คนตกสี ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ‘ของหาย’และข้อกฎหมายที่ไม่ต้องวัดใจกัน โดย:กล้า สมุทวณิช

ข่าวเบาๆ ที่ทำให้ชาวบ้านถามว่า “อย่างนี้ก็ได้เหรอ” คือการที่บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด

ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นำเอาทรัพย์สินที่มีผู้โดยสารมาลืมไว้ในระบบรถไฟฟ้ามาประมูลขาย โดยจะนำรายได้มอบให้การกุศล

สินค้าที่มีการนำมาประมูล ที่เห็นก็มีทั้งกระเป๋าถือสตรีราคาแพง กล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์มือถือ สุราต่างประเทศ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งบางรายการเห็นแล้วก็ทึ่งว่า ของแบบนี้ก็ลืมเอาไว้ในระบบรถไฟฟ้ากันได้ด้วยก็มี อย่างเช่น แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือกีตาร์ทั้งตัวที่นึกไม่ออกว่าเอาไปลืมไว้หรือทำหายกันได้อย่างไร

ทางผู้จัดประมูลชี้แจงต่อคำถามถึงความชอบธรรมในการนำทรัพย์สินหายของชาวบ้านมาประมูลขายว่า สิ่งของที่นำมาประมูลนั้นเป็น “ของหาย” และ “ของลืม” ที่พบในระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ ในช่วงปี 2553 ที่เริ่มเปิดบริการ จนถึงปี 2558 ซึ่งการจัดการนั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 และ 1325 โดยชอบแล้ว

Advertisement

อาจจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกเลยก็ได้ ที่มีการกล่าวถึงและใช้งานกฎหมายที่เกี่ยวกับ “ของหาย” ซึ่งจริงๆ มีอยู่นานแล้วนี้อย่างเป็นทางการ

สถานะของ “ของหาย” ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยของใครของมัน โดยส่วนใหญ่นั้นผู้คนมองว่าของหายนั้นหายแล้วหายเลย สำหรับฝ่ายที่ทำหาย หากตามหาเจอก็ถือว่าเป็นบุญที่ยังไม่แคล้วคลาดจากกัน ส่วนฝ่ายคนเก็บได้ก็เข้าใจว่าเป็นลาภลอยที่อาจเก็บไว้ได้เป็นสิทธิของตัวเอง

ดังนั้นการจัดการกับ “ของหาย” ที่เก็บได้ จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องของศีลธรรมของคุณธรรมส่วนตัว ที่ถ้ามีใครนำของหายไปคืนเจ้าของ ก็จะถูกมองว่าเป็น “คนดี” หรือ “คนซื่อสัตย์” สมควรที่จะได้รับการยกย่องจากสังคม ยิ่งถ้าทรัพย์สินที่หายและนำส่งคืนเจ้าของนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นเท่าไร ระดับดีกรีความเป็น “คนดี-คนซื่อ” ของผู้ที่เก็บได้แล้วนำไปคืนก็ยิ่งสูงตามขึ้นเท่านั้น และก็เหมือนเป็นความคาดหวังทางสังคมให้เจ้าของทรัพย์สินที่ทำหายนั้นจะต้อง “ตกรางวัล” ให้คนเก็บได้ ในอัตราที่สมน้ำสมเนื้อเพื่อแสดง “น้ำใจ” ด้วย

Advertisement

ส่วนคนที่เก็บของหายได้แล้วไม่คืน ถ้าทำเงียบๆ เก็บไว้เป็นของตัวเอง อันนี้ก็ถือว่าเป็น “คนกลางๆ” เว้นแต่ถึงขนาดเจ้าของเขามาทวงแล้วไม่ยอมคืน หรือมีรายการเรียก “ค่าไถ่” อย่างที่อาจจะเคยเห็นกันบ้างในข่าว อันนี้ก็จะกลายเป็น “คนร้าย” หรือ “คนเลว” กันไป

แล้วจริงๆ สถานะของ “ของหาย” และวิธีจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมายคืออะไร

เราต้องย้อนกลับไปที่หลักการของ “กรรมสิทธิ์” ที่หมายถึงความเป็นเจ้าของเสียก่อนว่า กรรมสิทธิ์นี้ถือเป็นสิทธิที่เด็ดขาดที่สุดประการหนึ่งในทางแพ่ง หากทรัพย์สินใดเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลแล้ว เขาผู้นั้นย่อมมีสิทธิเต็มในทรัพย์สินนั้นที่จะครอบครอง ใช้สอย หาประโยชน์ จ่ายโอน หรือทอดทิ้งทำลายอย่างไรก็ได้ เท่าที่ไม่ถูกห้ามไว้โดยกฎหมายอื่น โดยความเป็นเจ้าของนี้ไม่มีอายุความ สามารถติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนได้เสมอ

ดังนั้นแล้วข้าวของหรือทรัพย์สินใดก็ตามที่มีเจ้าของ ไม่ว่าเขาจะทำหายหรือลืมไว้ที่ไหน ความเป็นเจ้าของของเขานั้นก็ยังคงติดแน่นประทับอยู่บนทรัพย์สินนั้นโดยสมบูรณ์แม้จะไม่ได้สลักเขียนชื่อติดไว้ ไม่ใช่ “ลาภลอย” ของผู้ที่เก็บได้อย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจ

ในทางตรงกันข้าม ใครเก็บเอาทรัพย์สินที่คนอื่นทำหายได้ และเอาไปโดยมีเจตนาที่จะยึดครองทรัพย์สินนั้นไว้เป็นของตน ก็ถือว่ามีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษเต็มของความผิดยักยอกทรัพย์ ที่มีระวางโทษอยู่ที่จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ถ้าในบางกรณีที่ของนั้นหายแบบซึ่งๆ หน้า สดๆ ร้อนๆ โดยที่ผู้เอาไปก็รู้ว่าเจ้าของเป็นใคร เช่น มีคนมาซื้อของแล้วทำกระเป๋าสตางค์ตกไว้ในร้านให้เห็น คนนั่งข้างๆ ในโรงหนังทำของตกไว้ หรือมีผู้โดยสารลืมของไว้ในแท็กซี่ อันนี้ถ้าเอาทรัพย์สินนั้นไปในระหว่างอยู่ในวิสัยที่เจ้าของเขายังติดตามเอาคืนอยู่ได้ แบบนี้จะถือเป็นความผิดลักทรัพย์ซึ่งมีโทษสูงขึ้นไปอีก รวมทั้งเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ด้วย

อย่างที่อาจจะเคยผ่านตาข่าวที่มีข่าวคนลืมโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนไว้บนรถแท็กซี่ แล้วเจ้าของใช้ระบบติดตามหาที่มีอยู่ในระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์นั้นจนตามไปพบ แต่ก็ปรากฏว่าคนที่เก็บได้กลับบิดพลิ้วไม่ยอมคืน แถมเรียกค่าไถ่โทรศัพท์นั้นอีก เจ้าของก็สามารถไปแจ้งตำรวจให้ซ้อนแผนจับกุมคนที่เก็บเครื่องโทรศัพท์ไว้แล้วไม่คืนนั้นไปดำเนินคดีได้ จากที่คิดว่าได้ลาภลอย กลายเป็นคราวเคราะห์ที่ต้องเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาไปเสียอย่างนั้น
แล้วอย่างนี้คนที่เก็บทรัพย์สินที่มีคนทำหายไว้ได้จะทำอย่างไรได้บ้าง และถ้าอุตส่าห์เก็บไว้เพื่อจะเอาไปคืนเจ้าของ จะมีรางวัลหรือค่าที่เอาธุระให้บ้างไหม

ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนหรือนิยายญี่ปุ่นคงจะนึกออกว่า ที่ประเทศนั้นเขามีกฎหมายที่ถ้าใครเก็บของซึ่งมีคนทำหายได้ให้นำไปคืนที่ตำรวจ หากมีคนมาแสดงตัวรับของนั้นภายในกำหนดระยะเวลา คนเก็บได้ก็จะได้รางวัลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่มีเจ้าของมารับคืนไปภายในกำหนดระยะเวลา ผู้เก็บได้จะได้ทรัพย์สินนั้นไป

แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ในกฎหมายไทยก็มีหลักการในลักษณะเดียวกันนั้นบัญญัติไว้อยู่เหมือนกัน ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องเดียวกันกับที่ทางแอร์พอร์ต ลิงก์ เอามาใช้จัดการกับของหายในระบบรถไฟฟ้าของเขานั่นแหละ

หลักการที่ว่านี้บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 ถึงมาตรา 1325 สรุปได้ว่า ใครเก็บทรัพย์สินซึ่งบุคคลอื่นทำหายได้ ต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยความระมัดระวังอันสมควร และส่งมอบ หรือแจ้งแก่ผู้ทำของหาย ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของหรือผู้ที่มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ไม่รู้ว่าใครทำหายหรือใครเป็นเจ้าของ ก็ให้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นภายในสามวันและแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1323

และกฎหมายก็กำหนดรางวัลสำหรับผู้เก็บได้และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นนั้นในมาตรา 1324 ว่า ผู้ที่เก็บได้อาจเรียกรางวัลเอาได้ 10% จากมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท และส่วนที่เกิน 30,000 บาทไปอีก 5% (เช่นถ้าเก็บของหายที่มีมูลค่า 50,000 บาทได้ จะมีสิทธิได้รับรางวัล 4,000 บาท คิดมาจาก 3,000 บาทที่เป็น 10% ของ 30,000 แรก และ 1,000 บาทที่เป็น 5% ของส่วนต่างอีก 20,000 บาท) และถ้าเป็นกรณีที่ผู้เก็บได้นั้นนำทรัพย์สินไปมอบให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ไว้ เจ้าของทรัพย์สินหายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอีก 2.5% ของมูลค่าทรัพย์สินนั้น หรือไม่เกิน 1,000 บาท ให้แก่หน่วยงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นนั้นด้วย

แต่ถ้าเจ้าของไม่มาเรียกร้องเอาของหายนั้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เก็บได้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นก็จะตกเป็นของผู้ที่เก็บได้ตามมาตรา 1325 ซึ่งการที่ทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงก์ สามารถนำทรัพย์สินที่ผู้โดยสารทำหายไว้ออกมาประมูลขายเพื่อการกุศลได้ ก็ด้วยผลของมาตรานี้นั่นเอง

จะเห็นว่าตามกฎหมายแพ่งเรามีวิธีการปฏิบัติสำหรับเรื่องของของหายไว้แล้วอย่างชัดเจนทั้งในเรื่องวิธีปฏิบัติและรางวัล รวมถึงการกำหนดโทษสำหรับคนที่เก็บของได้แล้วไม่คืนในกฎหมายอาญา เพียงแต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่ามีกฎหมายเช่นนี้ เนื่องจากไม่มี “เจ้าภาพ” ที่จะมาทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเรื่องสิทธิหน้าที่ของทั้งฝ่ายผู้ที่ทำของหายและผู้ที่เก็บได้ เพื่อสร้างความรับรู้ร่วมกันในสังคม

เช่นนี้การจัดการกับ “ของหาย” สำหรับคนทั่วไปจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องวัดใจกันเองเป็นรายกรณี ว่าคนที่เก็บได้จะมีคุณธรรมหรือความซื่อสัตย์ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเพียงไร รวมถึงคนที่ทำของหายจะมี “น้ำใจ” ตอบแทนให้ผู้ที่เก็บของได้เท่าไร

รวมถึงกรณีที่เลยเถิดไปจนเป็นเรื่องของการกระทำผิดอย่างกรณีข่าวที่มีคนเก็บโทรศัพท์หรือกระเป๋าเงินของคนอื่นได้แล้วเมื่อเจ้าของตามมาเจอ กลับต่อรองเรียกค่าไถ่ หากไม่คิดว่าเป็นเรื่องของการเจตนาร้ายนิสัยโจร และมองอย่างพยายามทำความเข้าใจ ก็อาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายที่เก็บได้นั้นเชื่ออย่างจริงจังว่าตัวเองมีสิทธิในทรัพย์สินที่เก็บได้นั้นอย่างชอบธรรม เจ้าของที่มาทวงคืนภายหลังนั้นก็เสียสิทธิในทรัพย์สินนั้นไปตั้งแต่เมื่อมาลืมของหรือทำหาย การที่จะคืนให้นั้นก็ “ถือว่าเป็นบุญ” หรือ “มีน้ำใจ” แล้ว ดังนั้นจะเรียกเอา “ค่าป่วยการ” หรือ “สินน้ำใจ” อย่างไรก็ได้

มันจึงน่าจะดีกว่า ถ้าเราทำให้กฎหมายเรื่องของหายนี้ได้รับการบังคับใช้อย่างจริงจังเต็มที่ มีหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าภาพให้รู้ว่าเมื่อพบของหายแล้วต้องเอาไปมอบให้ใคร หรือถ้าของตัวเองหายแล้วจะไปถามหาได้ที่ใด พร้อมกับสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมเพื่อจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงหรือวัดใจกัน คนที่ทำของหายจะได้เตรียมใจไว้ว่าถ้าโชคดีมีผู้เก็บของที่ตัวเองทำหายเจอและตามหาเอามาคืนให้หรือไปมอบไว้ให้ตำรวจ ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายรางวัลให้เขาเท่าไรอย่างไร ที่อาจจะมองอีกทางว่าเป็น “ราคา” ของความหลงลืมหรือเลินเล่อของตัวเองก็ได้

ส่วนคนที่เก็บของที่มีผู้ทำหายได้ ก็ควรจะรู้ว่าทรัพย์สินนั้นยังเป็นของเจ้าของเขาอยู่โดยสมบูรณ์ เราไม่มีสิทธิที่จะยึดถือครอบครองเอาไว้ เพียงแต่อาจจะมี “รางวัล” เป็นค่าแห่งการเอาธุระช่วยเก็บของให้คนอื่นบ้าง หรืออาจจะได้ของนั้นไว้เลยก็ได้หากไม่มีคนมารับคืนไปในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็จะเป็นความชัดเจนกันสำหรับทั้งสองฝ่าย

การสร้างระบบและความเข้าใจร่วมกันเรื่องของหายได้คืนนี้ให้ชัดเจนว่าเป็นสิทธิหน้าที่ของบุคคลและกลไกตามกฎหมาย อาจจะดูไม่สูงส่งดีงามเหมือนเรื่องของ “น้ำใจ” หรือ “ความซื่อสัตย์” แต่อย่างน้อย กฎเกณฑ์ตามกฎหมายและระบบการจัดการที่ชัดเจน ก็ทำให้เราไม่ต้องมาวัดใจกันด้วยคุณค่าแห่งศีลธรรมที่ต่างคนก็ต่างมีไม่เท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image