชาการรองรับ แต่เป็นงานการเมืองของรัฐบาล

ครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่งทั่วประเทศ ทั้งในโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย บอกนักเรียนนักศึกษา ว่าสุนทรภู่เกิดเมืองแกลง จ. ระยอง โดยอ้างหลักฐานสำคัญคือ อนุสาวรีย์สุนทรภู่

ทั้งๆ การสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไม่ได้อ้างว่าสร้างขึ้นเพราะเป็นสถานที่เกิดของสุนทรภู่ และไม่ใช่หลักฐานวิชาการเรื่องกำเนิดสุนทรภู่ เป็นได้แต่หลักฐานการยกย่องเกียรติคุณสุนทรภู่

วรรณกรรมกับประวัติศาสตร์โบราณคดี

วรรณกรรม (วรรณคดี) กับประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ได้ เป็นที่รู้กันในวงวิชาการสากล ว่าวรรณกรรมแสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของประวัติศาสตร์ยุคนั้น

อาจารย์สอนวรรณคดีบางมหาวิทยาลัย พยายามแยกวรรณคดีออกจากประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงเป็นวิธีคิดไม่ฉลาดตราบจนทุกวันนี้ ส่งผลให้นักศึกษาเสียโอกาส

วรรณกรรมโดดๆ ของสุนทรภู่จะแห้งแล้งจืดชืดมากๆ (ตามที่ครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยปัจจุบันมักทำเหมือนกันทั่วประเทศ) ด้วยวิธีท่องจำคำไพเราะของบทกลอนที่ยกมา แต่ไม่ทำความเข้าใจตัวกำหนดอย่างสำคัญต่อรสกวีในงานทั้งหมดของสุนทรภู่ ได้แก่ ประวัติสุนทรภู่ตั้งแต่เกิดจนตาย กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สุนทรภู่มีชีวิตช่วงนั้น

พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีต่อต้านการล่าเมืองขึ้น แต่ถ้าไม่ศึกษาและไม่เข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองโลกยุคล่าอาณานิคม พระอภัยมณีก็เป็นแค่นิทานกลอนจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป

 

คลิกอ่าน สุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image