คนตกสี ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ‘ประชาธิปไตยใต้ฝาโอ่ง’ ถึง ‘ประชาธิปไตยที่ไม่มีการเลือกตั้ง’โดย:กล้า สมุทวณิช

ครั้งหนึ่งเมื่อ “คุณหญิงวาด” แห่งบ้านพัชราภรณ์ ในหัสนิยาย “สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน” ได้ไปฟัง “ไฮด์ปาร์ก” ที่สนามหลวง ก็เกิดความศรัทธาในสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และเสรีภาพ

คุณหญิงจึงดำริให้มีการ “ไฮด์ปาร์ก” ขึ้นที่บ้านพัชราภรณ์ขึ้นบ้าง โดยให้สิทธิเสรีภาพแก่บรรดาบ่าวไพร่ในบ้านพัชราภรณ์ สามารถขึ้นเวทีอภิปราย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเจ้านายในบ้านพัชราภรณ์ ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณหญิงเอง เจ้าคุณประสิทธิ์ หรือบรรดาลูกหลานของท่านได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ เพียงอยู่ภายใต้เงื่อนไขเพียงว่า อย่าใช้ไมโครโฟน และอย่ามีการเดินขบวนกันเป็นใช้ได้

ความสนุกสนานจึงบังเกิดขึ้นในบ้านพัชราภรณ์ ซึ่งปรากฏรายละเอียดอยู่ในสามเกลอตอนสั้น ที่ชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งข้อมูลจากในหนังสือ “วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต เล่ม 2” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เราได้ทราบว่า สามเกลอตอนนี้ได้เขียนขึ้นมาในราวปี พ.ศ.2498 ภายใต้บริบทการเมืองที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุญาตให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะที่สนามหลวงได้ เลียนแบบวัฒนธรรมการ “ไฮด์ปาร์ก” ในต่างประเทศเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2500

เกิดเป็นความตื่นเต้นตื่นตัวทั่วไปในสังคมไทยในการที่บุคคลจะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผยต่อประชาชนทั่วไปได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่ง ป.อินทรปาลิต จำลองบรรยากาศเช่นนั้นบันทึกไว้ในหัสนิยายสามเกลอของท่านด้วย

Advertisement

การ “ไฮด์ปาร์ก” ในบ้านพัชราภรณ์ดำเนินไปอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน มีการอภิปรายพาดพิงทั้งตัวคุณหญิงและบรรดาเจ้านาย ตลอดจนบรรดาบ่าวไพร่ด้วยกันเอง จนกระทั่งถึงวันอวสานของประชาธิปไตยในรั้วบ้านก็มาถึง เมื่อวันที่คุณหญิงวาดซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและกำกับดูแลกิจกรรมประชาธิปไตยอยู่นั้นเกิดทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาประกาศล้มกระดาน ด้วยแถลงการณ์ที่อยากคัดมาให้อ่านกันเต็มๆ ว่า

“ทุกคนฟังทางนี้ ข้าพเจ้าคุณหญิงวาด ประสิทธิ์นิติศาสตร์ ผู้ยิ่งใหญ่ในบ้าน ‘พัชราภรณ์’ ได้อนุญาตให้พวกท่านเปิดไฮด์ปาร์ก ก็เพื่อต้องการให้พวกท่านได้มีอิสระเสรีอันแท้จริงตามวิถีทางของประชาธิปไตย เท่าที่ไฮด์ปาร์กดำเนินมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกตดูอย่างใกล้ชิด ในที่สุด ข้าพเจ้าก็เห็นว่า การอนุญาตให้มีไฮด์ปาร์กไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ข้าพเจ้าแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามข้าพเจ้ากลับได้รับความเสียหาย ข้าพเจ้าถูกพวกท่านประณามอย่างรุนแรง ทำให้ข้าพเจ้าต้องเสื่อมเสียศักดิ์ศรีและหมดความยิ่งใหญ่ไปมาก ดังนั้น ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในบ้านของเราจะใช้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการเหมือนเช่นเดิม คืออำนาจสูงสุดเป็นของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว ใครจะทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างไรข้าพเจ้าไม่รับรู้ ใครอยู่ได้ก็อยู่ไป ใครอยู่ไม่ได้ก็ย้ายไป เล่นด่าข้าบ่อยๆ อย่างนี้ข้าฟังไม่ได้โว้ย ไฮปาร์กตะหวักตะบวยเลิกล้มกันที แต่ไหนๆ ข้าก็สั่งให้เลิกแล้ว ใครมีอะไรจะพูดกับข้าก็ว่ามา ถึงแม้จะล่วงเกินข้าบ้าง ข้าก็จะอภัยให้”

ด้วยเหตุนี้ “เจ้าแห้ว” คนรับใช้จอมยียวนจึงได้โอกาสกล่าวสรุป “ประชาธิปไตย” ฉบับคุณหญิงวาดว่า

Advertisement

“รับประทานกระผมขอยืมคำพูดของคุณควง อดีตนายกมาพูดสักหน่อย ประชาธิปไตยของคุณหญิงเหมือนกับว่าคุณหญิงขังพวกเราไว้ในโอ่ง รับประทานคุณหญิงนั่งทับฝาโอ่งไว้… รับประทานคุณหญิงกลัวพวกเราหายใจไม่ออก ก็ลุกขึ้นมาจากฝาโอ่ง แล้วเปิดโอ่งออกให้พวกเราขึ้นมาหายใจ รับประทาน แล้วคุณหญิงก็ปิดฝาโอ่งกระโดดขึ้นไปนั่งบนโอ่งตามเดิม รับประทานนี่แหละครับ สถาบันไฮด์ปาร์ก ประชาธิปไตยจอมปลอม”

ได้ฟังเช่นนั้น คุณหญิงวาดหัวเราะงอหายกล่าวสำทับว่า “เออ… เอ็งจะทำไมข้า ข้ามีอำนาจ ข้าจะทำยังไงก็ได้”

ก็เป็นอันจบกันไป สำหรับ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ของบ้านพัชราภรณ์

“ประชาธิปไตยใต้ฝาโอ่ง” ทำให้ระลึกไปถึงถ้อยความฮือฮาจากบุคคลในคณะผู้ปกครองเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “ประเทศไทยนั้นเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่ไม่มีการเลือกตั้งเท่านั้น”

หากกล่าวอย่างยอมรับความจริง ก็มีคนจำนวนหนึ่งในสังคม ที่เห็นด้วยหรือรู้สึกตามคำพูดดังกล่าว เช่นที่เคยปรากฏข้อวิวาทเล็กๆ ในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ เมื่อมีการเผยแพร่แบบฝึกหัดวิชาสังคมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ตั้งคำถามว่า “ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอะไร” ซึ่งเป็นที่ฮือฮาก็เพราะคุณครูเฉลยออกมาว่า คำตอบที่นักเรียนตอบมาว่าระบอบ “ประชาธิปไตย” นั้นผิด เพราะคำตอบที่ถูกต้องคือระบอบ “เผด็จการ” แต่ก็มีผู้อุตส่าห์เข้าไปโต้แย้งถึงด่าทอคุณครู ทั้งด้วยความรู้สึกที่ว่า นี่จะเป็นการปกครองแบบเผด็จการได้อย่างไร ในเมื่อเราทั้งหลายก็ยังรู้สึกว่ามีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ (อย่างน้อยก็มีเสรีภาพพอที่จะเรียกว่าการปกครองแบบนี้ว่าเป็น “เผด็จการ” ได้ก็แล้วกัน) หรือบางคนก็ยอมรับโต้งๆ นั่นแหละว่า ก็เผด็จการนั่นแหละ แต่แล้วอย่างไร มีใครเดือดร้อนบ้าง

ก็ในเมื่อเราก็ยังเดินทางไปไหนมาไหนได้เสรี อยากไปต่างประเทศก็ได้ ธุรกิจการงานก็ยังต้องมีต้องทำเหมือนเดิมไม่ได้ถูกรัฐบาลเกณฑ์แรงงานไปทำเหมือง อินเตอร์เน็ตก็ยังใช้ได้ตามปกติหมดทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ พันทิป หนังละครซีรีส์ก็ยังมีอยู่ครบทุกเรื่องให้ติดตามกันเป็นซีซันส์ ฟุตบอลต่างประเทศก็มีให้ชมทุกลีกทุกนัดจนดูกันไม่ทัน

หรือสำคัญที่สุด การใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองก็ยังเห็นมีกันได้ พวกต่อต้านเสียดสีรัฐบาลในโซเชียลมีเดียก็ยังมีให้เห็น หรืออย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง ใครสักคนมาบอกว่า “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” ตามแนวทางของ คสช. นั้นเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติไปอีก 20 ปี ก็เห็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกมาบอกว่า เป็นการ “ติเพื่อก่อ” อยู่เลย

แล้วเช่นนี้จะเรียกว่า เราอยู่ในการปกครองระบอบ “เผด็จการ” ไปได้อย่างไร และหากการปกครองแบบประชาธิปไตย คือการปกครองโดยความเห็นชอบของประชาชน อย่างนี้ก็ถือได้หรือไม่ ว่ารัฐบาลและผู้ทรงอำนาจในขณะนี้ ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่าน “ฉันทานุมัติ” คือความยินยอมให้พวกท่านๆ ปกครองประเทศไปอย่างดี โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อต้านในจำนวนที่มีนัยสำคัญ

ฟังเหตุผลแบบนี้แล้วก็เกือบเชื่ออยู่เหมือนกัน ว่าเราสามารถมี “ประชาธิปไตย” ที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังให้การรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอยู่ได้จริงๆ

เมื่อได้เห็นผู้ให้เหตุผลถึงความเป็น “ประชาธิปไตย” ที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง หรือแม้แต่อาจจะยอมรับว่าไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร ก็ให้นึกถึงเรื่อง “ประชาธิปไตยใต้ฝาโอ่ง” ในเรื่องสามเกลอตอนที่กล่าวมา และรู้สึกว่า “คนที่นั่งอยู่บนโอ่ง” แห่งยุคสมัยนี้ เขาเลือกบริหารการปิดเปิดฝาโอ่งได้อย่างชาญฉลาดเพียงไร

นั่นคือ พวกเราล้วนถูกขังอยู่ใต้โอ่งขนาดยักษ์ มีใครสักคนนั่งทับอยู่บนโอ่ง และคอยเลือกที่จะเปิดปิดฝาโอ่งเมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้

โดยที่คนนั่งบนนั้นเขารู้ดีเท่าๆ กับเราว่า หากเขาปิดฝาโอ่งเสียทั้งหมด จนคนที่อยู่ใต้โอ่งนั้นขาดอากาศหายใจและแสงสว่างแล้ว ถ้าไม่ตายกันหมด ผู้คนที่ถูกขังในโอ่งก็อาจจะพังทั้งโอ่งและฝานั้นออกมาเพื่อหาแสงสว่างและอากาศหายใจ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่อาจสุขสบายอยู่บนฝาโอ่งได้

แต่ถ้าเปิดฝาโอ่งทั้งหมด พวกเขาก็คงอดจะรำคาญเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ ตั้งคำถามถึงความมีอยู่ของโอ่ง และความชอบธรรมของการที่ใครสักคนไปนั่งอยู่บนฝาโอ่งเหนือคนอื่นเสียไม่ได้

ดังนั้น เขาฉลาดพอที่จะไม่ปิดฝาโอ่งทั้งหมด โดยเลือกเปิดไว้เพียงบางส่วน โดยเลือกเปิดไว้ในส่วนที่กว้างที่สุด สว่างที่สุด มีอากาศหายใจมากที่สุด เพื่อให้คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้สึกว่าอยู่ในโอ่ง ยังคงหายใจได้ มีแสงสว่าง มองออกไปยังโลกภายนอกได้ หากอยู่ในเงื่อนไขขอบเขตของแสงสว่างและอากาศหายใจเท่าที่เขาอนุญาตไว้

อย่าเดินเข้ามาในส่วนที่เป็น “มุมมืด” ของฝาโอ่ง มุมที่มีแสงสว่างและอากาศหายใจอย่างจำกัดจำเขี่ย ก็จะแทบไม่รู้สึกถึงความผิดปกติอันใดเลย รวมถึงไม่รู้ด้วยว่า ยังมีผู้คนที่ถูกกักกันไว้ในเงามืดเช่นนั้นแค่มากไหน นานเพียงไร

และที่สำคัญ คือเขาเลือกให้แสงสว่างและอากาศเช่นนั้น กับคนพวกที่ “เสียงดัง” ที่สุดในโอ่ง เพื่อให้คนเหล่านั้นอยู่กันได้แบบไม่ส่งเสียงหืออืออะไร มีความสุขกับแสงสว่างและอากาศเต็มที่ และพอใจจนถึงขนาดห้ามปรามไม่ให้คนที่อยู่ภายใต้เงามืดอันไร้อากาศหายใจนั้นทุบฝาโอ่งหรือส่งเสียงรบกวนท่านๆ ที่นั่งอยู่บนฝาโอ่งนั้นด้วย

กล่าวอย่างไม่อุปมา สิ่งเทียมประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ ก็ให้สิทธิและเสรีภาพในแทบทุกเรื่อง แต่ก็ให้อยู่ในขอบเขตอันเพียงพอที่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกตัวว่าถูกจำกัด

“ฝาโอ่ง” เปิดไว้กว้างพอที่เราจะสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้เสรีในการไปกดไลค์หรือโพสต์รูปแมวหมา ลูกเต้า ธรรมะ คำคม หรือเนื้อหาสังคมการเมืองในระดับจิกกัดแค่พอขำๆ แต่ถ้าข้ามเขตเข้ามาในเรื่องที่เขาห้ามเมื่อไหร่ ก็เตรียมตัวเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีความมั่นคง หรือคดีที่ร้ายแรงกว่านั้น ปัญหาที่สำคัญก็คือ เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้ชัดเจนนัก ว่าอันไหนที่เขาจะเห็นเป็นเรื่องขำๆ

เปิดไว้กว้างพอที่เราจะเลือกดูหนังดูซีรีส์อะไรก็ได้ ยกเว้นแต่ภาพยนตร์ที่พูดถึงประเด็นบางเรื่องอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ห้ามกล่าวถึง หรือศีลธรรมอันดีที่คนบางกลุ่มกำหนดเอาไว้

และอาจจะวิจารณ์นโยบายทางการเมืองได้ในบางเรื่อง โดยอาจจะต้องตรวจสอบประวัติของตัวคุณเองเสียหน่อยเป็นใคร เป็นพันธมิตรที่พูดแล้วเขาจะมองว่านี่เป็นเรื่อง “ติเพื่อก่อ” หรือปรปักษ์ผู้มุ่งร้ายต่อความมั่นคงของ “ชาติบ้านเมือง”
คุณอาจจะเข้าชื่อกันใน Change.org เพื่อคัดค้านกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐที่ไม่เห็นด้วยก็ได้ ที่แม้ว่าเข้าชื่อกันเป็นล้านเขาก็ไม่ฟังคุณ ถ้าเขาจะออกกฎหมายเช่นนั้น หรือดำเนินนโยบายเช่นนั้นเสียอย่าง แต่แล้วพวกเราก็พอใจที่จะได้ใช้สิทธิต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยก็พอแล้ว

ตราบใดที่เขายังฉลาดพอที่จะไม่ “ปิดฝาโอ่ง” เสียมิดมืดอึดอัดเกินไป จนคนส่วนใหญ่ ส่วนที่ส่งเสียงดังที่สุดจะรู้สึกมองอะไรไม่เห็น หรือหายใจไม่ออก จนช่วยกันทุบฝาโอ่งหรือลุกมายืนขึ้นพร้อมๆ กันแล้ว ก็เชื่อได้ว่า เขาสามารถที่จะนั่งอยู่บนฝาโอ่งเช่นนี้ได้อย่าว่าแต่สิบยี่สิบปีเลย นานกว่านั้นก็ได้

โดยที่จะมีคนส่วนหนึ่งพอใจที่จะได้อาศัยอยู่ในโอ่ง แถมยังห้ามคนอื่นเคาะฝาโอ่งด้วย เพียงเพราะตัวเองยังมีแสงสว่างมองอะไรเห็น และหายใจได้อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image