ประเทศไทยกับภัยหนาว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

จากการติดตามข่าวบนหน้าสื่อต่างๆ จะพบว่าเริ่มมีการพูดถึง “ภัยหนาว” กันมากขึ้น

จะว่าไปแล้ว ข่าวหน้าหนาวในบ้านเรานั้นประกอบด้วยข่าวสองแบบ คือข่าว “หน้าหนาวมาแล้ว” และข่าว “ภัยหนาว

ข่าวหน้าหนาวมาแล้ว” ดูจะได้รับความสนใจจากคนในเมืองมากเป็นพิเศษ เป็นข่าวเชิงบวก สนใจว่าแม่คะนิ้งมาเมื่อไหร่ ตรงไหนหนาวบ้าง จะได้เตรียมตัวใส่เสื้อหนาว ลางานหรือพาครอบครัวไปเที่ยวถ่ายรูปสวยๆ และพักผ่อนหย่อนใจ

ส่วน “ข่าวภัยหนาว” นั้น มักจะประกอบด้วยข่าวสองสามข่าว ได้แก่ หนึ่งข่าวการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติของจังหวัดต่างๆ เราจะได้รับทราบถึงจำนวนพื้นที่ บ้านเรือน และประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ค่อยรู้กันว่าเกณฑ์คำจำกัดความของภัยหนาวนั้นคืออะไรกันแน่ (อย่าลืมว่าอากาศหนาวกับภัยหนาวไม่เหมือนกัน อากาศหนาว กรมอุตุฯประกาศเมื่อ 23 ตุลาคมว่าเข้าฤดูหนาว)

Advertisement

สอง ข่าวตัวภัยหนาวเองนั้นคือข่าวการตายของประชาชนที่ “หนาวตาย” ซึ่งในการบรรยายข่าวก็มักจะเป็นบรรดาคนชรา ข่าวโรคภัยไข้เจ็บที่มากับความหนาว ทั้งคนและสัตว์ รวมไปถึงโรคระบาดต่างๆ

สาม ข่าวการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ นั่นก็คือ ข่าวการแจกผ้าห่มของทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทห้างร้านเอกชน ซึ่งทำกิจกรรมสงเคราะห์และซีเอสอาร์ อย่างไรก็ดี เราไม่เคยตั้งคำถามกับการแจกผ้าห่มว่าเพียงพอไหม แจกซ้ำไหม ผ้าห่มเก่าไปไหน ผ้าห่มมีคุณภาพเพียงพอไหม (เกณฑ์กระทรวงการคลังให้ไว้ที่ 240 บาทต่อหัว)

ผมขอเสนอแบบสุดโต่งไปเลยว่า เท่าที่ติดตามข่าวคราวภัยหนาวเมืองไทยมาหลายปี ผมพบข้อสรุปว่า “ประเทศไทยไม่มีภัยหนาว” หรือถ้าจะว่ามีก็มีน้อยกว่าที่ตัวเลขกระทรวงมหาดไทยประกาศ

Advertisement

อ้าว แล้วการประกาศภัยหนาวและกิจกรรมต่างๆ ที่แก้ปัญหาภัยหนาวมันคืออะไร?

ขอตอบว่า สิ่งที่เรียกว่าภัยหนาวในสังคมไทยนั้นมันคือการปรากฏตัวของปัญหาความเปราะบางของความยากจนในพื้นที่ บวกกับวิธีมองและแก้ปัญหาของระบบราชการ บวกกับลักษณะสังคมแบบสังคมสงเคราะห์ของคนเมืองและเอกชนนั่นแหละครับ

พูดให้กระชับและตรงประเด็นที่สุด สิ่งที่เราเห็นจากข่าวภัยหนาวนั้นคือ ความเปราะบางของผู้คนที่ยากจนในพื้นที่ เราไม่ค่อยเห็นภาพคนรวยในพื้นที่มีปัญหาเรื่องภัยหนาว แทบจะไม่เห็นข่าวคนรวยตายด้วยภัยหนาวมากนัก เว้นแต่เรื่องอุบัติเหตุที่อาจจะเกี่ยวข้องกับภัยหนาว เช่นหมอกที่ทางหลวง

ลองดูคำจำกัดความของภัยหนาวจากราชการบ้าง จากเว็บไซต์ของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จะพบเอกสารที่อ้างอิงถึง “การป้องกันและบรรเทาภัยจากอากาศหนาว” ซึ่งให้นิยามศัพท์ว่า ภัยหนาวหมายถึง “ภัยที่เกิดจากสภาพอากาศที่มีความหนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และลดลงต่อเนื่องจนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง มักเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย” (www.rtrc.in.th/ewt_dl.php?nid=1617 ) ซึ่งในวันนี้แม้จะมีการเปลี่ยนเกณฑ์ในการแจกของเป็น 8 องศาเซลเซียส แทนที่ 15 องศาเซลเซียส แต่ข้อมูลในเว็บต่างๆ ก็ยังอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียสอยู่มาก จนทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า ตกลงประกาศพื้นที่ที่ 15 แต่แจกตามระเบียบที่ 8 หรือถ้าเกิดต่ำกว่า 15 แต่ยังไม่ถึง 8 แต่ชาวบ้านเดือดร้อนจะทำอย่างไร หรือการประกาศภัยหนาวนั้นยังอยู่ที่ 15 แต่จะแจกของได้ตามระเบียบต้องอยู่ที่ 8 ซึ่งถ้าเช็กอุณหภูมิจากกรมอุตุฯในวันนี้เอาเข้าจริงอุณหภูมิของแต่ละภาคยังไม่ถึงเกณฑ์แจกของเสียเป็นส่วนใหญ่

ในเอกสารฉบับดังกล่าวยังอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติในการรับสถานการณ์ภัยจากอากาศหนาวของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งโดยภาพรวมสามารถสรุปได้ว่า เป็นเรื่องของการประเมินความเสี่ยง การจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ การเสริมสร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน เกี่ยวกับการป้องกันและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยจากอากาศหนาว การรับบริจาค การแจกจ่ายสิ่งของ การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลกรณีมีผู้เสียชีวิต การสำรวจความเสียหาย การออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟู รวมทั้งการศึกษาผลกระทบ

เอกสารจากสภากาชาดไทยดูสอดคล้องไปกับแนวทางในหนังสือราชการด่วนที่สุดของกองบัญชาการป้องกันสาธารณภัยแห่งชาติที่ส่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปี 2558 นั้น ความน่าสนใจอยู่ที่ส่วนหนึ่งของคำสั่งนั้นเขียนไว้อย่างชัดเจนในส่วนการเตรียมความพร้อมว่า ให้มีการสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนชรา คนพิการ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ด้อยโอกาส (ฐานะยากจน) โดยระบุจำนวนประชากรแยกรายครัวเรือนแต่ละอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านที่ประสบภัยหนาว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อจัดเตรียมเครื่องกันหนาวโดยให้จัดลำดับความสำคัญและความต้องการของพื้นที่

ในแบบฟอร์มท้ายคำสั่ง (แบบรายงานสถานการณ์ภัยหนาวประจำวันของจังหวัด) มีประเด็นน่าสนใจตรงที่ช่องของการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มเป้าหมายที่ได้ระบุไปแล้วนั้น มีอยู่สี่ช่องย่อย นั่นก็คือ ผ้าห่ม/ผ้านวม เสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม และอื่นๆ ซึ่งอธิบายโดยสรุปก็คือ ประเด็นใหญ่ของการบริหารจัดการภัยหนาวจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของ “การแจกอุปกรณ์กันหนาว

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ประเด็นว่าประเทศไทยไม่มีภัยหนาวกันอีกสักรอบ ประเด็นก็คือ ถ้าอุณหภูมิแค่ต่ำกว่า 15 หรือ 8 องศาเซลเซียสเนี่ย เรียกว่าภัยหนาว เมืองหลายเมืองในโลกคงไม่ใช่เมืองน่าเที่ยว หรือถ้ากรุงเทพฯมีอุณหภูมิสัก 8 หรือ 15 องศา เราก็จะได้เห็นความชัดเจนดังเมื่อสองสามปีก่อน ก็คือเห็นบรรดาคนยากจนและเปราะบางออกมาผิงไฟที่ถนน แต่คนส่วนใหญ่ดูจะอยู่ได้ในอากาศขนาดนั้น

แฟ้มภาพมติชนออนไลน์

เรื่องที่น่าสนใจต่อมาก็คือ มีกรณีโวยวายกันเมื่อหลายปีก่อนที่กระทรวงการคลังออกระเบียบปรับเกณฑ์ภัยหนาวในเรื่องของการแจกผ้าห่ม เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2558 โดยได้ออกประกาศการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ข้อ 5.1.14 กรณีภัยหนาว เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะอากาศในช่วงฤดูหนาวตามที่กรมอุตุนิยมวิทยากำหนด โดยปรับจากกรณีอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรได้เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 240 บาท จังหวัดละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นกรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรได้เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 240 บาท จังหวัดละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผลตั้งแต่
วันที่ 1 ธ.ค.2558 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้เกิดการโวยวายจากผู้บริหารท้องถิ่นว่า 15 องศาฯก็หนาวพอที่จะทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยแล้ว (ข่าวสด 15 ธันวาคม 2558)

ถ้าลองไปค้นเว็บไซต์เตือนภัยในสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง เมื่อเขาพูดถึงภัยหนาวนั้น เขาหมายถึงกรณีของพายุหิมะ ซึ่งจะมีผลต่อการคมนาคมขนส่ง พูดถึงผลผลิตที่เสียหายจาก “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (climate change) พูดถึงการจะต้องมีการจัดการบ้านเรือนที่มีมาตรฐานในการมีฉนวนป้องกันความหนาวและมีเครื่องให้ความอบอุ่น

พูดง่ายๆ คือ ทั้งจนทั้งรวยเจอภัยหนาว แต่เมืองไทยน่าจะพูดได้เลยว่าภัยหนาวเป็นของคนจน และในอุณหภูมิที่เท่ากันนั้น หรือความหนาวเดียวกันนั้นเป็นวิกฤตของคนจน แต่เป็นโอกาสของคนรวยในการท่องเที่ยวและบริจาคเสื้อหนาวและแจกผ้าห่ม (อาจจะเว้นเรื่องหมอกลงและโรคภัยที่กระทบต่อสัตว์ไว้สักหน่อย ส่วนโรคภัยที่เกิดจากคน จากข่าวต่างๆ ก็จะเห็นว่าเป็นปัญหาของชาวบ้านที่ยากจนเสียมากกว่า)

สังคมและประเทศชาติที่ประกาศภัยหนาวแบบบ้านเราคงจะต้องสะท้อนอะไรอีกหลายอย่างเลยครับ อย่างน้อยมันสะท้อนว่า การไม่มีเครื่องกันหนาวในระดับของเครื่องนุ่งห่มนี่มันเป็นพื้นฐานที่คนจะต้องมีในฐานะสิ่งจำเป็นพื้นฐาน และมันสะท้อนถึงการไม่คิดอะไรในมาตรการของระบบราชการที่จะมองและจัดการปัญหาเชิงรุกมากไปกว่าการจัดทำฐานข้อมูลและแจกเครื่องกันหนาว

ลองคิดง่ายๆ ว่า การประกาศพื้นฐานประสบภัยหนาวในทุกๆ ปีมันควรจะเริ่มเห็นแบบแผนของพื้นที่ที่หนาวกว่าพื้นที่อื่น และเมื่อมีพื้นที่ที่ชัดเจนเช่นนี้ก็ควรจะเริ่มพิจารณามาตรฐานของการก่อสร้างบ้านเรือนในพื้นที่เหล่านั้นให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อพูดเช่นนี้ก็อาจจะถูกวิจารณ์ได้ว่า อ้าว…ชาวบ้านจะไปมีปัญญาอะไรในการสร้างบ้านเรือนที่จะพ้นภัยหนาว

แต่การตระหนักถึงการแก้ปัญหาภัยหนาวที่มากกว่าการแจกเครื่องกันหนาวมันสะท้อนให้เห็นวิธีคิดใหม่ว่า ความยากจนนั้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความเปราะบาง และคนที่เปราะบางมากก็จะเผชิญกับภัยหนาวมากกว่า ดังนั้นมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในพื้นที่นั้นก็คงจะต้องเปลี่ยนแปลงไป วิธีคิดเรื่องโครงการพัฒนาก็ควรจะต้องพัฒนาไปมากกว่าเรื่องของการมีแต่ถนนและอ่างเก็บน้ำ

อาคารราชการและโรงเรียนอาจจะต้องมีมาตรฐานที่กันหนาวได้มากหน่อยถ้าเทียบกับของชาวบ้าน ในกรณีที่เราไม่เชื่อว่าจะสามารถตั้งมาตรฐานบ้านเรือนของชาวบ้านที่จะกันอากาศหนาว (หรืออย่างน้อยมีการให้ข้อมูลว่ามาตรฐานการก่อสร้างในระดับไหนที่จะป้องกันอากาศหนาวกว่า 15 องศาได้) และอาคารสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่ควรจะสามารถเปิดรับผู้ที่เผชิญความหนาวในพื้นที่เหล่านั้นเป็นขั้นต่ำ

การพิจารณาเรื่องของภัยหนาวควบคู่ไปกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเรื่องของความยากจนนั้น ทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ มากไปกว่าเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นหมายถึงการแจกถุงผ้าไว้ช้อปปิ้งในนามของโลกร้อน ทั้งที่ในเมืองไทยนั้นปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราไม่ค่อยสนใจกันก็คือภัยหนาวของคนจน (แต่เป็นอากาศหนาวน่าเที่ยวของคนรวย)

หมายความว่าหากนำเอาภัยหนาวหรือที่เรียกว่าอากาศหนาวกว่า 8 หรือ 15 องศา มาพิจารณาในกรอบของประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความยากจน เราจะเห็นความเป็นไปได้มากมายที่ทำให้เราคิด และมีนโยบาย และยุทธศาสตร์ รวมทั้งมีความละเอียดอ่อนซึมซับ (sensitivity) กับประเด็นในพื้นที่มากขึ้นกว่าการทำแผนที่และการแจกอุปกรณ์กันหนาว มาสู่เรื่องของการปรับตัว (adaptation) ของทั้งประชาชน ชุมชน ระบบราชการในพื้นที่ ระบบการปกครองท้องถิ่น

ในความเปราะบางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่คนจนมีนั้น เขาไม่ได้ขาดแคลนแต่เครื่องกันหนาว เขาอาจจะขาดแคลนเครื่องมือและการเข้าถึงเรื่องการเงิน เรื่องของการได้รับความสนใจจากรัฐและสังคม และการขาดแคลนเครื่องมือทางการเมืองที่ทำให้เขาสามารถเปล่งเสียง และแก้ปัญหาในเรื่องของความเปราะบางของพวกเขา ซึ่งอากาศหนาวกว่า 15 หรือ 8 องศาจึงกลายเป็นภัยหนาวของพวกเขา ที่ทำให้พวกเขาต้องรอรับความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกชุมชนของเขา เพราะเขาหนาวด้วยว่าไม่มีอะไรปกป้องเขา ไม่ใช่หนาวเฉยๆ

หวังว่าสิ่งที่เราเรียกว่าภัยหนาว ข่าวภัยหนาว และการแก้ปัญหาภัยหนาวในปีนี้จะทำให้เราย้อนคิดกันอีกครั้งว่าภัยที่ใหญ่กว่าภัยหนาวนั่นก็คือภัยของความยากจนและหาหนทางแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาว

เพราะสำหรับหลายคนแล้ว ภัยจากความยากจนทั้งทางเศรษฐกิจและทางอำนาจนั้น “หนาวกว่า” สิ่งที่เราเรียกกันว่า “ภัยหนาว” มากนัก

(เอกสารอ่านเพิ่มเติม OECD. Poverty and Climate Change: Reducing the Vulnerability of the Poor through Adaptation. และ USAID Asia. 2010. Asia-Pacific Regional Climate Change Adaptation Assessment. Final Report: Findings and Recommendations. และ ศิริรักษ์ สิงหเสม. 2559. มุมมองที่หายไปจากการบริหารจัดการปัญหาภัยหนาวของรัฐไทย. มติชน. 22 ก.พ. หน้า 21)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image