เลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องเจออะไรบ้าง? โดย ณัชชาภัทร อมรกุล

แม้กระทั่งบัดนี้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า “การเลือกตั้ง” จะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงเวลาใด แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและ (ร่าง) พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับล่าสุด บ่งบอกว่า กฎกติกาที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งทั้งหลาย จะทำให้หน้าตาของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งโครงสร้างของพรรคการเมือง ความเข้มแข็งของพรรคการเมือง และรูปแบบของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งแบบใหม่?

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เข้าไปแก้ไขกติกาของการเลือกตั้ง จากระบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian System – MMM) เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System – MMA) ซึ่งเคยใช้ใน 4-5 ประเทศทั่วโลก เช่น แอลเบเนีย (1992) เกาหลีใต้ (1996-2000) เยอรมนี (1949) การเลือกตั้งแบบนี้ในระดับประเทศในเหล่านั้นได้เลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบันนี้มีเพียงแคว้นบาเดน วุดเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้ระบบนี้

ระบบ MMM ที่ใช้กันมาก่อนหน้านี้ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกกันนับคะแนนไปเลย ใบหนึ่งให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลือก “คนที่รัก” อีกใบหนึ่งให้เลือก “พรรคที่ชอบ” วิธีการนี้แก้ไขปัญหาการยึดติดตัวบุคคล และแข่งขันภายในพรรคเดียวกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง

แม้ว่าระบบ MMM จะมีข้อดีข้างต้น แต่ กรธ.มองว่าข้อเสียของระบบ MMM ก็มีอยู่ โดยในบัตรเลือกตั้งใบแรกนั้นใช้การนับคะแนนเสียงแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย ทำให้ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีคนชนะเลือกตั้งเพียงคนเดียว คะแนนที่ลงคนอื่นๆ กลายเป็น “คะแนนเสียงตกน้ำ” เพราะเมื่อแพ้แล้วจะจมหายไปกับสายน้ำ

Advertisement

กรธ.จึงนำระบบ MMA มาใช้ โดยมีข้อดีคือจะเป็นการช่วยงมคะแนนเสียงตกน้ำ ให้กลับขึ้นมา ให้ทุกคะแนนให้มีความหมาย ไม่ให้คะแนนเสียงใดๆ ต้องสูญเปล่า

ระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้จึงให้ใช้บัตรเดียว ให้สามารถเลือกได้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยจำนวน ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขตของแต่ละพรรคจะถูกคำนวณให้อยู่ในขันเดียวกัน เพราะจะเป็นการนำคะแนนรวมที่แต่ละพรรคได้รับมาแบ่งเป็นสัดส่วนของก่อนว่า แต่ละพรรคจะต้องได้ตำแหน่ง ส.ส.ทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วนำมาหักลบกับ ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค

ดังนั้น ใครที่ลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต แล้วได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้น ก็จะได้ตำแหน่ง ส.ส.เขตไปก่อนเลย ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะต้องมาดูกันอีกทีว่าพรรคของตนได้สัดส่วนเท่าไหร่ในคะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศ แล้วดูตามลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของพรรคตน (Pundit, 2016)

ด้วยระบบนี้จึงต้องนับสัดส่วนของ ส.ส.ทั้งหมดที่แต่ละพรรคควรจะได้ไปก่อน หากพรรคใดได้ที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมาก พรรคนั้นอาจจะได้ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อย โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้คะแนนเสียงเลือกตั้งแบบถล่มทลาย (landslide) จึงกลายเป็นแค่เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ นอกจากจะทำให้ทุกๆ คะแนนที่ออกมาเลือกตั้งมีความหมายแล้ว ยังมีส่วนดีคือสนับสนุนให้พรรคการเมืองกลายเป็นพรรคการเมืองระดับชาติ มากกว่าพรรคในระดับภูมิภาค เพราะพรรคการเมืองจะต้องให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียงในทุกภูมิภาค เพราะทุกๆ คะแนนจะถูกนำมานับรวมในที่สุด

อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้ พรรคการเมืองที่เคยได้เสียงข้างมากจะเสียเปรียบพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก Allen Hicken จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ลองจำลองผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2554 ว่า หากใช้การเลือกตั้งในระบบ MMA พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงลดลง จาก 265 ตำแหน่ง (53%) เหลือเพียง 225 ตำแหน่ง (45%) พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมา 1 ตำแหน่งคือ จาก 159 ตำแหน่ง (31.8%) เป็น 160 ตำแหน่ง (32%) โดยตำแหน่งของพรรคเพื่อไทยจะสูญเสียให้กับพรรคระดับกลาง (Parameswaran, 2016)

แม้ว่าการคำนวณที่ชัดเจนจะยังต้องรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ แต่ในปัจจุบันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย อาทิ

1.วิธีการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกเพียง 1 เดียวว่าจะเลือกคนที่รักหรือพรรคที่ใช่

2.พรรคการเมืองจะต้องส่งตัวแทนของพรรคลงเลือกตั้งให้มากที่สุด พรรคที่ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งหรือพรรคที่หวังเฉพาะเก้าอี้บัญชีรายชื่อจะสูญพันธุ์ แบบพรรครักประเทศไทย

3.การกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวทำให้พรรคต้องทำงานมากขึ้นในการดึงดูดให้คนเลือกทั้งพรรคและตัวบุคคล แต่ในระยะแรกอาจจะบีบให้คนเลือกที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค แล้วในที่สุดจะบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
4.ผลการเลือกตั้งอาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง พรรคที่ได้เสียงข้างมากในเขตเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

5.แม้ว่า กรธ.จะบอกว่า การออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทุกคะแนนเสียงจะมีความหมาย แต่ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งแบบใบเดียวอาจมีผลทำให้ ลดความสำคัญของการออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะจะไปหรือไม่ไปเลือกตั้งก็จะได้แต่พรรคที่มีคะแนนเสียงกลางๆ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและไม่ต้องการไปเลือกตั้ง เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรง

6.ผลการเลือกตั้งกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะขาดในการเลือกตั้ง เพราะพรรคที่ได้รับ ส.ส.แบบแบ่งเขตมาก จะเหลือที่สำหรับตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง โอกาสในการก่อตั้งรัฐบาลจากพรรคผสมค่อนข้างสูง เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากได้ยาก พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะได้คะแนนเสียง “กลางๆ” โครงสร้างทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ และการที่ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากอาจเปิดโอกาสให้บุคคลที่สาม หรือ “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี (Pundit, 2016)

7.การที่ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย อาจทำให้ “การซื้อเสียงเป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่า” เพราะคะแนนเสียงตกน้ำทุกคะแนนจะถูกนำกลับมานับด้วย ทำให้คะแนนเสียงทุกคะแนน (แม้ว่าจะแพ้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต) แต่ก็จะมีค่าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะจากที่เคยตกน้ำจมหายไป จะถูกงมกลับมาเติมให้กับที่นั่งของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคการเมืองกล้าที่จะตัดสินใจลงทุน เพราะทุกคะแนนเสียงที่ซื้อมา ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน ภาคใด ก็มีความหมาย ซึ่งจะเอาไปเติมคะแนนให้กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของตนได้เสมอ

8.ทำให้ ส.ส.จากพรรคเดียวกันต้องแข่งขันกัน เพราะหาก ส.ส.แบบแบ่งเขตชนะเลือกตั้งมากๆ จะเหลือตำแหน่งให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง การเลือกตั้งในลักษณะนี้จึงทำลายความสามัคคีของผู้สมัคร ส.ส.จากทั้งสองระบบในพรรคเดียวกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเสียงจาก กรธ.ออกมาอีกว่า นอกจากจะใช้ระบบ MMA ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การเลือกตั้งระบบใหม่ยังจะเป็นแบบแยกเบอร์รายเขตอีกด้วย คือให้ผู้สมัครของทุกพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องจับสลากแยกเขต นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองจะไม่ได้เบอร์เดียวกันในการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้การรณรงค์หาเสียงในรูปแบบพรรคการเมืองทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะผู้สมัครแต่ละคนของพรรคการเมืองจะมีเบอร์ต่างกันในแต่ละเขตเลือกตั้ง ยิ่งถือเป็นการลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำงานหนัก การแยกจับสลากและแยกพิมพ์บัตรเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่มากเกินไปและอาจมีปัญหาบัตรปลอมได้ด้วย
เนื้อหาที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรคการเมือง ?

นอกจากการเลือกตั้งระบบใหม่แล้ว เรายังอาจจะมีกฎหมายพรรคการเมืองแบบใหม่ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้ มีเป้าหมายที่ต้องการการปฏิรูปพรรคการเมืองอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความเป็นสถาบันและความเข้มแข็ง กฎหมายพรรคการเมืองมุ่งจะทำให้พรรคการเมืองฝังรากลึกในสังคมไทย สร้างความเป็นสถาบันให้พรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง มุ่งสร้างประชาธิปไตยในพรรคการเมือง และลดอิทธิพลของนายทุนพรรคการเมือง

1.การกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีเงินประเดิมก่อตั้งพรรค และสมาชิกพรรคต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี

ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองมีกฎเกณฑ์มากขึ้น มีการกำหนดจำนวนสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง กำหนดให้เสียค่าทุนประเดิมสมาชิกทุกคน และสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าบำรุงพรรคการเมืองขั้นต่ำทุกปี ซึ่งการเป็นสมาชิกพรรคจะกลายเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญของพรรค เพราะต้องมีจำนวนขั้นต่ำ เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนพรรคการเมือง และจะเป็นผู้เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค จากเดิมที่การเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้มีความสำคัญในระดับนั้น

ที่จริงเรื่องที่ให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคนี้ จะช่วยทำให้สมาชิกพรรครู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และจะได้ช่วยสอดส่องการทำงานของพรรคการเมือง การที่ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บริจาคเงินเข้าพรรคมากเกินไปเพื่อครอบงำพรรค ด้วยเหตุนี้การจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมืองในนัยยะหนึ่งคือการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับพรรคการเมือง

การก่อตั้งพรรคจึงต้องมีผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน และต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งต้องช่วยกันออกเงินตั้งแต่ 1,000-50,000 บาท ที่ต้องกำหนดเพดานขั้นต่ำเพื่อให้สมาชิกที่ได้ออกเงินได้แสดงความเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และที่กำหนดเพดานขั้นสูง เพื่อไม่ให้นายทุนเข้าครอบงำพรรคการเมือง นอกจากนี้ สมาชิกพรรคต้องเสียค่าบำรุงสมาชิกอย่างน้อยปีละ 100 บาท/คน ภายใน 1 ปี จะต้องหาสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และภายใน 4 ปีต้องหาสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน

อย่างไรก็ดี มีข้อวิจารณ์ว่า การให้เงินมาเป็นเงื่อนไขในการก่อตั้งพรรคและเป็นสมาชิกพรรคกลายไปเป็นภาระต่อประชาชน และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การกำหนดให้ต้องหาสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นภาระต่อพรรคเล็ก การตั้งพรรคการเมืองจะทำได้ยากมากขึ้น และสุดท้ายจะมีแต่นายทุนที่เข้ามาตั้งพรรคการเมือง

2.การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง

ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สาขาพรรค ไม่ให้กลุ่มทุนการเมือง หรือกรรมการบริหารครอบงำการตัดสินใจในพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกในพื้นที่กระจายกันทั่วทุกสาขาตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ให้พรรคเป็นตัวแทนของประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันระดับชาติ

อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคการเมืองจะต้องมีฐานเสียงอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของการเป็นพรรคท้องถิ่น หรือพรรคขนาดเล็กต้องการเสนอแนะนโยบายเฉพาะ (minor parties หรือ movement parties) เช่น พรรคที่รณรงค์เรื่องสิทธิทางเพศ หรือพรรคที่รณรงค์เรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ก็มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ในการหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่จะต้องมีการใช้เงินนั้น จะต้องมีการระบุ ทั้งวงเงินที่ใช้และที่มาของเงินงบประมาณ ตลอดจนต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าและประโยชน์ของนโยบาย ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายประชานิยม และการหาเสียงแบบเกินกว่าเหตุ

การที่ให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมการรณรงค์หาเสียงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของพรรคการเมืองก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า อาจกระทบต่อความสำคัญของพรรคการเมือง และการทำลายความเชื่อมั่นของพรรคการเมือง และในที่สุดแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งจะกลายเป็นผู้เห็นชอบนโยบายของพรรคการเมือง และยังเป็นการแทรกแซงวิจารณญาณของประชาชน

3.การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยวิธีการไพรมารี

ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ได้มีการกำหนดให้ทุกพรรคการเมืองต้องใช้ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี (primary) ซึ่งการเลือกตั้งขั้นต้นนั้นทำให้กรรมการบริหารพรรคไม่สามารถกำหนดผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องมาจากกระบวนการที่ประชาชนให้การยอมรับก่อนตั้งแต่ในขั้นแรก

แฟ้มภาพแกนนำพรรคเพื่อไทย

การทำไพรมารีเป็นสิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องกับการสร้างประชาธิปไตยให้กับพรรคการเมือง เพราะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับพรรคการเมือง และอาจหลีกเลี่ยงการครอบงำจากนายทุนพรรคได้ด้วย แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ อาจไม่ใช่ทุกพรรคการเมืองที่มีความพร้อม ซึ่งการบังคับให้ทุกพรรคต้องทำไพรมารี อาจเกิดขึ้นจริงได้ยาก การทำไพรมารีต้องใช้เงินทุนและการเตรียมการที่ค่อนข้างยาวนาน พรรคที่ทำได้จะต้องมีฐานเสียงอยู่ทั่วประเทศ หรืออยู่ในระบบการเมืองที่คาดเดาได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เช่นระบบที่รัฐบาลมักจะอยู่ครบเทอม

นอกจากนี้การออกกฎหมายบังคับให้ทุกพรรคทำไพรมารีไม่ได้เป็นการริเริ่มจากพรรคการเมืองหรือประชาชน ความไม่พร้อมในที่นี้อาจทำให้ สุดท้ายแล้ว กรรมการบริหารพรรคกลายเป็นผู้มี “อำนาจ” เคาะตัวผู้สมัคร ซึ่งอาจจะไม่ใช่บุคคลที่ได้รับชัยชนะจากสนามเลือกตั้งขั้นต้นมาแล้ว

นอกจากนี้ยังงานศึกษาปัญหาของไพรมารีในประเทศไต้หวันว่า ไพรมารีเป็นสาเหตุที่พรรคก๊กมินตั๋งถึงประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1989 โดยวิธีการไพรมารีนั้น กลุ่มอำนาจเดิมในท้องถิ่นไม่ให้ความสนับสนุนการเลือกตั้งขั้นต้นที่ตนเองพ่ายแพ้ และสมาชิกพรรคที่สนับสนุนการเลือกตั้งขั้นต้นหัวรุนแรงมากเกินไป (Fundamentalists) ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้พรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นพรรครัฐบาล

4.บทกำหนดโทษพรรคการเมือง

(ร่าง) พ.ร.ป.ฉบับนี้กำหนดโทษพรรคการเมืองไว้หลายข้อ เช่น โทษสำหรับการที่พรรคการเมืองยินยอมหรือให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกมีอิทธิพลต่อพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองถูกครอบงำโดยคนภายนอกเพื่อผลประโยชน์ และบทกำหนดโทษกรณียุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิการเมือง พรรคการเมืองจะถูกยุบเมื่อล้มล้างการปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย หรือให้มีบุคคลอื่นมาก้าวก่ายพรรค หรือมีการซื้อเสียงซื้อตำแหน่ง

ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้พรรคการเมือง ทำให้นโยบายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่มีเหตุผล และกำหนดโทษต่างๆ ของพรรคการเมืองไว้ค่อนข้างหนัก แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า (ร่าง) พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้มองพรรคการเมืองเหมือนอาชญากรมากเกินไป เป็นยาแรงที่ทำลายพรรคการเมือง และทำลายการพัฒนาประชาธิปไตย บทกำหนดโทษรุนแรง อาจมีพรรคการเมืองถูกกลั่นแกล้ง โทษการยุบกรรมการบริหารพรรคเป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ควรลงโทษผู้สมัครเป็นรายบุคคล

แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ และที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็ทำให้เห็นภาพของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมือง และโครงสร้างของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

ในฐานะประชาชน การที่มีบัตรใบเดียวจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกคนหรือเลือกพรรค และอาจทำให้ไม่มั่นใจว่า คนที่ตัวเองเลือกจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะพรรคที่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก อาจได้ที่นั่งรวมในสภาผู้แทนราษฎรน้อย เพราะต้องแบ่งที่นั่งให้กับคะแนนเสียงตกน้ำ แต่การออกไปเลือกตั้งทุกคะแนนเสียงคุ้มค่าสำหรับตนเอง เพราะทุกคะแนนที่ออกไปลงคะแนน ไม่ว่าจะชนะหรือตกน้ำ ก็จะถูกนำไปใช้ในการจัดตั้งรัฐบาล

ประชาชนที่ต้องการมีบทบาทในการทำไพรมารี หรือเลือกตั้งขั้นต้น ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาทเป็นอย่างน้อย และต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคเดียวเท่านั้น

นอกจากนี้ ในฐานะประชาชนที่ต้องการรณรงค์ทางการเมือง หรือจัดตั้งพรรคการเมืองต้องหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ อย่างน้อย 500 คน และต้องหาทุนประเดิมพรรค (1 ล้านบาท) โดยต้องให้สมาชิกทุกคนบริจาคตั้งแต่ 1,000-50,000 บาท และต้องทำกิจกรรมในการระดมสมาชิกให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี และ 10,000 คน ภายใน 4 ปี

ในฐานะประชาชนที่เลือกตั้งยังต้องสอดส่องว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองมีนโยบายที่มีความคุ้มค่าหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ และแต่ละนโยบายจะมีแหล่งเงินจากไหน

ในฐานะพรรคการเมือง โอกาสในการชนะเลือกตั้งแบบถล่มถลายอาจเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต แต่ละพรรคจะได้คะแนนเสียงกลางๆ อย่างไรก็ตาม การงมคะแนนเสียงเลือกตั้งอาจทำให้การซื้อเสียงมีความคุ้มค่ามากขึ้น เพราะทุกคะแนนมีความหมาย และจะมานับรวมกันอีกครั้ง และการที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้คะแนนทางอ้อมจากคะแนนเสียงตกน้ำ อาจทำให้สถานภาพแตกต่างจากการเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต

พรรคการเมืองอาจจะต้องประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะหากได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมาก ก็จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลง เพราะคะแนนทั้งหมดที่ได้มาจากการเลือกตั้งจะถูกคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนตำแหน่ง ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ทำได้ยากมากขึ้นเพราะต้องผ่านกระบวนการไพรมารีก่อน ซึ่งแต่ละพรรคมีความพร้อมไม่เท่ากัน นอกจากนี้หากผู้ชนะในขั้นไพรมารี เป็นคนละกลุ่มกับคนที่คณะกรรมการบริหารพรรคต้องการ อาจสร้างความขัดแย้งและความอ่อนแอให้กับพรรคการเมือง

ในการหาเสียงเลือกตั้งที่เกี่ยวกับนโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องมีการคำนวณถึงความคุ้มค่าและแหล่งที่มาของเงิน รวมทั้งผลกระทบและความเสี่ยงในนโยบายในการหาเสียงด้วย โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบให้ความเห็นชอบ

ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง นอกจากเป็นผู้เห็นชอบนโยบายพรรคแล้ว กรรมการการเลือกตั้งจะมีบทบาทมากขึ้นในการสอดส่องดูแลในเรื่องสมาชิกพรรคว่า แต่ละพรรคมีสมาชิกพรรคตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สมาชิกพรรคมีการย้ายพรรคหรือไม่ มีความซ้ำซ้อนหรือไม่ สมาชิกพรรคมีการจ่ายเงินแทนกันหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินของสมาชิกพรรคทุกคนตลอดระยะเวลาทั้งปี ซึ่งหมายถึงเรื่องในการจดทะเบียนพรรคการเมืองต้องมีความละเอียดและเป็นระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องคอยสอดส่องกระบวนการไพรมารีว่ามีความถูกต้องยุติธรรมหรือไม่ ต้องเป็นผู้คำนวณคะแนนการเลือกตั้ง และจะต้องอธิบายกระบวนการนับคะแนนเสียงแบบใหม่ให้กับประชาชนฟังอย่างเข้าใจ

รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมาโดยระบบเลือกตั้งแบบนี้ รูปแบบของรัฐบาลน่าจะเป็นรัฐบาลผสม เพราะระบบการนับคะแนนแบบนี้ทำให้พรรคใหญ่ๆ ได้คะแนนเสียงกลางๆ โดยไม่มีพรรคใดได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย

เล่ามาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในปัจจุบันมีภาพร่างไว้ในใจค่อนข้างแน่นอนที่ต้องการเห็นพรรคการเมือง และโครงสร้างทางการเมืองให้ออกมาในรูปแบบที่ปลอดการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับพรรคการเมือง แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก ถึงความเป็นไปได้และการสร้างผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาความอ่อนแอของพรรคการเมือง การขาดเสถียรภาพของรัฐบาล โอกาสในการได้นายกฯคนนอก หรือทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายพรรคการเมืองและการเลือกตั้งก็ยังคงมีความไม่แน่นอน และยังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และ กกต.อีก ที่ยังไม่ออกมา

กฎหมายต่างๆ เหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองไทยที่ชะงักงันมากว่า 10 ปีได้หรือไม่ จะสามารถสร้างประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น หรือจะเป็นตัวสร้างปัญหาอื่นๆ ต่อไป ก็คงจะต้องลุ้นและติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image