ถึงคิวศาลรัฐธรรมนูญ วิวาทะ ว่าด้วยเจตนารมณ์ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ไม่ใช่ถึงคิวจะต้องถูกเซตซีโร่ ยุบทิ้งทั้งชุดเพื่อหาคณะใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนนะครับ

แต่เป็นคิวที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดกรณีความเห็นต่างระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง กับกรรมาธิการร่วม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายเสียงข้างมาก

ภายหลังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ……ล่าสุด ผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียง 194 ต่อ 0 ยืนยันหลักการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปัจจุบันต้องพ้นจากหน้าที่ไปทั้งคณะ

ผมคาดการณ์ล่วงหน้าว่า กรรมการการเลือกตั้งจะมีมติให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหลักการตาม รัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement

เหตุนี้ภาระจึงตกแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบ

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ กกต.มองแนวโน้มการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่เห็นต้องคิดมากให้ยุ่งยากสลับซับซ้อน ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ชัดเจนอยู่แล้ว

ก็เมื่อกรรมาธิการเสียงข้างมาก มติ สนช.ยืนยันว่าการร่างกฎหมายให้ กกต.ชุดเดิมมีอันเป็นไปทั้งชุด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป ปรับโครงสร้างองค์กรอิสระกันใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญก็แค่วินิจฉัยว่ากฎหมายที่ร่างออกมาเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ว่านี้หรือไม่ ถ้าเป็นไปตามก็ยืนยันตามเดิม ถ้าไม่เป็นกฎหมายก็ไม่อาจบังคับใช้ได้ ก็เท่านั้น

Advertisement

ส่วนประเด็นการบัญญัติกฎหมายขัดหลักนิติธรรม นิติประเพณี ธรรมาภิบาล ออกกฎหมายเป็นโทษทำให้กรรมการการเลือกตั้งที่คุณสมบัติครบถูกตัดสิทธิ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไร ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลคัดค้านนั้น

ประเด็นนี้อยุู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะนำขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ คงต้องรอผลการตัดสินที่จะออกมา

การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐรรมนูญตัดสิน เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการหาข้อยุติของความเห็นต่างจากการมองคนละมุม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป

ระหว่างหลักเจตนารมณ์ ภายใต้แนวคิดเพื่อการปฏิรูป การผ่าตัด ทุบทิ้ง ยกเครื่อง และออกแบบโครงสร้างใหม่ เป็นไปตามหลักความต้องการเปลี่ยนแปลงมาก่อน หลักนิติธรรม นิติประเพณี ออกกฎหมายต้องไม่ให้โทษย้อนหลัง ศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลักการอะไรในการตัดสิน

ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นไปในแนวทางใดก็ตาม ความเห็นต่างหรือความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อย ต้องบันทึกไว้เพื่อนำไปศึกษาพิจารณาต่อไป

ที่น่าคิดคือ เจตนารมณ์หรือเจตจำนงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยตัวมันเอง แต่เป็นผลพวงจากความคิด ความเชื่อ ความต้องการให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งของคนหรือกลุ่มคน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังจะเห็นว่า ในชั้นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้กรรมการการเลือกตั้งที่คุณสมบัติไม่ครบตามกฎหมายใหม่ต้องพ้นจากหน้าที่ ส่วนผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ แต่ต่อมาเจตนารมณ์แปรเปลี่ยนไปเมื่อกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นควรให้ยุบทิ้งทั้งคณะแล้วเริ่มต้นกันใหม่หมด

เจตนารมณ์จึงเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็น ความเชื่อ ของกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่า มีอำนาจต่อรองมากกว่า ที่คิดว่าสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่ดีกว่าของเดิม ซึ่งยังไม่ผ่านการพิสูจน์จนกว่าจะเกิดผลจากการปฏิบัติจริง

ความคิด ความเชื่อดังกล่าวยึดโยงไปถึงความเชื่อ พื้นฐานสองฝ่ายที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดมาคือ ฝ่ายแรกเชื่อว่าประชาชนยังไม่พร้อม ต้องมีองค์กร กลไก กระบวนการ กลุ่มคนที่ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า คอยแนะนำกำกับ

กับอีกฝ่าย เชื่อว่าแม้ประชาชนยังไม่พร้อม แต่ก็ควรปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้ มีประสบการณ์และสรุปบทเรียนด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีกลไกพิเศษติดตามกำกับตลอดเวลา

การยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบต่างๆ ก็เป็นไปภายใต้ความเชื่อสองแนวทางดังกล่าว

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ความเป็นไปขององค์กรอิสระอื่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ

จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันภายใต้เหตุผลเดียวกัน ที่อ้างถึงเจตนารมณ์มาสนับสนุนการเซตซีโร่อีกหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

ระหว่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญคงได้ทำหน้าที่ชี้ขาดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบทุกองค์กร ยกเว้นองค์กรตัวเองจะเข้าสู่โหมดปฏิรูป ปรับโครงสร้างให้เหมาะกับยุคสมัยและปัญหาด้วยหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image